ไทยได้บทเรียนอะไรจาก กรณีวิกฤต Evergrande?


เพิ่มเพื่อน    

แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับหนี้สินมโหฬารของ Evergrande หรือ “เหิงต้า” อันเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของจีนจะเบาบางลงเมื่อมีการทำข้อตกลงอะไรบางอย่างกับเจ้าหนี้ แต่สำหรับไทยแล้วก็มี “บทเรียน” หลายข้อที่ควรแก่การศึกษาและนำมาปฏิบัติเพื่อป้องกันเหตุร้ายอันไม่พึงประสงค์ได้
    วันก่อนผมคุยกับ ดร.ดอน นาครทรรพ, ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องนี้ได้รับทราบถึงแนวทางวิเคราะห์ในแง่มุมของไทยที่น่าสนใจ
    คุณดอนบอกว่าเมื่อเกิดเรื่อง “เหิงต้า” ของจีน สิ่งแรกที่คิดถึงไม่ใช่วิกฤต Sub-Prime ของสหรัฐ เมื่อปี 2008 แต่ส่วนตัวกลับนึกถึงเมืองไทย
    “เมื่อปี 2538 เคส default แรกของไทยมาจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อ “สมประสงค์แลนด์” ที่ผิดนัดชำระหนี้และเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ จนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540”
    ตอนที่ “สมประสงค์แลนด์” เกิด default นั้น ตอนนั้นเป็น international bonds สมัยก่อนเขาเรียก Euro Convertible Debentures ออกเป็น US dollar เป็นกรณีแรกของประเทศ
    “ตั้งแต่นั้นตลาดหุ้นก็ร่วง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็หดตัว บริษัทที่จ่ายหนี้ไม่ได้ก็ล้มละลายกันต่อเนื่อง แต่ก็ประวิงเวลาไปได้เกือบสองปี สุดท้ายก็กลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง”
    ตอนนั้นอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ คนเริ่มขนออกนอกประเทศ เห็นว่าไม่ไหวแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามปกป้องค่าเงินบาท สุดท้ายก็ปกป้องไม่ได้ ต้องปล่อยลอยตัว
    แต่เมื่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลต่างประเทศ ก็มีผลกระทบกับแบงก์และสถาบันการเงินไปหมด
    บทเรียนสำคัญสำหรับไทยคือ “วิกฤตการเงินนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากวงการการเงินก่อนเสมอไป หากแต่อาจจะลามมาจากวิกฤตในวงการอื่นที่มากระทบสถาบันการเงินจนกลายเป็นวิกฤตของตนเองได้
    ดร.ดอนมองว่า “โควิด-19” เป็นหนึ่งปัจจัยที่มาช่วยทำให้อะไรๆ ที่เคยดูสวยหรูเริ่มกลับมาสู่ความเป็นจริงที่น่าเจ็บปวด
    นั่นคือ “ไม่มีอะไรที่จะขยายตัวไปได้โดยไม่มีขีดจำกัด”
    เป็นที่รู้กันว่า Evergrande ซึ่งก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีอันดับ 12 ของจีน สวี เจียหยิ่น เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มียอดขายสูงสุดเป็นลำดับสองของจีน 
    มีโครงการกว่า 1,300 โครงการ ใน 280 เมือง 
    และเป็นบริษัทเอกชนที่ได้ชื่อว่ามีหนี้มากที่สุดในโลกที่ 1.97 ล้านล้านหยวน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 10 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันที่ประมาณ 9 ล้านล้านบาทอีก
    การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางจีน แม้จะช่วยให้ตลาดการเงินจีนสามารถทำหน้าที่ต่อเนื่องเป็นปกติ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือความสามารถในการชำระหนี้ของ Evergrande ซึ่งธุรกิจได้รับผลกระทบจากการลงทุนเกินตัวในช่วงก่อนหน้า และการเข้ามาคุมเข้มความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยธนาคารกลางจีนตั้งแต่ช่วงต้นปี
    เราคุยกันก่อนที่จะมีข่าวว่า “เหิงต้า” ได้ทำความตกลงระยะสั้นกับเจ้าหนี้บางรายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
    อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ Evergrande อยู่ที่ระดับ CC ชี้ถึงความน่าจะเป็นที่สูงมากที่บริษัทจะผิดนัดชำระหนี้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า 
    มีความเป็นไปได้ว่า Evergrande อาจจะผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ไปก่อน ที่น่าติดตามคือในท้ายที่สุดรัฐบาลจีนจะเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างเบ็ดเสร็จอย่างไร 
    ที่สำคัญคือ Evergrande เป็นบริษัทที่เรียกว่า บริษัทที่มีความสำคัญต่อระบบ (Systemically Important Corporation) 
    นั่นคือเป็นบริษัทที่ล้มแล้วจะส่งผลกระทบในวงกว้างต่อระบบสถาบันการเงินและ/หรือตลาดทุน
    แต่ ดร.ดอนบอกว่า ผลกระทบโดยตรงต่อนักลงทุนไทย หาก Evergrande มีการผิดนัดชำระหนี้นั้นมีจำกัดมาก
    เพราะผลประกอบการของบริษัทย่ำแย่มาสักพักแล้ว 
    และหุ้นกู้ของ Evergrande ก็มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับ Investment Grade มาหลายปีแล้วเช่นกัน
    กองทุนรวมของไทยจึงมีการไปลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ของ Evergrande ในมูลค่าที่น้อยมาก 
    แต่หากตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของจีนถูกเทขายรุนแรงไปด้วย กองทุนรวมหลายแห่งอาจจะได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะจีนเป็นประเทศหลักที่ไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
    “บทเรียนสำคัญจากกรณี Evergrande คือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มิใช่สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินได้” ดร.ดอนบอก
    ดังนั้นการติดตามสถานะและความเสี่ยงของบริษัทที่มีความสำคัญต่อระบบแบบ Evergrande เพื่อให้สามารถตัดไฟตั้งแต่ต้นลมได้ จึงมีความจำเป็นมากในการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน 
    ในกรณีนี้ “ผมคิดว่าทางการจีนปล่อยให้ปัญหาลุกลามใหญ่โตเกินไป”
    สำหรับประเทศไทย ดร.ดอนบอกว่า ทาง ธปท.ได้มีการติดตามและประเมินความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่มานานแล้ว 
    โดยในช่วงแรกจะเน้นบริษัทที่กู้ยืมสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก 
    แต่ในระยะหลังที่ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ก็จะรวมบริษัทที่มีการออกหุ้นกู้ในปริมาณมากด้วย
    ปัจจุบัน ธปท.มีการติดตามความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบประมาณ 30 กลุ่มบริษัท 
    โดยใช้ข้อมูลจากงบการเงิน จากสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ จากนักวิเคราะห์ รวมถึงจากการพูดคุยกับบริษัทเหล่านี้โดยตรง 
    “ข่าวดีคือ โอกาสที่กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในระยะหนึ่งปีข้างหน้ามีต่ำมาก...”
    ถ้าไม่นับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หุ้นกู้ที่ได้รับการจัดลำดับที่ออกโดยกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ Investment Grade ทั้งหมด
    นอกจากนี้พบว่า ในภาพรวม กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้ค่อนข้างดี 
    ดร.ดอนอธิบายว่า หากนึกถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแบบรูปตัว K กลุ่มบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในขาที่ชี้ขึ้นของตัว K
    อย่างไรก็ดี การที่กลุ่มบริษัทเหล่านี้ฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี หมายความว่ากลุ่มบริษัทเหล่านี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในระบบเศรษฐกิจไทย มีอำนาจการต่อรองกับสถาบันการเงินที่สูงขึ้น 
    และเป็นที่ต้องการมากขึ้นของนักลงทุน ซึ่งจะยิ่งทำให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้สามารถระดมทุนในต้นทุนที่ต่ำได้ง่ายขึ้นไปอีก
    มองในแง่ดี กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้มแข็งจะช่วยนำพาการเติบโตของประเทศ 
    แต่หากมองในแง่ร้าย อำนาจตลาดที่สูงอาจจะนำไปสู่การแข่งขันที่ลดลงและความเสียเปรียบของบริษัทเล็กบริษัทน้อยได้
    ที่สำคัญ ในแง่ของเสถียรภาพเศรษฐกิจ ถ้ากลุ่มบริษัทเหล่านี้เกิดปัญหาขึ้นมา จะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินที่รุนแรงทวีคูณขึ้นไปอีก 
    และยิ่งบริษัทใหญ่ขึ้นเท่าไร บริษัทอาจจะยิ่งระวังตัวเองน้อยลง เพราะเชื่อว่า ถ้าใหญ่ถึงระดับ Too big to fail แล้ว สุดท้ายภาครัฐก็ต้องเข้ามาอุ้ม
    การติดตามความเสี่ยงของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบ การชั่งน้ำหนักระหว่างมาตรการเพื่อจำกัด Exposure ของระบบสถาบันการเงินกับประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากการลงทุนของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ 
    และการจำกัดไม่ให้ปัญหาฐานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ถ้าเกิดขึ้นกระทบระบบการเงินในวงกว้าง 
    จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของผู้ดำเนินนโยบายในระยะต่อไป 
    “โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังโควิด-19 ที่ Disruption ของธุรกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” ดร.ดอนบอก
    นั่นแปลว่าแม้กรณี “เหิงต้า” จะหาทางออกของตัวเองได้ก็ไม่ได้แปลว่าไทยเราจะไม่เกาะติดสถานการณ์ทุกๆ ด้านที่อาจจะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินไทยจากนี้ไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"