จากอดีตทูต สู่ประธาน กสม. เร่งสร้างความเชื่อมั่นระดับสากล 


เพิ่มเพื่อน    

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดปัจจุบัน ที่มี นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ เป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อ 25 พ.ค.2564 และต่อมา กสม.ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อ 31 พ.ค.2564 โดยนับถึงตอนนี้ กสม.ที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ปฏิบัติหน้าที่มาแล้วร่วม 4 เดือน ท่ามกลางการจับตามองของหลายฝ่ายไม่น้อย โดยเฉพาะท่าทีของ กสม.ต่อประเด็นทางการเมืองและสังคมที่ค่อนข้างอ่อนไหว โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การเคลื่อนไหว-การชุมนุมทางการเมือง

            เห็นได้จากหลัง กสม.ส่งตัวแทนลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การชุมนุมทางการเมืองของเครือข่ายกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่ม REDEM บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2564 และต่อมาวันที่ 9 ส.ค.2564 กสม.ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง การสังเกตการณ์การชุมนุม 7 สิงหาคม 2564 ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาจากหลายฝ่ายถึงท่าทีดังกล่าวของ กสม.พอสมควร เป็นต้น

            ระหว่างการสัมภาษณ์พิเศษ นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตลูกหม้อของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มามากมาย อาทิ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ และตำแหน่งสุดท้ายคือ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เราได้ถามถึงข้อเสนอการหาทางออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง รวมถึงความคืบหน้าการเตรียมออกรายงานการตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองของ กสม. ซึ่งที่ผ่านมาเวลา กสม.ชุดก่อนหน้านี้ออกรายงานลักษณะดังกล่าวมักจะมีเสียงวิจารณ์ เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยตามมาทุกครั้ง 

            อย่างไรก็ตาม ลำดับแรก นางสาวพรประไพ-ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงการทำงานของ กสม.ในช่วงที่ผ่านมาเกือบ 4 เดือนว่า กสม.ชุดปัจจุบันมีที่มาหลากหลาย มีทั้งอดีตข้าราชการประจำ อดีตสื่อมวลชน-นักวิชาการ-นักกฎหมายและตัวแทนจากภาคประชาสังคม ทำให้การทำงานของ กสม.มีความสมดุล เพราะมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านที่มีองค์ความรู้หลากหลาย ซึ่ง กสม.ทุกคนต่างก็มี passion อยากทำงานเพื่อประชาชน ขณะเดียวกันก็พบว่า หลัง กสม.ชุดนี้เข้ามา หลายภาคส่วนก็คาดหวังและมีเสียงสะท้อนที่จะให้ กสม.ผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น จึงยิ่งทำให้ กสม.ทุกคนต่างมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

            ประธาน กสม. กล่าวต่อไปว่า นโยบายหลักของ กสม.ชุดที่ 4 ที่วางไว้เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของ กสม.จะเน้นใน 5 แนวทางหลักๆ คือ 1.ความรวดเร็ว เป็นธรรมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะความล่าช้าในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนก็เหมือนการละเมิดในที หากล่าช้าไปก็ช่วยใครไม่ได้ เราจึงเน้นความรวดเร็วในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน     2.ส่งเสริมวัฒนธรรมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพราะที่ผ่านมาคนมักจะพูดถึงสิทธิของตนเอง โดยอาจลืมไปว่าก็ต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้อื่นด้วย เมื่อเราต้องการให้คนอื่นเคารพสิทธิเรา เราก็ต้องเคารพสิทธิของคนอื่นด้วย กสม.ก็อยากส่งเสริมวัฒนธรรมให้คนในสังคมให้ความสำคัญเรื่องสิทธิของตนเองและเคารพสิทธิของคนอื่น

            3.ต้องสร้างเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนมีหลายส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม-ภาควิชาการ-สื่อมวลชน-ภาครัฐ-ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ จึงต้องสร้างความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นการให้มีความร่วมมือกันของเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ 4.ทำให้ กสม.ได้รับความเชื่อมั่นในระดับสากล เพราะหากเขาไม่เชื่อมั่นใน กสม.จะทำให้การขับเคลื่อน-การผลักดันประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนอาจไม่มีน้ำหนัก หรือไม่มีความเข้มแข็งเพียงพอ 5.เร่งพัฒนาองค์กร กสม.ให้มีสมรรถนะสูง เช่น การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการดำเนินงานเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบในเชิงโครงสร้าง

            ....แนวทางนโยบายทั้ง 5 ด้านดังกล่าว ผ่านมาจนถึงขณะนี้ถือว่า กสม.ได้ดำเนินการไปแล้วหลายเรื่องที่เริ่มเห็นผล อย่างเช่น เมื่อ กสม.เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ใหม่ๆ ช่วงนั้นโควิดระบาดหนักในเรือนจำต่างๆ ทำให้มีผู้ต้องขังติดโควิดจำนวนมาก ทาง กสม.ลงพื้นที่ไปเรือนจำต่างๆ เพื่อดูว่ากรมราชทัณฑ์จัดการป้องกันการติดเชื้อโควิดและการดูแลรักษาผู้ต้องขังที่ติดโควิด อย่างไร ทำให้ทราบข้อมูลที่กรมราชทัณท์ได้แก้ปัญหาดังกล่าว หรือการที่ กสม.ไปพบพูดคุยกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีตำรวจถูกร้องเรียนมายัง กสม.ค่อนข้างมาก จึงมีการพูดคุยกับ ผบ.ตร.ถึงแนวทางหากมีคนมาร้องเรียน กสม.แล้ว กระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร เพื่อให้ข้อร้องเรียนได้รับการพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งข้อร้องเรียนก็มีหลายประเด็น เช่น กรณี "ห้องขังในสถานีตำรวจ" โดยเฉพาะกลุ่ม LGBT ที่ถูกเรียกมาสอบสวนหรือตั้งข้อหา จะมีการละเมิดเขาหรือไม่ หรือเรื่องการมีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญกร โดยที่บางคนคดียังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิด แต่ถูกใส่ชื่อในทะเบียนประวัติอาชญากร หรือคดีมีการสะสางแล้ว แต่ยังมีชื่ออยู่ ซึ่งการพูดคุยกันระหว่าง กสม.กับ ผบ.ตร.ก็เห็นร่วมกันว่าต่อไปจะมีการประสานกันในลักษณะ contract person เพื่อช่วยให้การดูแล ช่วยเหลือและตรวจสอบการละเมิดสิทธิ ได้รับผลที่ชัดเจนและรวดเร็ว หรือการไปร่วมหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพูดคุยปัญหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ปัญหาสิทธิในที่ดินในพื้นที่ป่ากระจาน เป็นต้น

            ...กสม.ทำงานอย่างสมดุล รอบด้าน เราคุยกับทุกภาคส่วน กสม.ทุกคนมีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยตั้งใจทำงานอย่างสุจริตเที่ยงธรรม ภายใต้ขอบเขตอำนาจและภารกิจของ กสม. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ในอดีตกฎหมายเคยให้อำนาจ กสม.ในการไกล่เกลี่ย แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ตัดอำนาจเรื่องการไกล่เกลี่ยออกไป โดย กสม.สามารถทำได้ในแง่ของการเป็นผู้ประสานให้ผู้ร้องและผู้ถูกร้องมานั่งคุยและหาทางออกร่วมกัน ซึ่งหาก กสม.มีอำนาจไกลเกลี่ย ก็จะมีผลทำให้มีสภาพบังคับให้มีการตกลงกัน ทำให้ผลการไกล่เกลี่ยเดินหน้าต่อไปได้เพราะมีกฎหมายรองรับ

            ที่ผ่านมา กสม.ได้ทำหน้าที่ในส่วนนี้อย่างแข็งขันจนหลายเรื่องมีข้อยุติร่วมกัน แต่หาก กสม.มีอำนาจไกล่เกลี่ย ก็จะทำให้เรามีอำนาจในการผลักดันให้การไกล่เกลี่ยมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยในส่วนนี้ก็จะผลักดันต่อไปเพื่อให้การทำหน้าที่ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของ กสม.มีผลที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

                เมื่อถามถึงว่า ที่ผ่านมาทำงานมา 4 เดือน กสม.เจอปัญหาและข้อจำกัดในการทำงานอย่างไร และหากมีโอกาสคิดว่าควรทำอย่างไรเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดดังกล่าว ประธานกสม. กล่าวตอบว่า การทำงาน กสม.ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆ จากภาคประชาสังคมและภาครัฐด้วยดี นอกจากนี้ ในส่วนของการชุมนุมทางการเมือง กสม.ก็ได้รับการร้องขอจากพ่อแม่ของผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมเพื่อให้นำตัวลูกไปรักษาโควิดนอกเรือนจำ ซึ่ง กสม.ก็ได้รับความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลด้วยดี ทั้งนี้ เห็นว่าประเด็นเรื่องการชุมนุมทางการเมืองเป็นประเด็นที่ซับซ้อนอ่อนไหว ซึ่งจะต้องมีการพยายามให้มีพื้นที่ในการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน 

            -ข้อจำกัดดังกล่าวอาจปลดล็อกด้วยการเสนอแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง?

            ขณะนี้มีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ กสม.กำลังดำเนินการอยู่ภายใน ที่จะมีการนำเสนอให้รัฐบาลนำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้ กสม.มีอำนาจในการไกล่เกลี่ยได้ โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขในมาตรา 26 (4) ที่บัญญัติว่า ให้ กสม.ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ซึ่งมีบางฝ่ายมองว่าอาจทำให้ กสม.ทำหน้าที่โดยไม่มีความเป็นอิสระ และอาจยังไม่เป็นตามมาตรฐานสากล คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub- Committee on Accreditation) หรือ SCA ในเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ปรับลดระดับ กสม.ไทย จาก A เป็น B โดยเสนอแนะให้ กสม.ปรับแก้มาตราดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้ กสม.ได้หารือกับรองนายกรัฐมนตรี (วิษณุ เครืองาม) ด้วยแล้ว สำนักงาน กสม.จะเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ดังกล่าวไปยังรัฐบาลภายในเดือนนี้ และหวังว่าในการประชุมรัฐสภาสมัยหน้าสามารถนำร่างฯ เข้าสู่การพิจารณาได้

ท่าที-ข้อเสนอแนะกสม.

กับการชุมนุมทางการเมือง

            เมื่อถามถึงเรื่อง การชุมนุมทางการเมืองกับบทบาทของ กสม. ทาง นางสาวพรประไพ-ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาที่มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้น ทาง กสม.ได้ส่งตัวแทนไปลงพื้นที่การชุมนุมทางการเมืองหลายครั้งเพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของเจ้าหน้าที่และร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม เพื่อดูว่าการชุมนุมมีความรุนแรงหรือไม่ และการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศและหลักการต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าการลงพื้นที่และการมีความเห็นของ กสม.ต่อการชุมนุมทางการเมือง ก็ถูกจับตามองจากทุกฝ่ายว่า กสม.มีความเป็นกลางหรือไม่ โดยที่ผ่านมาได้มีผู้มาร้องเรียนต่อ กสม.หลายกลุ่มในเรื่องการชุมนุมทางการเมือง กสม.จึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองอย่างรอบด้าน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 17 ก.ย.2564 ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานของ กสม.ได้เชิญผู้บริหารและผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาร่วมชี้แจงถึงแนวทางการควบคุมดูแลการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง

อีกทั้งก่อนหน้านี้ กสม.ได้รับฟังข้อมูลจากกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมรวมถึงตัวแทนจาก กสม.ก็ลงพื้นที่ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมที่แยกดินแดง 4-5 ครั้ง เพื่อต้องการทราบข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยมีการไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่รอบๆ การชุมนุม รวมถึงการพูดคุยกับสื่อมวลชนที่ทำข่าวในพื้นที่            

นอกจากนี้ กสม.ก็ยังไปเยี่ยมและรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายทั้งตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถูกยิงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ และเยาวชนอายุ 15 ปีที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงและรักษาตัวที่ รพ.ราชวิถี โดย กสม.ที่ไปเยี่ยมได้เล่าว่าเป็นเรื่องน่าเศร้าที่พ่อแม่ของผู้ป่วยทั้งสองคนที่ไม่ได้รู้จักกันเลย ต้องมาเสียใจและเป็นทุกข์กับลูกที่นอนป่วยอาการสาหัสในโรงพยาบาล ตามหลักของรัฐธรรมนูญ การชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำในลักษณะที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตกับทุกฝ่าย

                -ดูแล้วการชุมนุมทางการเมืองคงเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ เป็นระยะ ในฐานะเป็น กสม. มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการเผชิญหน้าและมีความรุนแรงเกิดขึ้น?

            ควรหาพื้นที่ให้ทุกคนได้มาร่วมพูดคุยกัน โดยระยะแรก การจะให้ทุกฝ่ายมาร่วมพูดคุยพร้อมกันหมด อาจจะยังทำไม่ได้ อาจเริ่มจากการหาบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นกลางที่ได้รับความไว้วางใจจากแต่ละฝ่ายและจัดพื้นที่ให้เกิดการรับฟังความเห็นอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีความชัดเจนของท่าทีและพร้อมที่จะรับฟังซึ่งกันและกันก็สามารถจะจัดเวทีหารือร่วมกันได้      ปัจจุบัน กสม.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลและข้อคิดเห็นอย่างรอบด้าน และหวังว่าในที่สุดจะสามารถนำไปสู่การมีพื้นที่พูดคุยกันได้

            ถามถึงบทบาทของ กสม.เวลามีแถลงการณ์หรือมีรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงการชุมนุมทางการเมือง ก็จะมีฝั่งที่พอใจและไม่พอใจ รู้สึกกดดันหรือไม่ในฐานะที่อยู่ตรงกลาง ประธาน กสม. กล่าวตอบว่า แน่นอนว่าการทำงานที่จะทำให้ถูกใจทุกฝ่ายเป็นเรื่องยาก แต่เราต้องมีหลักการทำงานที่ชัดเจนคือ มีความสุจริต เที่ยงธรรม และเป็นอิสระ เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และเคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนของกันและกัน ที่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจทำให้เกิดความไม่พึงใจไม่ฝ่ายใดก็ฝ่ายหนึ่ง แต่ก็ต้องยึดประโยชน์ของประชาชนโดยรวมเป็นหลัก

                -เรื่องการออกรายงานของ กสม.ในการตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองจะออกมาเมื่อใด และที่ผ่านมาในอดีต เวลา กสม.ทำรายงานลักษณะเช่นนี้ ก็มักจะมีกระสุนตกใส่ กสม.อย่างหนัก อย่างเช่นตอน กสม.ออกรายงานการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553?

            ขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดทำรายงานการตรวจสอบการชุมนุมทางการเมือง เพราะกระบวนการทำงานของ กสม.ได้รับเรื่องนี้ไว้ เป็นเรื่องที่ กสม.ต้องตรวจสอบ เมื่อตรวจสอบ เราต้องมีรายงานออกมา ตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายภาครัฐ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม และผู้ชุมนุม

            เมื่อได้ข้อมูลรอบด้านแล้ว กสม.จะมีการทำรายงานการตรวจสอบการชุมนุมทางการเมืองออกมา และหวังว่าจะสะท้อนข้อเท็จจริงทุกอย่าง อย่างเที่ยงธรรม ตรงไปตรงมา และเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยในรายงานการตรวจสอบ กสม.ก็จะมีข้อเสนอแนะด้วย ที่หวังว่าจะเป็นข้อเสนอแนะที่ทุกฝ่ายเห็นด้วย และสามารถนำไปปฏิบัติได้

ข้อเสนอแนะ กสม.

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน

            นอกจากนี้ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังกล่าวถึงกรณีสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ไปเมื่อ 16 ก.ย.2564 ว่า ที่ผ่านมา มีข้อร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมาน-การอุ้มหาย มายัง กสม.ค่อนข้างเยอะพอสมควร โดยพบว่ากลไกด้านกฎหมายในการเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนลักษณะดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ ที่จะทำให้ได้พยานหลักฐานอย่างครบถ้วน แต่หากในอนาคตเมื่อมีการออกกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ก็จะช่วยกำกับการทำงานของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ให้มีการ ซ้อมทรมาน หรือทำสิ่งที่เกินขอบเขต

ประธาน กสม. กล่าวต่อไปว่า ก่อนหน้านี้ กสม.ได้ส่งหนังสือไปยังประธานรัฐสภา แจ้งข้อเสนอแนะต่อการยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ก็หวังว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่สภาตั้งขึ้นมาอาจนำไปพิจารณาประกอบ โดยข้อเสนอแนะที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการซ้อมทรมาน เช่น ฐานความผิดที่ทำให้บุคคลสูญหาย ต้องเป็นคดีที่ไม่มีอายุความ หรือ ควรกำหนดให้มีการบันทึกภาพและเสียงที่มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาในการจับกุม การควบคุมตัว การสอบสวน สถานที่กักขัง เป็นต้น

                ....การมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย จะทำให้การสืบสวนสอบสวนของตำรวจต่อจากนี้จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นหลังกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ มองว่าน่าจะทำให้ข้อร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนลดน้อยลง เพราะเมื่อทุกคนเห็นข่าวอดีต ผกก.ที่นครสวรรค์ที่ซ้อมทรมานผู้ต้องหา หลายฝ่ายก็ไม่ต้องการให้เรื่องลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอีก

            สำหรับ “กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ชุดปัจจุบัน เป็น กสม.ชุดที่สี่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาการทำงานของ กสม.บางชุด บางคน ก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามไม่น้อย  เราเลยถามปิดท้ายว่า การทำงานของ กสม.ที่มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่งถึงเจ็ดปี อยากให้สังคมจดจำ กสม.ชุดปัจจุบันอย่างไร

                นางสาวพรประไพ-ประธาน กสม. ให้คำตอบกลับมาว่า อยากให้ กสม.ชุดปัจจุบัน ทำงานในด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสามารถเสริมสร้างวัฒนธรรมเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างรอบด้าน เพราะหากทุกคนมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ปัญหาเรื่องต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไขเพราะทุกคนรู้ว่า เรื่องใดควรทำหรือไม่ควรทำ โดยเฉพาะถ้าทุกคนเคารพสิทธิของกันและกัน มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะการยอมรับเรื่องความแตกต่าง  

"อยากให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นองค์กรที่ทันสมัย สามารถตอบสนองประเด็นปัญหาต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชนที่มีการร้องเข้ามายัง กสม.ได้อย่างรวดเร็ว และแก้ปัญหาได้อย่างครบถ้วน ทันเวลา เพราะหากทุกคนในสังคมมีความเข้าใจในวัฒนธรรมเรื่องสิทธิมนุษยชน เข้าใจในสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น คิดว่าจะทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยลดน้อยลง เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลายเรื่องเกิดจากทัศนคติ แม้กระทั่งเรื่องการละเมิดสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกที่ดิน หรือกรณีปัญหาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ ล้วนเกี่ยวกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น หากคนในสังคมเข้าใจและเคารพในสิทธิของตนเองและสิทธิของผู้อื่น ประเทศชาติโดยรวมก็จะดีขึ้น" ประธาน กสม.กล่าวทิ้งท้าย

...........................................................................................

กสม.ตรวจสอบ

การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

            ขณะเดียวกันหลังปฏิบัติมาได้ประมาณสี่เดือน กสม.ชุดปัจจุบันก็ได้เริ่มจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อรายงานการทำงานของ กสม. โดยเริ่มไปครั้งแรกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 23 กันยายน 2564 ซึ่งสอง กสม.คือ วสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 1/2564 ในสองประเด็นคือ 1.ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19และ 2.การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเรื่อง การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี นับว่าน่าสนใจไม่น้อยที่องค์กรสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญอย่าง กสม. หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาและมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานรัฐ โดยท่าทีดังกล่าวของ กสม.มีรายละเอียดดังนี้ ผลการติดตามการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน

            .....กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง 6 ราย นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560-สิงหาคม 2561 ในกรณีปัญหาเกี่ยวกับการที่บริษัทเอกชน จำนวน 6 แห่ง ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ประกันภัย และโรงแรม ได้ให้ผู้สมัครงานตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งการกำหนดให้การตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุแห่งสถานภาพทางสาธารณสุขอันถือเป็นสถานภาพอย่างอื่น (other status) การกระทำของบริษัทผู้ถูกร้อง จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยได้มีข้อเสนอแนะให้บริษัทพิจารณายกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง

            ....กสม.ได้ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเมื่อเดือนกันยายน 2564 ได้รับแจ้งจากผู้ถูกร้องครบทั้ง 5 ราย ว่าได้ยกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง อันเป็นการขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ขณะที่อีกรายได้ย้ำกับบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการคัดกรองผู้สมัครงานถึงนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครที่ติดเชื้อเอชไอวี

            โดย กสม. ยังระบุอีกว่า การเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี กรณีกล่าวอ้างว่า กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี

            ..... กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 กรณีทายาทของข้าราชการตำรวจรายนึง (นาย ส.) ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ได้สมัครและเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 และถูกปฏิเสธการบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการให้มีการตรวจเชื้อเอชไอวีโดยเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ และนำผลการตรวจไปเป็นเหตุในการปฏิเสธไม่บรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ

            เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อนาย ส. โดยเหตุที่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี อันเป็นการอาศัยเหตุแห่งสถานภาพอย่างอื่น และเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนาย ส. เอกสารแถลงข่าวของ กสม.อย่างเป็นทางการระบุ

            ....ทั้งนี้ กสม.ได้มีข้อเสนอแนะให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาบรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีและเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นการทั่วไปนั้น แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นสมควรยุติการติดตามผลดำเนินการ

            และย้ำตอนท้ายว่า สำหรับกรณี กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2547 และบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นข้าราชการตำรวจนั้น กสม.จะได้หารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และเครือข่ายกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป และจะได้หารือถึงความร่วมมือในการสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อลดปัญหาการเลือกปฏิบัติและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั้งหลาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"