20 ปีสงครามอัฟกานิสถาน ความล้มเหลวของสหรัฐ


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ : HC-130J เครื่องบินค้นหาและกู้ภัยของสหรัฐ

เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/920thRescueWing/photos/4131142140241274/

 

มีผู้วิพากษ์ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวของสหรัฐต่อสงครามอัฟกานิสถาน  ในที่นี้จะนำเสนอมุมมองความล้มเหลว ดังนี้

            ประการแรก ตอลิบันครองกรุงคาบูลจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง

                ย้อนหลังเมื่อสหรัฐกับพวกบุกอัฟกานิสถาน ธันวาคม 2001 Mullah Omar ผู้นำตอลิบันกับกองกำลังที่เหลือยอมแพ้ ยุติช่วงตอลิบันปกครองอัฟกานิสถาน 1996-2001 สหรัฐสามารถตั้งรัฐบาลปกครองกรุงคาบูล แต่เรื่องราวไม่จบเพียงเท่านี้ เป็นจุดเริ่มของสงครามยืดเยื้อ 20 ปี และสุดท้ายตอลิบันกลับมาเป็นฝ่ายชนะ เนื้อหาประวัติศาสตร์หน้านี้อาจเขียนว่าพวกตอลิบันต่อต้านต่างชาติอย่างทรหดถึง 20 ปีจนได้ชัยชนะ คล้ายกับเวียดนามที่ต่อต้านฝรั่งเศส สหรัฐ

            ประการที่ 2 กองทัพรัฐบาลอัฟกันไม่ยอมรบ

                หัวข้อที่เอ่ยถึงกันมากคือทำไมทหารตำรวจของรัฐบาลประชาธิปไตยไม่รบหรือแทบไม่สู้เลย เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่าเป็นจุดอ่อนร้ายแรงและรับรู้นานแล้วนั่นคือ รัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกันไม่สามารถสร้างกองทัพที่เข้มแข็งและยืนด้วยขาตนเอง

                ประธานาธิบดีโอบามากล่าวเมื่อพฤษภาคม 2014 ว่านโยบายต่อจากนี้คือ “ขจัดภัยคุกคามจากอัลกออิดะห์ สนับสนุนกองกำลังรักษาความมั่นคงของอัฟกานิสถาน และช่วยให้ชาวอัฟกันได้โอกาสที่จะยืนด้วยลำแข้งของตนเอง”

                ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นไปกองทัพสหรัฐจะไม่ปฏิบัติภารกิจสู้รบ (combat mission) อีกต่อไป ซึ่งหมายถึงทหารสหรัฐจะไม่ตรวจตราสถานที่ต่างๆ ให้เป็นบทบาทของทหารอัฟกันโดยสมบูรณ์ บทบาทของกองทัพสหรัฐจะอยู่ใน 2 ภารกิจ คือ “ฝึกฝนกองกำลังอัฟกันและสนับสนุนปฏิบัติการต่อต้านก่อการร้ายอัลกออิดะห์” สังเกตว่าเรื่องของตอลิบันอยู่ในของความรับผิดชอบทหารรัฐบาลอัฟกันแล้ว

                นับจากปี 2009 ทหารสัมพันธมิตรเริ่มฝึกทหารตำรวจอัฟกัน จำนวนทหารตำรวจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 40,000 นายเป็น 350,000 นาย มีข้อมูลว่าสหรัฐใช้งบประมาณถึง 83,000-145,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างและพัฒนากองกำลังดังกล่าว ตัวเลข 3 แสนนายไม่นับว่าน้อยแต่ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า ความจริงแล้วมีน้อยกว่านั้นมาก เป็นบัญชีปลอมที่มีแต่ชื่อ แต่ไม่มีตัวตน เหตุเนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชัน

                ปี 2020 Transparency International จัดให้อัฟกานิสถานเป็น 1 ใน 20 ประเทศที่คอร์รัปชันมากที่สุด การทุจริตพบมากในหมู่นักการเมือง เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ บางคนรับสินบนและไม่สนใจปราบปรามอาชญากร บ่อยครั้งที่หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจและยังคงขูดรีดประชาชนที่ตนดูแล

                กองทัพที่มากถึง 3 แสนจึงไม่ใช่ของจริง ไร้ประสิทธิภาพ

                เรื่องพึ่งพาเงินต่างชาติคืออีกปัจจัยสำคัญ ข้อมูลปี 2014 ระบุว่ารัฐบาลอัฟกันจัดเก็บภาษีได้เพียง 1,700 ล้านดอลลาร์ต่อปี ในขณะที่เฉพาะงบกลาโหมต้องใช้ถึง 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นาย Mark Sedra จาก University of Waterloo in Ontario กล่าวว่า สหรัฐกับชาตินาโตเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณกลาโหมแก่รัฐบาลอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะสหรัฐจะต้องจัดสรรให้เงิน 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลอัฟกานิสถานขาดแคลนรายได้
                เกิดคำถามว่าสหรัฐจะต้องให้เงินอุดหนุนงบกลาโหมอัฟกานิสถานอีกกี่ปี ซ้ำร้ายกว่านั้นคือต้องรวมงบประมาณของทหารอเมริกันในประเทศนี้ด้วย คุ้มค่าหรือไม่

                Brown University ประเมินว่าในเวลา 20 ปีสหรัฐใช้เงิน 2 ล้านล้านดอลลาร์กับประเทศนี้ (เฉลี่ยวันละ 300 ล้านดอลลาร์) ประธานาธิบดีไบเดนยอมรับว่าน่าจะนำเงินเหล่านี้ไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ไม่อาจทนแบกรับภาระนี้อีกต่อไป

                การที่สหรัฐหยุดหรือลดการสนับสนุนกำลังทางอากาศเป็นอีกเหตุผลที่น่าเชื่อว่าทำให้กองทัพรัฐบาลอัฟกันไม่คิดจะรบ เพราะที่ผ่านมาพวกเขารบภายใต้การสนับสนุนของหน่วยข่าว กำลังทางอากาศของอเมริกัน

                อันที่จริงแล้ว ฝ่ายข่าวสหรัฐรับรู้เรื่องที่กองทัพอัฟกันไม่มีใจรบมานานแล้ว รัฐบาลสหรัฐประเมินได้ว่าหากตนถอนทัพ ตอลิบันจะเข้ามาแทนที่รัฐบาลประชาธิปไตยแน่นอน ช้าหรือเร็วเท่านั้น

                บัดนี้กลายเป็นพวกตอลิบันได้อาวุธจำนวนมาก ตั้งแต่ปืนไรเฟิล M4 กับ M18 และปืนสุ่มยิง M24 ปืนใหญ่ มีข้อมูลว่าไม่กี่ปีมานี้สหรัฐมอบรถฮัมวีแก่อัฟกานิสถานถึง 4,700 คัน ไม่นับเครื่องกระสุนอีกนับไม่ถ้วน ให้ตอลิบันใช้ฟรีได้อีกนาน ที่น่ากังวลคืออาวุธเหล่านี้จะถึงมือกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่ เป็นไปได้มากว่าอาวุธบางส่วนจะถูกประเทศต่างๆ ซื้อไป

                ในอนาคตคงมีข้อมูลเพิ่มว่าทำไมกองทัพรัฐบาลไม่ยอมสู้ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง

            ประการที่ 3 การสร้างรัฐประชาธิปไตยล้มเหลว

                ในอดีตรัฐบาลสหรัฐสามารถสร้างรัฐประชาธิปไตยในหลายประเทศ เยอรมนีตะวันตก (ในขณะนั้น) กับญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม สามารถเปลี่ยนนาซีกับพวกนิยมลัทธิทหารของญี่ปุ่น สร้างประชาธิปไตยเกาหลีใต้ ไต้หวัน แต่มาล้มเหลวในอัฟกานิสถานอย่างเหลือเชื่อ

                โจเซฟ ฟอนเทลส์ (Josep Fontelles) หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศอียู ยอมรับว่าการทำให้อัฟกานิสถานเป็นรัฐสมัยใหม่ (รัฐประชาธิปไตย) ล้มเหลว แม้กระทั่งตอลิบันอาจยังงงว่าทำไมชนะง่ายดายเช่นนี้ หนึ่งบทเรียนที่สำคัญคือกองทัพอัฟกันสลายตัวอย่างรวดเร็ว ไม่คิดต่อต้านตอลิบันเลย

                อาจวิพากษ์ว่าประชาธิปไตยอัฟกานิสถานล่มสลายเป็นผลพวงเมื่อตอลิบันกลับเข้ามาครองอำนาจ ในอีกด้านหนึ่งที่น่าคิดคือ 20 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างชาวอัฟกันที่มีใจประชาธิปไตยสักกี่คน ถ้ามีชาวอัฟกันผู้รักประชาธิปไตยมากพอ รัฐบาลอัฟกันคงไม่แพ้ง่ายๆ แท้จริงแล้วในขณะที่บางคนอาจคิดว่าประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ยอมรับเช่นนี้ บางคนแสวงหาแนวทางที่ดีกว่า

            ประการที่ 4 ภาพลักษณ์มหาอำนาจเสื่อมเสีย

                ไม่ว่าความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐลดลงจริงหรือไม่ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ความเสื่อมถอยของสหรัฐ ตีความว่าเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือไม่ได้ เป็นอีกเหตุการณ์ที่ทับถมการถดถอยของประเทศนี้

                พันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยเอเชียหลายประเทศกลับสู่คำถามเดิมอีกครั้งว่า พึ่งหวังการปกป้องคุ้มครองจากรัฐบาลสหรัฐได้มากน้อยเพียงไร วันหนึ่งอเมริกาจะถอนการปกป้องหรือไม่ พันธมิตรนาโตฝั่งยุโรปเอ่ยเรื่องการพึ่งตนเองด้านความมั่นคงทางทหารอีกรอบ

                บางคนตีความในแง่ศาสนาว่าฝ่ายมุสลิมสุดโต่งได้ชัย ทำให้มุสลิมทั่วโลกที่ต่อต้านตะวันตกฮึกเหิม

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

                การที่กองทัพรัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกันไม่ยอมสู้ทำให้ภาพลักษณ์สหรัฐเสียหาย โดยเฉพาะการสูญเสียกรุงคาบูล หากยอมรบต่อต้านตอลิบันไม่ให้เข้าเมืองพื้นที่สำคัญ การรบยืดเยื้อ เช่นนี้สถานการณ์อาจพลิกผัน เช่น สหรัฐอาจให้อาวุธเพิ่ม สนับสนุนข้อมูลการข่าว และอาจเกิดรัฐบาลใหม่ที่รวมฝ่ายอัฟกันประชาธิปไตยกับตอลิบัน หรือเจรจาสันติภาพที่ต่างคนต่างอยู่ การที่ตอลิบันยึดกรุงคาบูลง่ายๆ ทำให้ตอลิบันได้เปรียบชิงสถาปนารัฐอิสลาม ตั้งรัฐบาลที่ผู้นำของตนเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศ ที่เหลือเป็นการบริหารจัดสรรอำนาจให้กับกลุ่มต่างๆ

                20 ปีหลังตอลิบันสูญเสียกรุงคาบูลให้ฝ่ายอเมริกา บัดนี้กลับคืนมาเป็นของตอลิบันอีกครั้ง อาจตีความว่า หลังสงครามยืดเยื้อ 20 ปีสหรัฐกับพวกสูญเสียชีวิตทหารหลายพัน สหรัฐใช้เงินนับล้านล้านดอลลาร์ ท้ายที่สุดคือตอลิบันกลับมาครองประเทศอีกครั้ง

                เกิดคำถามตามมาอีกมากว่า การตัดสินใจเข้าทำสงครามอัฟกานิสถานถูกหรือผิด เพื่อที่จะปราบอัลกออิดะห์จำต้องส่งกองทัพนับแสนเข้าประเทศนี้หรือไม่ อะไรคือเป้าหมายของรัฐบาลสมัยนั้น อะไรคือยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐต่อภูมิภาคนี้และต่อโลก สิ่งที่ได้คุ้มกับสิ่งที่เสียหรือไม่ ผู้ที่ควรใคร่ครวญและหาคำตอบมากที่สุดคือพลเมืองอเมริกัน

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"