ไดร์ฟทรูส่ง'ขยะกำพร้า'เทรนด์ใหม่คนเมือง


เพิ่มเพื่อน    

ไดร์ฟทรูส่งขยะกำพร้าที่จุดรับฝากพระราม 9 

 

 

            ไดรฟ์ทรูหรือการขับรถเข้ามาซื้ออาหารและเครื่องดื่มหรือสินค้า รวมถึงส่งสินค้าบางอย่างโดยไม่ต้องจอดและลงจากรถ          เป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย เพราะเหมาะกับลูกค้าที่ต้องแข่งกับเวลาอันเร่งรีบ ไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ จองโต๊ะหรือรอคิว

          ปัจจุบันไดรฟ์ทรูไม่ใช่แค่ทางเลือกของคนเมืองที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิต  แต่กลายเป็นทางแก้ปัญหาของคนกรุงที่มี”ขยะล้นบ้าน” เพราะมีการเปิดจุดไดร์ฟทรูรับบริจาคขยะที่ไม่มีมูลค่าในการรีไซเคิล   ไม่ว่าจะเป็นถุงขนม ถุงข้าวสาร  ถุงอาหารสัตว์  ถุงหูหิ้ว กล่องอาหารฟู้ดเดลิเวอรี่  กล่องพลาสติกใส กระดาษเปื้อน  แผงยา   ฟิลม์ฟอยห่ออาหาร กล่องโฟม   โฟมกันกระแทกสินค้า กระปุกครีม หลอดโฟมล้างหน้า ถาดไข่ แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดเท้า เสื้อผ้าเก่า ถุงเท้าเก่า แม้กระทั่งเสื้อในกางเกงในเก่าเกินกว่าจะไปบริจาค  

นำขยะกำพร้าใส่ท้ายรถ แล้วแวะไปจุดไดร์ฟทรูใน กทม.

 

       ขยะไม่มีราคาเหล่านี้ ซาเล้งยังเมิน หาที่ไปไม่ได้  แต่ถ้านำมาส่งที่จุดไดร์ฟทรูจะเปลี่ยนขยะไร้ค่าให้เป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) เพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือก โปรเจ็คเจ๋งๆนี้ชื่อว่า “ Drive Thru to Clean Energy” ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายสังคมลดขยะ หรือ Less Plastic Thailand  ร่วมกับเพจรักษ์กันคนละนิด a little bit caring  เพจบางขยะ และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนอย่าง บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด  ด้วยการเปิดจุดไดร์ฟทรูรับขยะที่ทำความสะอาดแล้ว คัดแยกมาจากที่บ้าน มาฝากส่งต่อไป  

          “ ทุกวันนี้คนตื่นตัว โดยเฉพาะช่วงโควิดคนอยู่บ้าน สร้างขยะเยอะมาก ทั้งจากอาหารและข้าวของเครื่องใช้สารพัด  แยกส่งรีไซเคิลแล้ว แต่ก็ยังเหลือขยะที่ไม่มีราคา   บางบ้านพยายามหาซาเล้งหรือโครงการรับบริจาค แต่ก็ไม่สนใจขยะแบบนี้  จึงกลายเป็นขยะกำพร้า ไร้ญาติ แทนที่ขยะกำพร้าจะไปอัดรวมกันอยู่ในหลุมฝังกลบหรือเก็บขยะไว้ในบ้าน เราอยากหาทางเลือกใหม่ๆ ส่งขยะให้ได้ไปต่อ จึงเกิดไดร์ฟทรูและเชื่อมส่งขยะสู่เตาเผาโรงงานผลิตปูนซีเมนต์เผาไหม้มลพิษต่ำต่อ เพราะขยะสามารถแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแห้งได้ โดยนำมาตัด บดสับ เผาให้พลังงาน “ เมธา เสนทอง ผู้ประสานงานเครือข่ายสังคมลดขยะเล่าที่มาโครงการฯ  

ขยะที่ไม่มีราคาก่อนไปแปรรูปที่จุดพระราม 9 หน้าบ้านจิตอาสา

 

          เมธา บอกว่า เริ่มแรกชาว กทม. กว่า  340 บ้าน ที่แยกขยะกำพร้า รวมกลุ่มไลน์ นัดหมายการส่งขยะกำพร้าแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง มีผู้อาสาให้ใช้พื้นที่บ้านเขตพระราม 9 ซอย 41 ทดลองทำเป็นจุดไดร์ฟทรู ออกจากบ้านอยู่แล้วก็แวะเอาขยะมาหย่อน  ส่วนสมาชิกในกลุ่มที่ไกลจากพระราม 9 นัดหมายรวมขยะระหว่างทางเพื่อประหยัดการขนส่งขยะเหมือนการผูกปิ่นโต  จัดกิจกรรม 2 ครั้งได้ขยะกำพร้า 7 ตัน โดยมีทางบริษัท N15 Technology  ร่วมมือรับภาระด้านค่าขนส่ง ส่งต่อเตาเผาปูนซีเมนต์

         ใครที่สงสัยส่งขยะกำพร้าได้ที่ไหนบ้าง เวลานี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจ.นนทบุรี มี  7 จุดส่งขยะกำพร้าแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะที่ขับไปส่งเองได้เลย 3 จุดแรกมีเวลามาตรฐาน ได้แก่ สยามพารากอน บริเวณจุดจอดรถทัวร์ ชั้น G ฝั่ง North ทุกวันเสาร์แรกของเดือน เวลา 10.00-14.00 น. จุดนี้บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มารับส่งต่อแปรรูปเชื้อเพลิงขยะโรงปูนซีเมนต์และโรงไฟฟ้า  ,วงษ์พาณิชย์ สาขาฉลองกรุง เขตหนองจอก ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ และวงษ์พาณิชย์ สาขาสุวรรณภูมิ เขตลาดกระบัง ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ

             4 จุดรับฝากที่เหลือ เป็นระบบนัดวัน ได้แก่ พระราม 9 หน้าบ้านจิตอาสา  ,บริษัท ทีวีบูรพา เขตบางกะปิ,รัตนาธิเบศร์ บางกระสอ และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ( PIM DRIVE THRU)  ปากเกร็ด ซึ่งต้องติดตามประกาศทางเพจรักษ์กันคนละนิด a little bit caring  ก่อนขับรถไปส่งขยะกำพร้า

จุดไดร์ฟทรูวงษ์พาณิชย์ สาขาสุวรรณภูมิ แวะไปได้

 

          จากข้อมูลของ Less Plastic Thailand แต่ละจุดช่วยลดขยะฝังกลบ โดยนำขยะกำพร้าไปแปรรูปได้มากกว่า  8,779 กิโลกรัมแล้ว (ไม่รวมปริมาณขยะกำพร้าที่วงษ์พาณิชย์ )

            “ ไดร์ฟทรูเหมาะกับยุคโควิด ไม่มีการรวมตัว ใช้เวลานิดเดียว ขับมา เปิดท้าย แล้ววนออก ไม่ต้องลงจากรถ จุดที่นัดวันล่วงหน้า จะมีจิตอาสามดงานช่วยขนขยะกำพร้าลงจากรถ แล้วขับออกไป  เลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการติดโรค ถ้าไม่อยากให้ขยะล้นบ้าน และไม่เหลือบ่ากว่าแรง อยากชวนขับรถมาหย่อนตามจุดไดร์ฟทรูกันมากๆ “ เมธา ฝากคนกรุงร่วมรักษ์โลก   

              ถ้าเป็นไปได้ เขาระบุอยากให้มีจุดไดร์ฟทรูแบบนี้ 50 เขต กทม. ก่อนหน้านี้ ได้หารือกับ กทม. ทราบว่า มีการทำเชื้อเพลิง RDF ที่อ่อนนุช แต่ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถให้ชาว กทม.ไปส่งขยะกำพร้าโรงแยกขยะอ่อนนุชโดยตรง หรือเปิดจุดรับจากบุคคลภายนอก  ส่วนเด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งคิดว่า แยกยะแล้วก็รวมกันอยู่ดี การสอนที่โรงเรียนไม่ทำให้เกิดพฤติกรรมลดขยะและคัดแยกขยะ ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ทำให้เป็นตัวอย่าง

          “ การแก้ปัญหาขยะหลัก 3R ถือเป็นหัวใจสำคัญ Reduce ลดการใช้ขยะที่จะเกิดขึ้น ใช้ของให้ประหยัดที่สุด Reuse ใช้ซ้ำ เพื่อหน่วงเวลาการกลายเป็นขยะให้นานที่สุด  และ Recycle รีไซเคิล นำขยะไปเปลี่ยนสภาพและกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งไทยรีไซเคิลขยะน้อยมาก เพราะขาดระบบศูนย์กลางที่ครบวงจร  แล้วก็ไม่มีระบบซาเล้งที่มาช่วยคัดแยกขยะ “ เมธา บอก

สยามพารากอนจุดไดร์ฟทรูขยะกำพร้าใจกลางเมือง

 

          ตามแผนยังเตรียมเพิ่มจุดรับขยะให้คนกรุงฯ และปริมณฑลสามารถนำขยะกำพร้าติดรถไประหว่างทางขับไปหย่อนจุดไดร์ฟทรูในเส้นทางผ่าน  และจะผลักดันให้เป็นจุดรับแบบเวลามาตรฐานแทนการรับครั้งต่อครั้ง รวมถึงปรับเป็นจุดรับวัสดุบรรจุภัณฑ์สะอาดที่ไม่ใช้แล้ว    และมีรายได้หมุนเวียนจากขยะรีไซเคิล ใช้เป็นค่าขนส่งขยะหรือดูแลพื้นที่  

           นอกจาก กทม.แล้ว ยังมีเปิดจุดไดรฟ์ทรูในต่างจังหวัด ภาคกลาง ถ้าสนใจส่งขยะกำพร้าไปไดร์ฟทรูส่งได้ที่นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง จ.อยุธยา  ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ ภาคตะวันออก ขับไปได้ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี  ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง  โครงการฯ ฝันให้เกิดจุดไดร์ฟทรูอย่างน้อยภูมิภาคละ 1 จังหวัด  ภาคเหนือมีแผนเปิดที่ จ.น่าน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภาครัฐ ลดค่าขนส่ง แต่ได้ขยะมีคุณภาพสำหรับทำเชื้อเพลิงขยะแห้ง

             ผู้ประสานงานเครือข่ายสังคมลดขยะมีข้อเสนอเรื่องความร่วมมือด้วยว่า จะสามารถจัดทำจุดรับขยะแบบไดร์ฟทรู ร่วมกับเขต ซึ่ง กทม. มีกิจกรรมนัดทิ้งนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ทุกวันอาทิตย์ สามารถใช้จุดรับขยะชิ้นใหญ่ของเขต  หรือใช้เป็นระบบวันนัดรับขยะชิ้นใหญ่เพื่อรวมขยะ รวมถึงปรับการจัดเก็บขยะของรถขยะ กำหนดวันนัดส่งขยะกำพร้า  กทม.ควรรับขยะกำพร้า ซึ่งเป็นขยะแห้งชั้นดี ส่งต่อโรงงาน RDF อ่อนนุช แทนการฝังกลบ

           ส่วนเทศบาลไหนอยากได้ความร่วมมือจากประชาชนในการแยกขยะแห้งชั้นดี และพร้อมเปิดสถานที่ไดร์ฟทรู ก็สามารถประสานมาได้ ระยะต่อไปอาจจะหาพันธมิตรกับตลาด ห้างสรรพสินค้า  วัด อาคาร ร่วมจัดจุดรับขยะกำพร้า

           ข้อเสนอต่อมาประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือแยกขยะเป็น 3 กลุ่ม คือ ขยะพลาสติกแข็ง ขยะพลาสติกอ่อน และขยะกำพร้า RDF    เพื่อส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่เหมาะสมต่อไป

ไดร์ฟทรู RDF เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานที่ทุกคนทำได้

 

           ตอนนี้เชื่อว่า หลายคนหมดกังวลเรื่องการหาช่องทางให้ขยะที่แยกแล้ว แต่ไม่รู้จะไปส่งทำประโยชน์ที่ไหน ก็แวะไดร์ฟทรูใกล้บ้านได้ แต่ไม่ใช่ขยะกำพร้าทุกอย่างเป็นเชื้อเพลิงได้ ขยะบางประเภทเป็นกำพร้า แต่ไม่สามารถนำไปทำเชื้อเพลิง RDF เพราะว่าเผาไม่ได้ อย่างพวกแก้ว เซรามิค กระเบื้อง โลหะ ลวด สังกะสี  ส่วนไวนิล สายยาง พีวีซี วัสดุเหล่านี้เผาแล้วเกิดมลพิษทางอากาศ แถมทำลายเตาด้วย 

             สำหรับขยะสายไฟ แผงวงจร ให้แยกกำจัดแบบเดียวกับขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตอนนี้โควิดระบาดยังมีขยะติดเชื้อทั้งหน้ากากอนามัย ชุดตรวจ ATK ชุดพีพีอี เพิ่มมากขึ้น อย่าเผลอส่งขยะติดเชื้อรวมไปด้วยแม้จะเผาได้ แต่ก็ไม่ปลอดภัย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของคนและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องฝากทุกคนอย่าเผลอให้ข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างกลายเป็นขยะกำพร้า แล้วใช้ไม่คุ้มค่า ไม่ยอมคัดแยกขยะที่ยังมีโอกาสรีไซเคิลได้ออก แต่ถ้าไร้ค่าจริงๆ ออกจากบ้านเมื่อไหร่ ผ่านไปก็แวะไดร์ฟทรูมาหย่อนขยะกันได้ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"