'อาคม'แจงสถานการณ์จำเป็นรัฐลุยกู้ดันหนี้พุ่ง


เพิ่มเพื่อน    


14 ก.ย. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ส่งเสริม SMEs / Startups ยกระดับขีดความสามารถและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ว่า การที่ประเทศมีหนี้จากการกู้เงินในจำนวนที่สูงมากท่ามกลางสถานการณ์ในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องกู้เงินเช่นกัน ต้องใช้เครื่องมือทางการคลังให้เป็นประโยชน์ในภาวะที่นโยบายการเงินยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่นัก

นอกจากนี้ มองว่าตลาดทุนของไทยยังมีโอกาสดี หุ้นไทยไม่ได้แย่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงยังมองเห็นการฟื้นตัวได้ในอนาคต ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีที่จะเป็นดาวรุ่งได้ จะต้องคำนึงถึงทิศทางของประเทศว่าจะก้าวไปทางไหน ซึ่งต้องดูแนวนโยบายของรัฐบาลควบคู่ไปด้วย

“ทิศทางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในอนาคตนั้น ถ้ากู้เยอะ แล้วหนี้ต่อจีดีพีสูงขึ้น แต่หากรายได้ไม่เพิ่ม ก็แน่นอนว่าต้องเป็นหนี้เป็นสิน ดังนั้นความสามารถในการหารายได้ เรามีโอกาส เช่น โครงการในอีอีซี โครงการที่เป็น new S curve ซึ่งทิศทางที่ธุรกิจไทยจะเติบโตไปในอนาคตได้ ต้องคำนึงถึงใน 3 ด้าน คือ ไบโอชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเหล่านี้ จะถือเป็นโอกาสของเราทุกคน” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/2564 ที่ขยายตัวได้ 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากเทียบรายไตรมาส จะพบว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แม้จะยังไม่ฟื้นตัวได้แข็งแรงมากนักก็ตาม แต่ก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่จะกลับมาดีขึ้น โดยเชื่อว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะยังอยู่กับประเทศไทยต่อไปอีก เพียงแต่จะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วย ส่วนการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างสมดุลระหว่างการดูแลด้านสาธารณสุขกับด้านเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทย ซึ่งรัฐบาลได้มีมาตรการออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยพิจารณาการให้ความช่วยเหลือเยียวยาทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่กันไป โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่รายได้ของประเทศด้านการท่องเที่ยวหายไปมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่าง ๆ ที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ในธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งรัฐบาลได้พยายามเข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ยอมรับว่าผลกระทบกับเอสเอ็มอีรอบนี้ ค่อนข้างจะสาหัส หลายร้าน หลายบริษัทต้องปิดตัว หรือไปกู้หนี้ยืมสิน เข้ามาตรการพักชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ มาตรการสินเชื้อฟื้นฟู ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เบิกจ่ายไปแล้วเกือบแสนล้านบาท มีเอสเอ็มอีเข้ามา 3 หมื่นกว่าราย ซึ่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเอสเอ็มอีทั้งประเทศที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย ส่วนมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มีเข้ามาแล้ว 74 ราย มูลค่ารับโอนทรัพย์สิน 1.1 หมื่นล้านบาท” นายอาคมกล่าว

นอกจากนี้ ตลาดทุนก็ถือว่าเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่บริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถเข้ามาลงทุนได้ รวมถึงตลาด mai แต่การเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จะมีกฎกติกาที่เข้มงวด โดยเฉพาะความโปร่งใส ระบบข้อมูลการบันทึกบัญชี ซึ่งเอสเอ็มอีบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ที่จะเข้าสู่กฎกติกาในการเข้ามาซื้อขายใน ตลท. ได้ โดยทั้ง ตลท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแผนจะให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการเหล่านี้มากขึ้น

โดยล่าสุด ตลท. และ ก.ล.ต.ได้มีการแนะนำ Live แพลตฟอร์ม และ Live Exchange ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วย Set up ให้แก่เอสเอ็มอีได้เตรียมตัวก่อนที่จะเข้าไปจดทะเบียนซื้อขายใน ตลท. โดยช่องทางดังกล่าวจะเป็นการเชื่อมระหว่างนักลงทุนหรือผู้มีเงินออม เข้ากับผู้ที่ต้องการเงินทุนได้เข้ามาเจอกัน ซึ่งการที่ ตลท. ได้ริเริ่มแพลตฟอร์มนี้ขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการระบาดของโควิด-19 อาจะเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่หากไปทำเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้วก็อาจจะสายไป เพราะเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว จะทำให้มีต้นทุนต่าง ๆ ในการดำเนินงานที่สูงกว่าในช่วงนี้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"