‘โควิดยืดเยื้อเรื้อรัง’ (Long Covid)  คือปริศนาใหม่ของโลก


เพิ่มเพื่อน    

ใครที่ติดตามเรื่องโควิด-19 ช่วงนี้จะเริ่มได้ยินคำว่า Long Covid ที่เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่คนไทยควรสนใจ
    ผมเห็นข่าวทั้งจากอินเดียและจีนที่เริ่มจะเจอกับสิ่งที่ผมจะเรียกว่า  “ปริศนาโควิดเรื้อรัง”
    คนป่วยไม่มีเชื้อไวรัสในตัวแล้วแต่ร่างกายไม่ยอมกลับมาเป็นปกติ
    ปกติ "โควิด-19" ที่เรารู้จัก คือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ทำให้มนุษย์ป่วย ตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงหนัก 
    ปกติคนติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะหายขาดภายใน 12 สัปดาห์ 
    แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่เกิดภาวะที่เรียกว่า Long  Covid 
    ความหมายคือ แม้ว่าร่างกายจะปลอดเชื้อโควิดแล้ว แต่อาการเจ็บป่วยเหล่านั้นยังคงอยู่ติดตัวอีกยาว
    ที่อินเดียพบหลายรายที่เจอกับภาวะ Long Covid 
    นั่นคือ ยังมีอาการอ่อนเพลียและความเครียด
    หรือไม่ก็มีความกลัวกับสิ่งที่ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น 
    บีบีซีอ้างข้อมูลของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ  (National Health Service: NHS) รายงานว่า Long Covid เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-49 ปี และอายุระหว่าง 50-69 ปี 
    ส่วนใหญ่พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 
    ร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะเข้าข่ายนี้ หลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์
    อาการแบบไหนที่เข้าเกณฑ์ Long Covid?
    ผู้เชี่ยวชาญบอกบีบีซีว่า อาการจะเป็นการผสมผสานของปัญหาต่างๆ เช่น
    เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
    หายใจหอบเหนื่อย
    เจ็บหน้าอก หรือแน่นหน้าอก
    มีปัญหาเรื่องความจำ และการจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
    นอนไม่ค่อยหลับ
    ใจสั่น
    เวียนหัว มึนงง
    รู้สึกเหมือนมีของแหลมที่บริเวณผิวหนัง
    หูอื้อ ปวดหู
    คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ความอยากอาหารลดลง
    มีไข้ ไอ เจ็บคอ การรับรสและได้กลิ่นเปลี่ยนไป
    ปวดหัว
    บีบีซีบอกว่ายังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ “เรื้อรัง”  เหล่านี้ แต่สันนิษฐานว่าการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของคนบางคนทำงานหนักเกินไป 
    และอาจจะเป็นเพราะเชื้อตัวนี้โจมตีเนื้อเยื่อของตัวเองด้วย 
    หรืออาจจะเป็นเพราะบางชิ้นส่วนของไวรัสที่ค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งอาจกลับมาทำงานอีกครั้ง 
    รายงานอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า ที่เมืองจีนก็เจอปรากฏการณ์เช่นนี้เหมือนกัน
    ผลการศึกษาชิ้นใหม่ของจีนที่พยายามทำความเข้าใจกับผลระยะยาวจากโรคโควิด-19 เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซต บอกว่า
    ประมาณครึ่งหนึ่งของคนไข้โควิดที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผ่านไป 12 เดือนยังมีปัญหาอย่างน้อยหนึ่งอาการ 
    ส่วนใหญ่มีอาการอ่อนเพลียหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง 
    ในบางรายนั้นแม้จะผ่านไปหนึ่งปี หลังการวินิจฉัยผู้ป่วยแล้ว 1 ใน  3 ยังหายใจหอบ 
    ยิ่งผู้ป่วยอาการหนักตัวเลขก็ยิ่งสูงขึ้น
    สัดส่วนของคนไข้ที่มีอย่างน้อยหนึ่งอาการลดลงจาก 68% หลัง 6  เดือน มาอยู่ที่ 49% หลัง 12 เดือน
    อาการหายใจลำบากเพิ่มขึ้นจาก 26% ของผู้ป่วยเมื่อผ่านไป 6  เดือน เป็น 30% เมื่อผ่านไป 12 เดือน
    รายงานนี้ตรงกับของอังกฤษที่ว่าผู้หญิงมีปัญหาอ่อนเพลียและกล้ามเนื้ออ่อนแรงไม่หายมากกว่าผู้ชาย 43% 
    อีกทั้งมีแนวโน้มเกิดความเครียดและซึมเศร้ามากกว่าสองเท่า 
    แต่ผู้ป่วย 88% ที่เคยทำงานก่อนป่วยกลับไปทำงานได้ในหนึ่งปีต่อมา 
    รายงานชิ้นนี้ของจีนบอกว่า ได้ทำการวิจัยหัวข้อนี้กับประชาชนเกือบ 1,300 คนในเมืองอู่ฮั่นทางภาคกลางของจีน ที่เข้าโรงพยาบาลเพราะโควิดระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ค.63 
    เป็นการวิจัยเพิ่มเติมจากงานวิจัยชิ้นก่อนหน้า ที่เตือนให้นานาประเทศต้องเตรียมการสนับสนุนระยะยาวแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและคนไข้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด
    บทบรรณาธิการของนิตยสารแลนเซตฉบับนี้บอกว่า
    “เพราะยังไม่มีการรักษาหรือแม้แต่คู่มือการฟื้นฟูสุขภาพที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ในระยะยาวโควิดอาจส่งผลกระทบต่อการกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ หรือความสามารถในการทำงานของผู้ป่วย ผลการศึกษาชี้ว่า ผู้ป่วยหลายคนกว่าจะหายดีจากโควิด-19 ต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี” 
    Long Covid จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับวงการแพทย์และผู้รู้ทุกวงการ ที่จะต้องหาคำตอบให้คำถามมากมายที่พรั่งพรูกันมา ในขณะที่สงครามกับไวรัสตัวนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"