พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปฏิเสธสมบูรณาญาสิทธิราชย์


เพิ่มเพื่อน    


(ข้อเขียนนี้เป็นตอนที่หกต่อจากตอนแรก “การซุบซิบ ข่าวลือ ข่าวลวงและเสรีภาพ” และตอนที่สอง “พ.ศ. 2408:  มีคนปล่อยข่าวลือว่ารัชกาลที่สี่เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และตอนที่สาม “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอำนาจมากแค่ไหน ?”  ตอนที่สี่ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชทรัพย์มากแค่ไหน ?”  และตอนที่ห้า “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปฏิเสธสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้)    
                    
จากตอนที่แล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาปฏิเสธการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจน มาตอนนี้ จะนำข้อมูลประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของพระองค์ ที่สามารถนำมาเป็นเหตุผลแวดล้อมสนับสนุนว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงต้องการปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์        
                    
เหตุผลแวดล้อมที่สามารถนำมาสนับสนุนว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงต้องการปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือ ความรู้ประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษที่เป็นบทเรียนให้กับพระมหากษัตริย์ที่ไม่ตระหนักถึงภยันตรายของการมีพระราชอำนาจอันไม่จำกัดอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 


แม้ว่าจะไม่ปรากฎเป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงรับรู้เกี่ยวกับวิกฤตการเมืองในเหตุการณ์ต่างๆที่เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการของการปกครองของอังกฤษ ที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางอภิชนกับพระมหากษัตริย์ 


วิกฤตการเมืองครั้งสำคัญมีอยู่สามเหตุการณ์ ได้แก่             
            
หนึ่ง กรณีการเกิดมหากฎบัตรหรือ “Magna Carta” ในปี ค.ศ. 1215  
                
สอง สงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1642-1649  ที่ลงเอยด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา และมีการพิพากษาสำเร็จโทษโดยการบั่นพระเศียรพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่ง ทำให้สิ้นสุดสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีอันล่มสลายไปหนึ่งทศวรรษ และฟื้นฟูกลับขึ้นมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1660     
        
สาม การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในช่วง ค.ศ. 1688/1689 ที่ฝ่ายรัฐสภากดดันให้พระเจ้าเจมส์ที่สองสละราชสมบัติ และลงมติให้พระราชธิดาของพระเจ้าเจมส์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินี 
    


การลดทอนพระราชอำนาจกษัตริย์โดยรัฐสภาอังกฤษ

เหตุการณ์ทั้งสามนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการทางการเมืองของอังกฤษที่นำไปสู่การจำกัดพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์โดยรัฐสภา โดยพระมหากษัตริย์ทรงต้องใช้อำนาจร่วมกับเสนาบดีและรัฐสภา 
แต่เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์ในปี พ.ศ. 2408  หมอบรัดเลย์เริ่มตีพิมพ์ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของอังกฤษเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2408  อันเป็นช่วงปลายรัชกาลที่สี่ ภายใต้หัวข้อ “พงศาวดาร บท 3”  
                            
หมอบรัดเลย์ได้กล่าวถึงมหากฎบัตรหรือ “Magna Carta” ที่พวกขุนนางบังคับให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยยอมรับการลดทอนพระราชอำนาจตามอำเภอใจต่อขุนนางและราษฎรในศตวรรษที่สิบสาม 
และยังได้กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์ในศตวรรษที่สิบเจ็ด โดยมีข้อความว่า                 
                        
“อนึ่ง พวกขุนนางในประเทศอังกฤษเคยประชุมปฤกษาราชการ, แลเมื่อประชุมอยู่, พวกนั้นได้ชื่อว่าพาเลเม็ดๆกับชาลิซ์เจ้าแผ่นดินอังกฤษปฤกษาหาเห็นพร้อมกันไม่. ชาลิซ์จึ่งให้ขุนนางเหล่านั้นเลิกกลับไปบ้านเสีย, เปนดังนี้หลายครั้งหลายหน, ด้วยขุนนางเหล่านั้นไม่ใคร่จะเกรงกลัวถือตัวว่าเปนใหญ่, พระเจ้าแผ่นดินทรงอย่างไร, พวกพาเลเม็นต์นั้นมักขัดขวางไม่ใคร่จะยอม, พวกพาเลเม็นต์นั้นมักขัดขวางไม่ใคร่จะยอม. การเหล่านี้ก็กำเริบขึ้นทีละน้อยๆ, จนขุนนางแลไพร่พลเมืองแตกกันเป็นสองฝ่าย.  ฝ่ายหนึ่งเข้าข้างพวกพาเลเม็ด. ฝ่ายหนึ่งเปนฝ่ายเจ้าแผ่นดินแก่งแย่งไม่เข้ากัน. ขยับจะเกิดศึกในเมือง..”      
    

นั่นคือ ฝ่ายรัฐสภา (พาเลเม็นต์) ขัดแย้งกับพระมหากษัตริย์ ขุนนางและราษฎรแตกเป็นสองฝ่ายจนนำไปสู่สงครามกลางเมือง และเมื่อฝ่ายรัฐสภาได้ชัยชนะและนำพระมหากษัตริย์เข้าสู่การพิจารณาคดี และหมอบรัดเลย์กล่าวว่ามีการ “ปรึกษาโทษ ว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน แกล้งใส่ความเอาเปล่าๆหลายข้อ ชำระอยู่สามวัน ไม่ได้จริง ก็ให้เอาไปตัดศีรษะเสีย”          
                
หลังจากนั้น อังกฤษยังได้เข้าสู่การปกครองระบอบใหม่ภายใต้โอลิเวอร์ ครอมเวลที่หมอบรัดเลย์กล่าวว่า “มีอำนาจยศศักดิ์คล้ายพระเจ้าแผ่นดิน”   หลังจากโอลิเวอร์ ครอมเวลเสียชีวิตลง ไม่มีใครมีอำนาจปกครอง มีการแข่งกันเป็นใหญ่  “ราษฎรทั้งปวงเห็นว่าพวกนั้นเป็นคนโกง ก็พร้อมใจกันเข้าเป็นกองทัพใหญ่ ขับไล่กำจัดพวกนั้นเสีย มิให้มาตั้งตนเป็นใหญ่ได้”  และมีการฟื้นฟูการปกครองภายใต้พระมหากษัตริย์กลับคืนมาด้วยความปิติยินดีของราษฎร                                      


หนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์

จากข้อความข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการที่เหล่าขุนนางให้มีการตรากฎบัตร “Magna Carta” ลดทอนไม่ให้พระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจตามอำเภอใจ  การเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับฝ่ายพระมหากษัตริย์และลงเอยด้วยการที่เหล่าขุนนางนำตัวพระมหากษัตริย์มาพิพากษาและสำเร็จโทษทั้งๆที่ไม่สามารถพิสูจน์ความผิดได้   และบ้านเมืองไม่ได้มีพระมหากษัตริย์ปกครอง   เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมจะต้องเป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านหนังสือพิมพ์ของหมอบรัดเลย์  บ้างอาจจะรู้สึกสะพรึงกลัวน่าตกใจ หรืออาจจะรู้สึกเทียบเคียงอำนาจขุนนางอังกฤษกับอำนาจของขุนนางสยาม   แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของการเมืองอังกฤษก็กลับมาลงเอยมีการปกครองโดยพระมหากษัตริย์อีกในที่สุด    
        
และต่อมาช่วงปี ค.ศ. 1688-1689 เมื่อรัฐสภามีความขัดแย้งในประเด็นศาสนากับพระเจ้าเจมส์ รัฐสภาสามารถมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสามารถเปลี่ยนตัวพระมหากษัตริย์ได้     

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ซื้อหนังสือพิมพ์ดังกล่าว    จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่พระองค์จะทรงรับรู้เหตุการณ์เหล่านี้และตระหนักถึงอันตรายของการเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระราชอำนาจไม่จำกัด พระองค์ทรงยอมรับสภาพที่กลุ่มขุนนางตระกูลบุนนาคครองอำนาจนำ โดยเหตุผลสำคัญคือ พระองค์ทรงต้องการให้สยามมีการปกครองที่ยังมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ แต่มีพระราชอำนาจจำกัดและไม่มีรัฐสภา                  
                    
จากการที่ทรงอ่านประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ จดหมายเหตุฯ  ก็เป็นไปได้ว่า บทเรียนที่พระองค์ได้คือ วิวัฒนาการการเติบโตของอำนาจของพวกขุนนางในรูปของรัฐสภาหรือ “พาเลเมนต์” ในการทัดทานและลดทอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐสภาจนถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองและสำเร็จโทษพระมหากษัตริย์อย่างในกรณีของพระเจ้าชาร์ลสที่หนึ่งหรือต้องสละราชบัลลังก์ไปอย่างในกรณีของพระเจ้าเจมส์  
        
ดังนั้น ในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ พระองค์น่าจะทรงระมัดระวังไม่ให้เกิดการใช้พระราชอำนาจอย่างเกินเลย  ดังที่พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาแสดงให้เห็นว่าไม่ทรงโปรดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหนทางที่จะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้คือ การปกครองราชาธิปไตยที่อำนาจจำกัดตามการปกครองของอังกฤษ แต่พระองค์ยังไม่ทรงมีพระราชดำริที่จะให้มีรัฐสภาขึ้น                     
                        
ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังปรากฏข้อความที่แสดงถึงความรู้เกี่ยวกับกลไกและสถาบันทางการเมืองในระบอบการเมืองในโลกตะวันตกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน โดยในปี พ.ศ. 2408  ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมีความตอนหนึ่งว่า  “...เชื่อว่าปาลิยาแมน (รัฐสภา) ในนอกแลอินเตอรนาแชนนาลลอสอไสยิตี้ จะคิดการแลพิพากษาสิ่งใดก็ล้วนเป็นยุติธรรมดี ทุกประการ...” 
                    
ข้อความดังกล่าวย่อมสะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงกลไกการทํางานและความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และรัฐสภาอังกฤษในขณะนั้น (ค.ศ. 1865) ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์อังกฤษคือสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทํางานและใช้อํานาจร่วมกันกับเหล่าเสนาบดีในสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่ารัฐสภาหรือ “ปาลิยาแมน” (Parliament) โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวคือการปกครองที่เรียกว่าเป็น Queen/King-in-Parliament ที่ซึ่งพระมหากษัตริย์กับรัฐสภาใช้อํานาจในการตัดสินใจต่าง ๆในแต่ละขั้นตอน                      
                
นอกจากนี้ข้อความดังกล่าวยังสะท้อนว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประเมินสถานะและความมั่นคงอันเกิดขึ้นจากการจัดการปกครอง ตามลักษณะดังกล่าวของอังกฤษที่ได้ผ่านยุคส่องสว่างทางปัญญา (The Enlightenment) ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอันจำกัดจากการที่ต้องใช้อำนาจร่วมกับเหล่าเสนาบดีและรัฐสภาที่มีความลงตัวและก่อให้เกิดเสถียรภาพมาช้านานแล้วอีกด้วย                                                    
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุต

และที่น่าสนใจคือ   การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองอย่างสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นอกจากในความเป็นจริง พระองค์จะไม่ได้มีอำนาจอันไม่จำกัดแล้ว พระองค์ดูจะทรงไม่เห็นด้วยกับการมีภาพลักษณ์ของการเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีสมบูรณาญาสิทธิ์ด้วย  ดังที่ได้กล่าวไปในตอนที่แล้ว พระองค์จะทรงพอพระทัยที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจอันจำกัด ดังที่พระองค์ทรงโปรดให้ที่ประชุมเสนาบดีและพระราชวงศ์มีอำนาจในการเลือกผู้สืบราชสันตติวงศ์และโปรดให้มีพระปรมาภิไธยในพระบรมสุพรรณบัฏว่า “เอนกชนนิกรสโมสรสมมุติ”       


และน่าคิดว่า พระมหากษัตริย์ต่อจากพระองค์ จะมีพระองค์ไหนที่อยากจะเป็นพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ?

(แต่พระองค์มิได้ทรงทราบว่าหลังจากสวรรคต  แม้แต่การตั้งวังหน้าที่เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้ใช้อำนาจอิทธิพลเปลี่ยนให้เป็นอำนาจของที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีที่อยู่ใต้อิทธิพลของเขา)

----------------------

(แหล่งอ้างอิง: หนังสือจดหมายเหตุ Vol. 1 เล่ม ๑ บางกอก เดือนสิบเอ็ด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๗ Oct. 5th 1865 กฤษศักราช ๑๘๖๕, ใบที่ ๑๕ No. 15;  “ฉบับที่ 35 พระราชสาส์น เรื่องกงสุลที่จะมาแทนเซอรอเบิตส จอมเบิค เมื่อปีชวด พ.ศ. 2408”   รวมพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี วันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2547)
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"