แผนพัฒนาฉบับ13พลิกโฉมประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

“ประยุทธ์” เปิดงานประชุมสภาพัฒน์ แผนพัฒนาฯ ฉบับ 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย “ดนุชา” เผยเป็นแผนที่มีภารกิจชัดเจนต่างจาก 12 ฉบับที่ผ่านมา เตรียมรับฟังความคิดเห็น ต.ค.64-ม.ค.65 รับโควิดทำให้ไทยต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ “วิรไท” แนะ  7 ข้อเสนอที่ต้องแก้โดยเฉพาะรัฐราชการ
    เมื่อวันพุธที่ 22 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมประจำปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในหัวข้อ  “Mission to Transform : 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย” ณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จะประกาศใช้ในปี พ.ศ.2566-2570 
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกฯ  กล่าวว่า นายกฯ ได้กล่าวถึงแผนพัฒนาฯ13 กับการทำงานของรัฐบาลเพื่อพลิกโฉมประเทศว่า มีเป้าหมายสำคัญทั้งหมด 5 ประการ คือ 1.ปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม 2.พัฒนาคนให้มีความสามารถและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ 3.สร้างสังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม 4.สร้างความยั่งยืนให้ประเทศ และ 5.การเตรียมความพร้อมให้ประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่
“นายกฯ ย้ำว่าการพลิกโฉมประเทศไทยภายใต้แผนพัฒนาฯ 13 เป็นการทำงานที่มีความท้าทาย โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ภารกิจในการพลิกโฉมประเทศประสบความสำเร็จไม่ได้มาจากแผนพัฒนาฯ เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดียิ่งๆ  ขึ้นไป เพื่อร่วมก้าวสู่โฉมหน้าใหม่ของประเทศไทย พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” นายธนกรระบุ
    ด้านนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวในที่ประชุมในรูปแบบออนไลน์ว่า สภาพัฒน์อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะไม่เหมือนแผนเดิมๆ ที่ผ่านมา  โดยจะมีการกำหนดภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้าอย่างชัดเจน ประเทศไทยต้องพัฒนาสร้างภูมิคุ้มกัน สร้างภูมิต้านทานเพื่อรองรับความเสี่ยงหรือวิกฤตที่รุนแรงกว่าโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไทยอาจจะล้มได้แต่ต้องลุกไว ก้าวไปข้างหน้าให้เร็ว เน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การบริการ ชุมชน เอสเอ็มอี ควบคู่กับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและนำการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ามาร่วมด้วย
    “ไทยถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างอีกครั้ง หลังจาก  30 ปีที่ผ่านมาปรับจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม และปี 2564 มีการขยายภาคท่องเที่ยวและบริการเพิ่มขึ้น โดย ณ วันนี้สิ่งที่ไทยต้องเผชิญและผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีสังคมที่เป็นธรรม คนไทยมีศักยภาพสูงขึ้น มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ ต.ค. 64-ม.ค.65 และในช่วง ก.พ.-ก.ย.65 จะเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาได้พิจารณา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศใช้ในเดือน ต.ค.65” นายดนุชากล่าว
    นายดนุชายอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้เกิดผลกระทบค่อนข้างมากต่อการพัฒนาประเทศ แต่ก็กลายเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือปัญหาดิสรัปชันในหลายส่วน ทำให้รู้ว่าแรงงานนอกระบบของไทยมีความอ่อนไหวสูงกับวิกฤต หลังจากนี้จึงจำเป็นต้องมีการสร้างหลักประกันทางสังคมเพิ่มมากขึ้น โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปหลังโควิด-19 คลี่คลายจะเป็นรูปแบบ K Shape บางอุตสาหกรรมจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่บางอุตสาหกรรมจะรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดี โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการ คนยากจนในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มผู้ว่างงานระยะยาวจะสูงขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะมีข้อจำกัด เนื่องจากภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจได้ไม่เต็มที่  ทำให้มีข้อจำกัดทางการคลังพอสมควรในการพัฒนาประเทศในระยะถัดไป
    “ไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากขึ้น เศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้น ทำให้เส้นแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศหายไป ความขัดแย้งด้านสงครามการค้าที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เรื่องสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้ในการกีดกันทางการค้ามากขึ้น เหล่านี้ถือเป็นโอกาสและความเสี่ยงกับประเทศไทย และถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้องมีการปรับตัว” นายดนุพันธ์กล่าวและว่า  การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะมีผลกับแรงงานในระบบ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างรายได้ที่ลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง การแก้กฎหมายที่ล่าช้าและไม่สอดรับกับทิศทางในอนาคต อาจกลายเป็นข้อจำกัดให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงได้
    สำหรับหมุดหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่  13 หวังจะครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ได้แก่ 1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย มุ่งเน้นสร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป, ยกระดับการท่องเที่ยว, สนับสนุนผู้ประกอบการเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า, สร้างมูลค่าจากสินค้าและบริการสุขภาพ, ยกระดับบทบาทของไทยในห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค และผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัล 2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย พัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีสู่ยุคดิจิทัล,  สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก, แก้ไขปัญหาความยากจน 3.มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และสร้างความสามารถในการรับมือกับภัยธรรมชาติ 4.มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ  ประกอบด้วย สนับสนุนให้คนทุกช่วงวัยมีโอกาสพัฒนาทักษะอย่างเต็มศักยภาพ และยกระดับภาครัฐให้มีสมรรถนะสูงและคล่องตัว
    ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานว่า ระยะเวลาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 จะเห็นบริบทการเปลี่ยนของโลกที่สำคัญที่เรียกว่า VUCA ทั้งความผันผวน ความไม่แน่นอน ความซับซ้อน และความคลุมเครือสูง เศรษฐกิจภาคสังคมที่เคยทำจะย้ายไปทำอุตสาหกรรมแบบใหม่ และโลกที่ผ่านมาก็เป็น VUCA มากขึ้น โดยเฉพาะวิกฤตโควิดที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนกระทบวงกว้างของโลก แต่ในระยะข้างหน้าจะยิ่งมีความเป็น VUCA มากขึ้น ในการตั้งรับและเตรียมพร้อม การเปลี่ยนแปลงจะมากและรุนแรงกว่าเดิม ซับซ้อน ไม่แน่นอน เราต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี 
     สำหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไทยต้องเร่งแก้ไข  7 ข้อหลักให้ได้ เพื่อหลีกหนีจากจุดหักเหหรืออันตราย  โดย 7 ข้อที่ต้องเร่งแก้ คือ 1.ขนาดของภาครัฐที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็จะทำให้เบียดบังงบอื่น และหากขนาดใหญ่โตการแก้ไขปัญหาจะยากมากขึ้น 2.แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน 3.ความสามารถในการแข่งขันของไทยในหลายผลิตภัณฑ์ ที่ต้องระวังไม่ให้หลุดจากห่วงโซ่มูลค่า 4.ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่น ซึ่งจะทำอย่างไรให้ความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่นมีทางเบาบางลง ทำอย่างไรให้มองอนาคตประเทศร่วมกัน และมองเห็นจุดร่วมกันที่จะพัฒนาต่อยอด  5.คุณภาพของระบบการศึกษาไทย ที่จะต้องเร่งยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 6.ความสามารถในการใช้ ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ และ 7.การแก้ปัญหาการคอร์รัปชัน 
“คอร์รัปชันเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก แต่สถานการณ์คอร์รัปชันยังเป็นเรื่องที่มองว่ารุนแรงมากในประเทศไทยและมีหลายระดับมาก จะต้องไม่ทำให้คอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติในสังคม ซึ่งจะส่งผลให้คนเก่งไม่มีที่ยืน แข่งขันไม่ได้อย่างเป็นธรรม” นายวิรไทระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"