ไทยจะสร้าง Soft Power เอง ต้องรื้อกฎกติกาอะไรบ้าง?


เพิ่มเพื่อน    

พอเกิดกระแสของ “ลิซ่า” (ลลิษา มโนบาล) แห่งวง Blackpink ของเกาหลีใต้ก็มีการพูดเรื่อง Soft Power ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ
    แต่เรื่องของ Soft Power ของไทยไม่ใช่เพียงแค่การ “โหนกระแส” ของคนไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก
    หากแต่ต้องเป็นผลผลิตในด้านการสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ ที่สะท้อนถึงนวัตกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรมของไทยเอง
    นั่นหมายถึงการที่ต้องมียุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง รวมไปถึงการตั้งงบประมาณ, การจัดบุคลากร และการให้เอกชนได้มีบทบาทที่คึกคัก
    ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ mindset ที้ต้องเปิดกว้างและพร้อมจะตามให้ทันแนวโน้มของโลก
    โดยเฉพาะในโลกยุคดิจิทัลที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไม่หยุดยั้งตลอดเวลา
    หากระบบราชการไทยยังเป็นเช่นที่เป็นอยู่ หากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น การเอ่ยอ้างถึง Soft Power ก็คือเป็นเพียงการเขียนอยู่บนกระดาษเท่านั้น
    มิอาจจะนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างจริงจัง
    คนไทยที่มีศักยภาพที่จะสร้างชื่อเสียงในด้านศิลปวัฒนธรรมไม่แพ้ใครในภูมิภาคนี้
    “ของดี” ของไทยทั้งที่เป็นมรดกตกทอดมาและที่สรรค์สร้างขึ้นใหม่ก็มีหลากหลาย
    แต่ที่ผ่านมานั้น ต่างชาติชื่นชมไทยในด้านนี้ส่วนใหญ่เป็นการดิ้นรนต่อสู้และแสวงหาของคนไทยกันเอง
    ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางการเท่าไหร่นัก
    นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการไทยแล้ว บ่อยครั้งคนไทยที่มีศักยภาพเช่นนี้ยังถูกขัดขวางและสกัดกั้นด้วยความคิดที่คับแคบ, ตื้นเขินและคร่ำครึ
    ด้วยเหตุนี้ ผลงานที่โดดเด่นของไทยไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปวัฒนธรรม, งานสร้างสรรค์หรือผลงานวิจัยที่ดีๆ อาจจะต้องไปสร้างการยอมรับในต่างประเทศก่อนแล้วจึงจะเป็นที่ยอมรับของคนไทยเอง
    เพราะทัศนคติที่ “ด้อยค่า” คนไทยด้วยกันเอง
    และเพราะกฎกติกาทางราชการของไทยไม่เอื้อต่อการที่จะทำให้เมล็ดพันธุ์ดีๆ นั้นเติบโตในประเทศได้
    นั่นก็เป็นเพราะ “สภาพแวดล้อม” หรือ eco-system ของไทยไม่เป็นแหล่งเพาะชำที่สนับสนุนให้เกิดการทดลองและลองผิดลองถูกเพื่อบรรลุเป้าหมาย “ความเป็นเลิศ”
    อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Joseph Nye เคยเขียนหนังสือเรื่อง Soft Power นี้ไว้อย่างน่าสนใจ
    แกบอกว่าพลังแห่งการน้าวโน้มที่เรียกว่า Soft Power นั้นมีลักษณะสำคัญคือการที่ทำให้คนอื่นชื่นชอบเลื่อมใสและลุ่มหลงด้วยการเชิญชวน มิใช่ด้วยการบังคับให้ต้องชอบหรือเกาะติด
    แกใช้คำว่า co-opt แทนที่จะเป็น coerce
    เพราะคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ Soft Power นั้น คือ Hard Power
    อย่างหลังนี้คือการกดดันเพื่อให้คนอื่นต้องมาเห็นพ้องหรือชื่นชอบด้วยกำลังหรือบังคับ มิใช่ด้วยการน้าวโน้มหรือปล่อยให้เป็นความรู้สึกด้านบวกโดยธรรมชาติ
    ปรากฏการณ์ Soft Power นั้นมีทั้งด้านวัฒนธรรม, การเมืองและนโยบายต่างประเทศ
    แกบอกด้วยว่าหากใช้พลังละมุนละไมเช่นว่านี้แล้ว “โฆษณาชวนเชื่อที่ดีที่สุดคือที่ไม่ใช่โฆษณาชวนเชื่อ”
    แปลว่าอย่าไปกรอกหูหรือบังคับยัดเยียดให้คนอื่นต้องเห็นคล้อยตาม
    หากแต่ต้องทำให้มีความน่าสนใจ, น่าตื่นตาตื่นใจ, น่าเลื่อมใส, น่าติดตาม
    คนไทยอาจจะรู้จัก Soft Power จากซีรีส์ละครของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ซ่อนเอาวัฒนธรรมอาหาร, การแสดงและค่านิยมของเขาไว้อย่างแนบเนียน
    ความจริง โลกตะวันตกได้ใช้ Soft Power ทางวัฒนธรรมอย่างลุ่มลึกและกว้างขวางมาแล้วในอดีตถึงแม้สมัยนั้นจะยังไม่ใช้ศัพท์แสงคำนี้
    การที่คนทั่วโลกชอบดูหนังจากฮอลลีวูด, ฟังเพลงนักร้องชื่อดังจากตะวันตก, ใส่กางเกงยีนส์, ดื่มโค้ก เป็นต้น ก็ล้วนแล้วแต่เข้าข่ายการที่คนไทยตกอยู่ใต้อิทธิพลของ Soft Power ตะวันตกแล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
    คนไทยบางคนบอกว่ากรณีของ “น้องลิซ่า” นั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นหากเธอโตในประเทศไทย
    เพราะสิ่งแวดล้อมและค่านิยมของคนไทย ครอบครัวไทย และผู้บริโภคไทยจะไม่ยอมรับความสามารถของเธอตั้งแต่แรกก็ได้
    พ่อแม่ไทยสักกี่คนจะยอมให้ลูกวัย 14 ขวบไปอยู่ต่างประเทศและต้องเผชิญกับการแข่งขันกับเด็กจากทั่วโลกอีกเป็นร้อย และต้องซ้อมหนักตลอดเวลาตั้งแต่เช้ายันค่ำ
    หรือวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่เอื้อต่อการสร้างเด็กไทยให้มีชื่อดังระดับโลกอย่างที่สังคมเกาหลีใต้ทำได้?
    ทั้งหมดนี้เป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบให้ได้เสียก่อนจึงจะเสาะแสวงหาทางสร้าง Soft Power ของไทยในเวทีสากลอย่างจริงจัง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"