คมนาคมสั่งเร่งสางปมสร้าง'สถานีอยุธยา'


เพิ่มเพื่อน    

8 ก.ย.2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเรื่องการติดตามการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เพื่อเร่งรัดโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา โดยเฉพาะการดำเนินการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา

สำหรับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นสถานีที่มีคุณค่าและความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ รวมถึงการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย โดยโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาและกระจายความเจริญ รวมถึงการสร้างโอกาสอันดีแก่ประชาชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติสามารถมาเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญในการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ทั้งในด้านภูมิทัศน์และคุณค่าความโดดเด่นของมรดกโลก (OUV)โดยการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วยรถไฟความเร็วสูงควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณค่าอันโดดเด่นให้เหมาะสมกับบริบทของจังหวัด

"ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง(ขร.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)หารือแนวทางเลือกการดำเนินโครงการ โดยตรวจสอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงสถานีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ได้ข้อยุติ"นายศักดิ์สยาม กล่าว

ทั้งนี้ในการประชุมครั้งถัดไปให้นำเสนอเป็นภาพรวมโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา) เช่น การดำเนินการก่อสร้างสถานีอยุธยา การก่อสร้างงานโยธาร่วมช่วงบางซื่อ – ดอนเมือง เป็นต้น รวมถึง การดำเนินโครงการระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) และการเชื่อมโยงทางรถไฟกับโครงการรถไฟ ลาว-จีน ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ต่อไป

สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ระยะทาง 250 กม. วงเงินงบประมาณ 179,413 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จใน เม.ย. 2569 โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค. 2564 ภาพรวมความก้าวหน้าโครงการ 1.95% ล่าช้ากว่าแผน 0.56%

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 งานโยธาช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.โดยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขณะเดียวกัน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 6 สัญญา โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค. 2564 พบว่า 1.สัญญา 2-1 งานโยธาช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. ความก้าวหน้างานก่อสร้าง 67.43% ล่าช้ากว่าแผน 32.57% 2.สัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. ความก้าวหน้างานก่อสร้าง 0.07% ล่าช้ากว่าแผน 0.02% 3.สัญญา 3-3 งานโยธาช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. ความก้าวหน้างานก่อสร้าง 0.14% ล่าช้ากว่าแผน 0.24%

4.สัญญา 3-4 งานโยธาช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. ความก้าวหน้างานก่อสร้าง 3.77% เร็วกว่าแผน 2.66% 5.งานโยธาช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. ความก้าวหน้างานก่อสร้าง 0.40% ล่าช้ากว่าแผน 0.74% และ 6.สัญญา 4-7 งานโยธาช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. ความก้าวหน้างานก่อสร้าง 1.27% ล่าช้ากว่าแผน 0.15% ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 4 สัญญา และยังไม่ได้ลงนามในสัญญาอีก 3 สัญญา

ทั้งนี้ในส่วนของระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงิน 2.5 แสนล้าน แบ่งเป็น ทางรถไฟระดับพื้นดิน 185 กม. และทางรถไฟยกระดับ 171 กม.นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบ ซึ่งโจทย์ของรัฐบาลต้องการให้เส้นทางนี้ใช้ทางเลี่ยงเมือง เพื่อจะได้มีผลกระทบน้อยที่สุด โดยจะมีระบบรองเชี่อมต่อระบบขนส่งหลัก (Feeder) มาให้บริการ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการหลังระยะที่ 1 ประมาณ3-4 ปี หรือในปี 2572-2573


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"