‘จัดระเบียบสังคมจีน’ ครั้งใหญ่ของ สี จิ้นผิง?


เพิ่มเพื่อน    

ข่าวจากเมืองจีนช่วงนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับการ “จัดระเบียบสังคมใหม่” ที่ค่อนข้างจะคึกคักและชวนสับสน
    นักวิเคราะห์บางคนถึงกับบอกว่า นี่อาจจะเป็นการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม 2.0” ภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงก็ได้
    แต่ผู้รู้อีกหลายคนก็แย้งว่า ปฏิวัติวัฒนธรรมยุคประธานเหมา เจ๋อตงในช่วงปี 1966-1976 นั้น มีความแตกต่างกับความเคลื่อนไหวที่เห็นอยู่ในจีนปัจจุบันหลายด้าน
    รอบนี้มีการจัดระเบียบตั้งแต่ธุรกิจไฮเทค, การควบคุมกิจกรรมของมหาเศรษฐี, การห้ามเด็กจีนเล่นวิดีโอเกมเกินสัปดาห์จะ 3 ชั่วโมง และล่าสุดการจัดระเบียบวงการบันเทิงครั้งใหญ่
    เมื่อต้นสัปดาห์นี้เอง สำนักสารนิเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศมาตรการจัดการกับสิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์อันไม่เหมาะสมในอุตสาหกรรมความบันเทิงของจีน”
    นัยว่าเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการเติบโตที่ดีของทั้งอุตสาหกรรมและคนรุ่นใหม่
    คำประกาศนี้บอกว่า มีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการที่ครอบคลุมและเฉพาะเจาะจงเพื่อแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 
    เช่นการจ่ายเงินสนับสนุนคนดังมากเกินไป 
    การหลีกเลี่ยงภาษี 
    การโหมกระพือข้อมูลและภาษาหยาบคาย
    รวมไปถึงคนดังเพศชายที่มีลักษณะเหมือนผู้หญิง 
    และมีการเสพติดยอดเข้าชม “อย่างไม่สมเหตุสมผล”
    ครอบคลุมถึง “พฤติกรรมสุดโต่งในการชื่นชมคนดัง”
    ทั้งหมดนี้รัฐบาลจีนถือว่าเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมและสังคมขั้นพื้นฐานของจีน
    สำนักสารสนเทศฯ บอกว่า คนดังที่ขาดคุณธรรมบางกลุ่มเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้คนหนุ่มสาว 
    เพราะมีพฤติกรรมไม่เคารพกฎหมายและประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ส่งผลให้เกิด “สภาพแวดล้อมเป็นพิษ” ในสังคม
    มีคำสั่งให้แพลตฟอร์มความบันเทิงตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่อย่างรอบคอบ 
    และส่งเสริมธุรกิจในอุตสาหกรรมความบันเทิงรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
    อย่าได้มุ่งหวังผลกำไรแต่เพียงอย่างเดียว
    ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ข่าวที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก คือการที่แจ็ก หม่า ผู้ก่อสร้างกลุ่ม Alibaba ถูกทางการสอบสวนว่าด้วยการที่เครือข่ายธุรกิจยักษ์ของเขาขยายตัวกว้างขวางจนเกิดการผูกขาด
    การ “ลงโทษ” แจ็ก หม่า โดยผู้มีอำนาจของปักกิ่ง เกิดขึ้นหลังจากที่เขาขึ้นเวทีวิพากษ์ระบบราชการบางส่วนของจีนที่ยังล้าสมัยคร่ำครึ
    หากมหาเศรษฐีจีนคนนี้ไปพูดเรื่องนี้ในเวทีปกติก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร
    แต่วันนั้น คนฟังล้วนแล้วแต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในกระทรวง ทบวง กรม และธนาคารกลางของจีน
    เกิดแรงกระเพื่อมรุนแรงเพราะแจ็ก หม่าถูกมองว่าเริ่มจะ “ซ่า” และ  “กร่าง” เกินเหตุ ไม่รู้ว่ากำลังพูดให้ใครฟัง และอาจหาญถึงขั้นต่อว่าต่อขาน “ผู้คุมกฎ” ที่เกี่ยวกับธุรกิจของเขากันต่อหน้าต่อตา
    ทันใดนั้น ทางการก็มีคำสั่งนาทีสุดท้ายระงับแผนการเข้าตลาดของบริษัทการเงินในเครือชื่อ Ant ที่ประสบความสำเร็จในวงการนี้อย่างยิ่ง
    จากนั้นมหาเศรษฐีจีนเจ้าของธุรกิจเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Tencent ก็ถูกตรวจสอบและกำกับดูแลใกล้ชิดขึ้น
    ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณบอกมหาเศรษฐีเหล่านี้ว่า ความมั่งคั่งที่พวกเขาสั่งสมขึ้นมานั้นเป็นเพราะคนจีนสนับสนุน แต่ได้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างมโหฬาร
    ความเหลื่อมล้ำที่เห็นชัดเจนระหว่างกลุ่มคนที่ร่ำรวยทันตาเห็นในจีนกับชนชั้นกลางและระดับรากหญ้า ทำให้รัฐบาลและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มกริ่งเกรงว่าหากปล่อยให้แนวโน้มเช่นนี้เดินหน้าต่อไปจะมีผลกระทบต่ออำนาจบารมีของพรรคและรัฐบาลได้
    เพราะหากคนรุ่นใหม่มีค่านิยมไปทางชื่นชมคนรวย ทำทุกอย่างเพื่อเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันตก อาจจะทำให้ความเชื่อถือและศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์ลดน้อยถอยลง
    เราจึงเห็นคำสั่ง “จัดระเบียบสังคม” ใหม่ออกมาเป็นชุดในช่วงปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้
    นี่คือความสลับซับซ้อนในแนวทางของสี จิ้นผิง ที่ต้องการจะใช้ระบบทุนนิยมมาหนุนเนื่องการเติบใหญ่ของจีน 
    แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องการรักษา “สังคมนิยมที่คงอัตลักษณ์จีน” ไว้ด้วย
    มาถึงจุดหนึ่งที่สี จิ้นผิงต้อง “แตะเบรก” ไม่ให้ระบบ “ทุนนิยมตะวันตก” สร้างอิทธิพล จนอาจทำให้อำนาจการกำกับควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต่อประชาชนต้องผุกร่อนลง.
    (พรุ่งนี้: ปฏิวัติวัฒนธรรม 2.0?)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"