'วินทร์' เตือนสติสังคมเสพข่าวปลอมเป็นอาหาร มิได้หล่อเลี้ยงด้วยความรู้ เป็นสังคมที่ยากจะก้าวหน้า


เพิ่มเพื่อน    

16 ก.ย.64 - วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การตั้งคำถามของสังคมต่อการเสนอข่าวของบางสำนักข่าวบ้านเราเมื่อไม่กี่วันมานี้ ทำให้นึกถึงบทความที่เขียนเมื่อหนึ่งปีก่อนพอดี ลงให้อ่านอีกครั้ง แม้รู้ว่าคงไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมที่เสพข่าวปลอมเป็นอาหาร

ไม่กี่ปีก่อน สำนักข่าวหลายแห่งในโลกเสนอข่าวนักโบราณคดีค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณยักษ์ในหลายมุมโลก มันเป็นโครงกระดูกมนุษย์ที่ใหญ่มาก กะโหลกใหญ่กว่าศีรษะมนุษย์นับสิบเท่า กระดูกแขนขาแต่ละท่อนยาวเป็นเมตร มันย่อมเป็นข่าวที่น่าตื่นตะลึง สมควรเผยแพร่ และในเมื่อเป็นข่าวจากสำนักข่าว ยิ่งน่าเชื่อถือ หลายคนก็เชื่อ และเช่นเคย แชร์ต่อทันที มันเป็นข่าวจริงหรือข่าวเท็จ? แน่นอนมันเป็นข่าวเท็จ

เรื่องนี้ถือกำเนิดมาจากใครคนหนึ่งใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างภาพแปลกๆ เพื่อส่งประกวด แต่มีคนนำไปใช้เป็นข่าวปลอม ทันใดนั้นก็มีคนเลียนแบบ ทำภาพแบบนี้อีกมากมายทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ก็มีโครงกระดูกยักษ์อีกเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นโครงกระดูกยักษ์จริง คำว่าจริงหมายถึงมีกระดูกใหญ่จริง จับต้องได้ แต่ไม่ใช่ของจริง ศิลปินไต้หวันกลุ่มหนึ่งสร้างงานประติมากรรมโครงกระดูกยักษ์ ด้วยวัสดุประเภทพลาสติก แล้วจัดฉากถ่ายรูป เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนองาน แต่มีคนนำภาพนี้ไปแต่งเรื่องใหม่ว่า มันเป็นการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์หรือยักษ์โบราณ และปรากฏเป็นข่าวโทรทัศน์

ข่าวปลอมแบบ ‘แหกตาทื่อๆ’ อย่างนี้ไม่ใช่ของใหม่ในบ้านเรา มีเรื่องเล่าว่าหลายสิบปีก่อน หนังสือพิมพ์ไม่ค่อยมีข่าวเด่นๆ ให้ตีพิมพ์ นักเขียนใหญ่ มนัส จรรยงค์ จึงเสนอข่าวปลอมเรื่องพระธุดงค์ที่อีสานถูกงูเหลือมกิน มันกลายเป็นข่าวที่ฮือฮามาก แน่นอน คนเชื่อ!

ปัจจุบันนี้ งูเหลือมกินพระธุดงค์คงไม่ใช่ข่าวน่าตื่นเต้นแล้ว เรามาถึงยุคที่ข่าวปลอมไม่ได้มีแค่ตัวหนังสือ แต่มีภาพถ่าย และคลิป การปลอมรูปและวิดีโอทำได้เนียนขึ้นมาก และผู้ปลอมลงทุนมากขึ้น บางครั้งสร้างเป็นหนังที่สมจริง

เราคงไม่ถามว่าทำไมคนเหล่านี้ว่างงานมากขนาดลงทุนทำข่าวปลอม มันกลายเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่งไปแล้ว ยิ่งหลอกคนได้มาก ยิ่งสนุก ข่าวลวงที่ได้ผลที่สุดคือการเสนอความจริงครึ่งเดียว นำรูปหรือภาพเหตุการณ์จริงมาเล่าใหม่ หรือ ‘พากย์’ ใหม่ หรือตัดต่อใหม่ ทำให้น่าเชื่อมากขึ้น ในยุคที่ข่าวปลอมท่วมโลกยิ่งกว่าน้ำท่วมโลกและไวรัสข้อมูลระบาดหนักทุกหย่อมหญ้า

การตรวจสอบว่าข่าวหนึ่งข่าวใดจริงหรือเท็จนั้นทำได้ยากขึ้นทุกที แต่ข่าวปลอมก็เหมือนอาหารที่มีเชื้อโรค เป็นหน้าที่ของคนกินที่ต้องดูแลตัวเอง ต่อให้พ่อครัวสะอาดเพียงไร คนกินก็ต้องตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมที่มันจะไม่สะอาด

สำนักข่าวระดับโลกจะมีแผนกตรวจสอบหรือ ‘verify’ ข่าวทุกข่าวที่จะเสนอต้องตรวจสอบก่อนเสมอ ต้องรู้ชัดว่าเป็นเรื่องจริงไหม ต้นข่าวมาจากไหน ต่อให้มันเป็นเรื่องน่าเชื่อถือและสมจริงมากเพียงใด ก็ต้องรู้ต้นข่าว และยืนยันได้ว่ามันเป็นจริงก่อน

ยอมตกข่าวดีกว่าส่งข่าวปลอม สำหรับข่าวทุกข่าว ข้อมูลทุกข้อมูลที่ได้รับ พึงคิดไว้ก่อนว่ามันอาจไม่จริง ไม่ว่าคนให้ข่าวหรือข้อมูลน่าเชื่อถือเพียงใด เราควรใช้หลักกาลามสูตรของพระพุทธองค์ อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะพิสูจน์ ตั้งคำถามทุกเรื่อง

ในการตรวจสอบคลิป สิ่งหนึ่งที่ผมมักดูเสมอคือมุมกล้อง ถ้ามุมกล้องตั้งใจเกินไป ก็อาจเป็นคลิปปลอม ยกตัวอย่างเช่น เกิดเหตุพิสดารในจุดที่เปลี่ยวร้างซึ่งไม่มีเหตุผลไปวางกล้องไว้ แต่กล้องกลับอยู่รอเหตุการณ์ตรงนั้นพอดี ก็มีโอกาสสูงที่มันเป็นการจัดฉาก

ครั้งหนึ่งมีคลิปพายุหมุนทอร์นาโดที่ดูน่ากลัว ถ่ายทำอย่างสวยงาม คำบรรยายบอกว่า นี่เป็นภาพถ่ายหายากที่ National Geographic ขอซื้อด้วยเงินหนึ่งล้านดอลลาร์ ก็แชร์กันไป ทว่ามันเป็นคลิปที่จับผิดไม่ยากจากการดูแค่มุมกล้อง ภาพ ‘ประณีต’ เกินไป! ทุกอย่างลงตัวพอดี คนที่ถ่ายคลิปนี้ต้องมีเครื่องมือทันสมัย อีกทั้งอยู่ถูกที่ถูกเวลา จับภาพสวยงามลงตัวหมดจดทุกอย่าง เช่น กล้องจับภาพรถยนต์ที่ถูกพายุพลัดปลิวอย่างพอดี ฯลฯ นอกจากนี้ผู้ถ่ายทำยังต้องเป็นคนดวงดีเพราะถ่ายคลิปพายุในระยะใกล้ชิดได้หลายช็อตยาวหลายนาทีโดยไม่ถูกพายุกลืน

โอกาสที่ใครคนหนึ่งถ่ายทำภาพโดยไม่เตรียมการไว้ล่วงหน้าได้อย่างประณีตขนาดนี้ ย่อมเป็นไปได้ยาก แน่นอนไม่มีใครโชคดีฝีมือดีขนาดนั้น มันก็คือท่อนหนึ่งของภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Into the Storm (2014) ที่สร้างพายุด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกส์

อีกคลิปหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นคลิปวิดีโอมหาสมุทร ผืนน้ำแบ่งออกเป็นสองสี สีอ่อนกับสีทะเลปกติ คำบรรยายบอกว่านี่เป็นรอยต่อของมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติก เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ที่น้ำของสองมหาสมุทรไม่ปนเปกัน มันแบ่งเป็นเส้น คล้ายเส้นพรมแดนของแผ่นดิน

นี่ย่อมเป็นภาพน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่หากศึกษาประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราก็คงรู้ว่าเส้นพรมแดนทั้งหลายเป็นเส้นสมมุติ โลกนี้มีเพียงมหาสมุทรเดียว น้ำที่คลุมโลกทั้งใบเป็นน้ำเดียวกัน มนุษย์ในยุคหนึ่งตั้งชื่อแยกเป็นมหาสมุทรต่างๆ เพื่อความสะดวก แปซิฟิก แอตแลนติก อินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติก เหล่านี้เป็นชื่อสมมุติขึ้นมา ดังนั้นโดยหลักการ มันจะมีรอยต่อของมหาสมุทรต่างๆ ไม่ได้

เมื่อเวรีฟายหาข้อมูลเพิ่ม ก็จะรู้ต้นกำเนิดของคลิป มันเป็นภาพถ่ายจุดที่แม่น้ำเฟรเซอร์ใน บริติช โคลัมเบีย แคนาดาไหลลงมหาสมุทรแปซิฟิก มันเป็นภาพจริง คำบรรยายปลอม

อีกคลิปหนึ่งที่น่าตื่นตาคือวิดีโอหญิงสาว ‘แอนดรอยด์’ คนหนึ่งสวมกอดคน คลิปชี้ว่าเราสร้างมนุษย์เทียมสำเร็จแล้ว สรีระของเธอเหมือนคนจริงทุกประการ แต่กิริยาท่าทางของเธอแข็งทื่อเหมือนหุ่นยนต์ ทำให้น่าสงสัยทันที เพราะแอนดรอยด์ไม่ใช่หุ่นยนต์เหล็ก แอนดรอยด์มีโครงสร้างมีกล้ามเนื้อเหมือนคนจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยหลักการจึงควรเคลื่อนขยับตัวเหมือนคนจริง ไม่ใช่ขยับตัวแบบติดๆ ขัดๆ เหมือนภายในตัวเป็นเครื่องจักรรุ่นเก่า

หากตรวจสอบต่อในด้านวิชาการ ก็จะพบว่าวิทยาการสร้างแอนดรอยด์ระดับนี้ยังไม่เกิดขึ้นบนโลก หุ่นยนต์ดีที่สุดในโลกตอนนี้ยังห่างไกลจาก ‘แอนดรอยด์’ ในคลิป ดังนั้นก็สามารถอนุมานได้ว่า หญิงสาวคือนักแสดงที่แสดงบทแอนดรอยด์ และต้นฉบับอาจไม่ใช่คลิปปลอม ทว่าคนส่งข่าวจัดการแปลงเรื่อง

บางครั้งข่าวที่แชร์กันในโลกออนไลน์ก็ตรวจได้ยากมาก ในเดือนสิงหาคม 2563 ช่วงที่ข่าวอัยการไม่ฟ้องคดีทายาทอภิมหาเศรษฐีขับรถชนตำรวจคนหนึ่งเสียชีวิต หลายคนรวมทั้งสำนักข่าวแชร์เรื่องศาลจีนลงโทษประหารชีวิตชายคนหนึ่งที่เมาแล้วขับรถชนคนตาย รถยนต์ที่เขาขับคือแลมโบร์กินีสีแดง ข่าวที่แชร์ดูเป็นทางการ มีรูปประกอบชัดเจน ดูเผินๆ เป็นข่าวจริงแน่นอน

ทว่าเมื่อตรวจสอบ พบว่าไม่มีสำนักข่าวใดในโลกที่ลงข่าวนี้ แม้แต่ในประเทศจีน มีแต่ในประเทศไทย การเวรีฟายทำได้ยากมาก เพราะไม่มีแหล่งให้ตรวจสอบ จนกระทั่งเมื่อไปค้นรูปซากรถ แลมโบร์กินีสีแดง ก็พบว่ารูปรถดังกล่าวเป็นซากรถที่เกิดอุบัติเหตุรถเมล์ชนจนพังในเมืองจีนเมื่อหลายปีก่อนหน้าข่าวรถชนคนตาย

ย่อมมีคำถามว่า เราซีเรียสเกินไปไหม มันก็แค่คลิปดูสนุกๆ ไม่จริงก็ไม่เป็นไร ดูเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้หรือ แน่นอน เราสามารถทำอย่างนั้นได้ แต่ไม่ทุกข่าวหรือข้อมูลเป็นเรื่องบันเทิง หลายเรื่องเป็นวิชาการด้านสุขภาพ สมุนไพรชนิดนี้รักษาโรคนี้ สมุนไพรชนิดนั้นรักษาโรคนั้น เราจะเสี่ยงกิน ‘ยาเน็ตบอก’ เลยโดยไม่เวรีฟายหรือ?

เมื่อเราแชร์ข่าวปลอมและเชื่อข่าวปลอมง่ายๆ มันฝึกให้เราเป็นมนุษย์ที่เชื่อง่าย ปั่นหัวง่าย ถ้าคนส่วนใหญ่ในสังคมเป็นอย่างนี้ ท้ายที่สุดเราก็ได้สังคมที่มิได้หล่อเลี้ยงด้วยความรู้ แต่ด้วยความเชื่อล้วนๆ มันเป็นสังคมที่ยากจะก้าวหน้า นี่ย่อมไม่ใช่สังคมที่เราอยากให้ลูกหลานของเราอยู่ เราทุกคนมีสิ่งที่เรียกว่า ‘หน้าที่พลเมือง’ เราไม่ทิ้งขยะบนถนนหนทาง เพราะขยะทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ข่าวปลอมก็คือขยะชนิดหนึ่ง ดังนั้นหากไม่แน่ใจหรือไม่รู้ว่า ข่าวที่ได้รับมาจริงหรือไม่ ก็ควรให้จบที่ตัวเราแค่นั้น จะดูเพื่อความบันเทิงก็ดูได้ แต่ให้จบที่เรา อะไรที่ไม่รู้จริง อย่าแชร์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"