MU และ C.1.2 คือศัตรูที่รอ อยู่ในแนวรบโควิด-19 ใหม่


เพิ่มเพื่อน    

ยังไม่ทันที่เราจะจัดการกับสายพันธุ์ Delta ได้ ก็เริ่มมีศัตรูตัวใหม่ปรากฏขึ้นแล้วอย่างน้อย 2 ตัว

            ตัวแรกคือ C.1.2 ที่พบครั้งแรกที่แอฟริกา และล่าสุดองค์การอนามัยโลกบอกว่า สายพันธุ์ B.1.621 หรือ MU คือการกลายพันธุ์ของไวรัสตัวนี้ที่เข้าข่าย “สายพันธุ์ที่ต้องจับตา”

            เรียกทั้งสองตัวนี้ว่าเป็น “Variant of Interest” ยังไม่เข้าขั้น “Variant of Concern” หรือสายพันธุ์อันน่ากังวล

            สายพันธุ์ MU ที่ว่านี้ มีคุณสมบัติที่สามารถหลบเลี่ยงภูมิต้านทาน

            นั่นแปลว่า วัคซีนที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้อาจจะ “เอาไม่อยู่” ถ้าหากวิวัฒนาการของมันเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง

            พบ MU ครั้งแรกที่โคลอมเบียในอเมริกาใต้เมื่อเดือนมกราคมปีนี้  และช่วงหลังพบว่าไประบาดที่ภูมิภาคลาตินอเมริกาและยุโรปบางประเทศแล้ว

            กรมควบคุมโรคของเราเพิ่งบอกเล่าถึงการพบสายพันธุ์ C.1.2  เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง

            กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า มีการสุ่มตรวจหาสายพันธุ์สัปดาห์ละ 500 ตัวอย่าง

            สำนักข่าวต่างประเทศเริ่มจะให้ความสำคัญกับสายพันธุ์ใหม่นี้  เพราะพบในหลายประเทศ รวมทั้งจีนและอังกฤษ หลังพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้

            นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค บอกนักข่าวว่า โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ และทุกประเทศได้เฝ้าระวังเป็นอย่างดี

            ท่านบอกว่าแม้จะยังไม่มีการตรวจพบ COVID-19 สายพันธุ์  C.1.2 ในไทย แต่ก็ขอให้มั่นใจระบบเฝ้าระวังที่มีการตรวจพันธุกรรมของสายพันธุ์

            ในการตรวจอาทิตย์ละ 500 ตัวอย่างนั้น เมื่อพบสายพันธุ์ใหม่จากประเทศไหนก็จะตรวจหาในผู้ที่เดินทางมาจากประเทศนั้น

            เพราะต้องสกัดไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศให้ได้

            คำถามใหญ่คือ สายพันธุ์ใหม่นี้มีอิทธิฤทธิ์ร้ายแรงกว่า Delta  หรือไม่อย่างไร

            นพ.เฉวตสรรบอกว่า สายพันธุ์ที่พบในไทยส่วนใหญ่เป็น Delta  วันนี้ 92-93% ในจำนวนตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

            สำหรับสายพันธุ์ C.1.2 นั้นยังเร็วเกินไปที่จะให้ข้อสังเกตว่า มีการแพร่ระบาดเร็วขึ้นหรือไม่ ความรุนแรงของโรคมากขึ้นหรือไม่ ดื้อต่อการรักษาและดื้อต่อวัคซีนป้องกัน COVID-19 หรือไม่

            ยังอยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์และระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ทั่วโลก

            ข่าวนี้กลายเป็นประเด็นร้อน เพราะสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติของแอฟริกาใต้ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า พบเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกเรียกว่า C.1.2

            พบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมในแอฟริกาใต้

            ถึงวันนี้ได้แพร่ระบาดไปในอย่างน้อย 7 ประเทศในแอฟริกา, เอเชีย, ยุโรป และโอเชียเนีย

            ผู้รู้บอกว่าเชื้อไวรัส C.1.2 มีลักษณะคล้ายกับเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ชนิดอื่น

            ข้อมูลเบื้องต้นชี้ไปว่า มันสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิมและทำลายภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย

            แต่ผลการศึกษาที่ว่านี้ยังไม่ได้ตีพิมพ์และยังไม่ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์รายอื่น

            ถึงวันนี้เชื้อไวรัส C.1.2 ก็ยังไม่ถูกจัดว่าเป็น "สายพันธุ์ที่ถูกเพ่งเล็ง" หรือ "สายพันธุ์ที่น่ากังวล" ภายใต้คำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก

            นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ใส่ใจกับการพบสายพันธุ์นี้ในบางประเทศ เพราะแม้กับ Delta เราก็ยังต้องดิ้นรนหาทางให้ได้วัคซีนยี่ห้อต่างๆ ให้มีจำนวนพอเพียงและมาถึงในเวลาที่ทันการณ์

            อีกทั้งยังมีคำถามใหญ่ว่า วัคซีนยี่ห้อทั้งหลายที่ใช้กันทั่วโลกวันนี้มีประสิทธิผลพอที่จะยับยั้งการแพร่กระจายของ Delta ได้มากน้อยเพียงใด

            และจะต้องให้ประชากรของเราได้วัคซีนกี่เปอร์เซ็นต์จึงจะถือว่ามี  “ภูมิคุ้นกันหมู่” หรือ herd immunity อันพึงปรารถนากันแน่

            ทั้งหมดนี้ยังเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

            เพราะแม้จะมี “วัคซีนฉีดเต็มแขน” อย่างที่รัฐมนตรีสาธารณสุขยืนยันตอกย้ำอีกครั้ง กับการชี้แจงในสภาวันอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรกนั้น  ก็ไม่ได้แปลว่าเราอยู่ในสถานะที่จะประกาศว่าสามารถป้องกันการแพร่เชื้อ Delta ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับที่เพียงพอ

            ยิ่งถ้าหากสายพันธุ์ใหม่ทำท่าว่าจะ “น่ากลัว” กว่า Delta ก็ยิ่งมีคำถามว่า เรามีแผนเตรียมพร้อมและตั้งรับด้วยความมั่นใจเพียงใด

            สงครามนี้ยืดเยื้อแน่ การสั่งสมอาวุธในทุกรูปแบบและระดมความศรัทธาต่อรัฐบาลจึงเป็นหัวใจของความอยู่รอดของประเทศชาติ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"