'รังสิมันต์' สาวไส้ 'ชัยวุฒิ' รับงานเอกชนล้มคดีไทยคม แฉสัมพันธ์แน่นกลุ่มทุน


เพิ่มเพื่อน    

3 ก.ย.64 - จากนั้นเวลา 15.07 น. นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กรณีข้อพิพาทระหว่างดีอีเอสกับบริษัทไทยคม 3 คดี โดยระบุว่า ตั้งแต่นายชัยวุฒิเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ทางกระทรวงได้ทำเรื่องขอเปลี่ยนตัวอนุญาโตตุลาการทั้ง 3 คดี จากเดิมที่แต่งตั้งอนุญาโตฯ คดีละ 1 คน เปลี่ยนใหม่เป็นให้ใช้อนุญาโตฯเพียงคนเดียวทั้ง 3 คดี โดยอ้างว่าทั้ง 3 คดี เป็นเรื่องเดียวกัน คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับดาวเทียม

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ กำหนดว่าจะคัดค้านตัวอนุญาโตได้ ก็ต่อเมื่ออีกฝั่งเป็นผู้คัดค้าน แต่พบว่าหนังสือที่ทางกระทรวงขอเปลี่ยนตัวนั้น พบว่าฝ่ายกระทรวงกำลังทำผิดกฎหมาย เพราะคัดค้านอนุญาโตฯของตัวเอง อย่างไรก็ตาม อนุญาโตฯรายดังกล่าวที่ถูกเปลี่ยนตัวได้ทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังกระทรวงว่าผิดอะไร ทางกระทรวงทำหนังสือตอบกลับว่าอนุญาโตฯมีความเหมาะสม จากนั้น อนุญาโตฯรายเดียวกันได้ทำหนังสือตอบกลับอีกครั้งว่า การเปลี่ยนตัวให้ใช้อนุญาโตฯเพียงคนเดียวกันสู้คดี แม้เกิดจากสัญญาสัมปทานเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เกี่ยวกันแต่อย่างไร และอีกสองคดี มีแนวโน้มไม่ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติราชการตามปกติ จึงไม่ขอเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า กระทั่งที่ท้ายสุด ได้ให้นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด มาเป็นอนุญาโตฯ ซึ่งตนคิดว่าเป็นการวางยาและส่งผลร้ายในบ้านปลาย กระทรวงอาจถูกไทยคมฟ้องเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง โดยอ้างว่ากระทรวงมีเจตนาไม่สุจริต ที่ตั้งคนที่ตนรู้อยู่แก่ใจว่าไม่เป็นกลาง มาเป็นอนุญาโตฯ ทั้งนี้ การตั้งอนุญาโตฯอาจมาจากพนักงานอัยการได้ แต่ต้องไม่ได้อยู่ในสายบังคับบัญชาที่ให้คุณให้โทษแก่กันได้ นี่ยังไม่นับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอัยการสูงสุดที่น่าสนใจ เช่น มีการรายงานข่าวว่าไม่สั่งฟ้องทายาทเศรษฐีขับรถชนคนตาย ไม่สั่งฟ้องคดีค้ามนุษย์อาบอบนวด ไม่สั่งฟ้องฟอกเงินซื้อขายที่ดิน

“อยากถามว่าการที่รัฐมนตรีเลือกอสส. มาช่วยเรื่องความเชื่อมั่นให้สังคม หรือให้ใครกันแน่ อย่าลืมว่าตั้งอัยการสูงสุดสู้ทั้ง 3 คดี มันคือการสร้างความย่อยยับให้กับทุกคดีไปพร้อมกัน นายชัยวุฒิเล็งเห็นถึงเรื่องนี้หรือไม่ ต่อมาอัยการสูงสุด ที่ตั้งท่าพร้อม ขอถอนตัวแบบไม่ทราบว่ามีสาเหตุอะไร และต่อมาปรากฏว่าได้ตั้งเลขานุการของอสส.แทน แต่น่าแปลก เพราะก่อนหน้านี้เลขานุการรายดังกล่าวเคยถอนตัวไปแล้วรอบหนึ่ง แต่ที่สุดแล้วทางกระทรวงไม่เอาด้วย และได้แต่งตั้งคนใหม่ นี่คือการวางยาโดสแรกในกระบวนการพิจารณา” นายรังสิมันต์ กล่าว

การวางยาโดสสอง คือ อัยการสูงสุดได้แต่งตั้งนางพฤฒิพร เนติโพธิ์ อดีตอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายกระทรวงฯ ของทั้ง 2 คดีที่เหลือ โดยที่กระทรวงดิจิทัลฯ รับทราบและนำเข้าเวทีพิจารณาคดีเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ตาม พบว่า นางพฤฒิพร เคยตามรอยรุ่นพี่ไปเรียนหลักสูตร นธป.7 ปี62 อยู่ร่วมรุ่นกับประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการบริษัทไทยคมฯ และพรทิพา ชินเวชกิจวานิชย์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ปัจจุบันเข้าถือหุ้นจำนวนมากในไทยคมฯ ที่เป็นลูกหม้อที่ทำงานในบริษัทนั้นมาตั้งแต่ปี 2538

หลังฝ่ายไทยคมฯ ยื่นฟ้องคดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 อัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานดำเนินคดีขึ้นมา โดยหนึ่งในนั้นคือนางพฤฒิพร ซึ่งเป็นคณะทำงานทีมต่อสู้คดีให้กับฝ่ายกระทรวงที่ถูกฝ่ายไทยคมฯ ฟ้องมา ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ ก็รับรู้ เพราะเจ้าหน้าที่จากกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุมกับคณะทำงานที่มีคุณพฤฒิพรรวมอยู่ด้วยเช่นกัน นางพฤฒิพรที่เคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานสู้คดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้กับฝ่ายกระทรวงดิจิทัลฯ ที่ย่อมรู้จุดแข็งจุดอ่อนของข้อมูลและสำนวนคดี ไม่ต่างอะไรกับการเอาอดีตทนายความที่เคยถูกจ้างให้ทำคดีมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน ย่อมเป็นที่กังขาถึงความเป็นกลาง ถึงความเป็นอิสระ ถึงประโยชน์ทับซ้อนได้ ดังนั้น ทั้งเรื่องสายสัมพันธ์ที่น่ากังขาและโดยตำแหน่งแล้ว ต่อให้สุดท้ายผลการพิจารณาออกมาชี้ขาดว่าฝ่ายกระทรวงฯ เป็นผู้ชนะ ก็จะถูกฝ่ายไทยคมฯ เอาไปเป็นเหตุขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ โดยอ้างว่ากระทรวงฯ ตั้งคนที่ตัวเองรู้ดีว่าเป็นคณะทำงานสู้คดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตน ให้มาเป็นอนุญาโตตุลาการ แสดงถึงเจตนาอันไม่สุจริตการที่กระทรวงดิจิทัลฯ ทราบดีว่านางพฤฒิพรเป็นคณะทำงาน และรู้ดีว่าอาจถูกไทยคมเอามาถอนคำชี้ขาด ถ้าผลคดีไม่เป็นคุณกับไทยคมฯ แต่ก็ยังจะตั้งมา จะทำให้คดีนี้ ฝ่ายกระทรวงฯ ไม่มีทางชนะได้เลย ซึ่งจะทำให้รัฐเสียโอกาสจากทั้ง 2 คดี มูลค่าเกือบ 18,000 ล้านบาท การเปลี่ยนตัว 3 ครา ในรอบ 6 เดือนที่รมต. เข้ามา ถามจริงรับงานใครมา หรือล้มคดีเพื่อบริษัทเอกชนใช่หรือไม่

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังตั้งคำถามว่านายชัยวุฒิใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีมาเอื้อประโยชน์ บริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือไม่ เพราะนายชัยวุฒิเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ นายชัยวุฒิเข้าไปทำงานกับกัลฟ์ โดยการชักชวนจากธนญ ตันติสุนทร เพื่อนร่วมรุ่นวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และน้องชายของ ซีอีโอของกัลฟ์ และรุ่นพี่จากคณะเดียวกันด้วย นอกจากนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในการลงพื้นที่แจกข้าวกล่องของนางกานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ จากพรรคพลังประชารัฐ ภรรยาของนายชัยวุฒิ ก็ยังเป็นข้าวกล่องที่ได้รับอภินันทนาการจากบริษัทกัลฟ์ด้วย บริษัท กัลฟ์เคยบริจาคเงินให้กับมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณในปี 59 เป็นเงิน 5,000,000 บาท ที่ถูกใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมาย ตอนที่นั่งเก้าอี้ประธานมูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตรก็พยายามเข้าไปกอบโกยและเอื้อผลประโยชน์ในกิจการพลังงานของประเทศ ที่มีบริษัทกัลฟ์ฯ เป็นผู้เล่นในนั้นด้วย และพอมานั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการอวกาศฯ ก็มีมติร่วมกันกับนายชัยวุฒิ ยกดาวเทียมหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานให้กับ NT ซึ่งในภายหลังเครือไทยคมฯ ที่มีบริษัทกัลฟ์ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อม ก็เข้ามาคว้าสิทธิควบคุมดาวเทียมเหล่านั้น และใช้แสวงหากำไรต่อไปได้ โดยที่ฝ่ายรัฐได้ผลประโยชน์เพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยเท่านั้น


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"