อนาคต'หัวลำโพง'พลิกสู่พื้นที่สร้างสรรค์กลางเมือง


เพิ่มเพื่อน    

 

 

            เวลานี้”หัวลำโพง”หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ต้องเปลี่ยนพื้นที่สู่บทบาทใหม่ เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วางแผนย้ายการให้บริการเส้นทางรถไฟเกือบทั้งหมดไปที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง มีคนจำนวนมากเข้าไปถ่ายรูปกับสถานีรถไฟหัวลำโพงเพื่ออำลาและเก็บไว้เป็นความทรงจำ

        ขณะเดียวกันมีการระดมความเห็นหาทิศทางว่า ควรจะพัฒนาปรับเปลี่ยนพื้นที่ใจกลางเมือง”หัวลำโพง” ที่มีขนาดใหญ่ถึง 121 ไร่ ให้กลายเป็นอะไร ซึ่งคณะนักวิจัยจาก 5 สถาบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และสถาบันอาศรมศิลป์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  ร่วมกันศึกษา โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ผลวิจัยจะฉายภาพว่า ถ้าคนไทยมาใช้งานใช้ประโยชน์ในพื้นที่และอาคารต่างๆ เราควรออกแบบหัวลำโพงให้เป็นพื้นที่แบบไหน ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของหัวลำโพงจะเป็นเช่นไร

 สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ”หัวลำโพง” อยู่คู่กรุงเทพฯ มากว่า 105 ปี     

 

       ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ ปรีดีดิลก ประธานสาขาวิชาพัฒนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการแผนงานการศึกษาเพื่อวางกรอบโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กล่าวว่า โครงการเริ่มศึกษาตั้งแต่ ส.ค. 2563 ระยะเวลา 1 ปี เป็นการวิจัยแบบสหวิทยาการ  ที่ใช้องค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เก็บข้อมูลจาก 9 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ทุกช่วงวัย  บุคลากรสถานีรถไฟหัวลำโพง ผู้ใช้บริการ องค์กรภาครัฐ ภาคการลงทุน นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคการท่องเที่ยว

              นักวิจัยจากจุฬาบอกกระบวนการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ เน้นวิจัยคุณค่าเชิงอนุรักษ์และนำเสนอแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่ หัวลำโพงเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานครมายาวนานกว่า 105 ปี ตั้งแต่เริ่มมีการวางรากฐานการคมนาคมในสยามประเทศสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งนี้ แผนวิจัยมีโครงการ 3 ย่อย ซึ่งบูรณาการระหว่างศาสตร์สาขาต่างๆ  ทั้งสถาปัตยกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์  ตลอดกระบวนการวิจัยเปิดให้หลายภาคส่วนของสังคมมาร่วมกันกำหนดทิศทางอนาคตของหัวลำโพงด้วย

           “ประชาชนเป็นทั้งผู้ร่วมคิด มีส่วนร่วมออกแบบในฐานะผู้ใช้ประโยชน์  และเป็นผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันรักษาสมบัติของคนไทย  จากการวิจัยชัดเจนว่าประชาชนเห็นสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นของคนไทยทุกคน ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ กล่าว

เดินหน้าอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟกรุงเทพ

 

          "หัวลำโพง" จะพลิกโฉมสู่บทบาทใหม่ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เป็นศูนย์กลางอนุรักษ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงย่านเมืองเก่าและย่านการค้าใหม่ รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และพื้นที่สาธารณะที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลาย

          ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ เผยผลการวิจัยเฟสแรกศึกษาคุณค่าเชิงอัตลักษณ์และความต้องการทางสังคม แนวทางพัฒนาต้องทำให้หัวลำโพงเป็นพื้นที่ที่พึ่งพาตนเองได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นจุดเชื่อมโยงกับย่านเมืองเก่าของกรุงเทพฯ เช่น เยาวราช วงเวียน 22 กรกฎาคม ตลาดน้อย ฯลฯ และเชื่อมโยงกับย่านการค้าใหม่ ยอดนิยมที่เรียงรายบนถนนพระราม 4 ยาวไปจนถึงเขตคลองเตย

            ภาพที่สังคมวาดฝันจากผลวิจัยสอดคล้องกับแนวคิดของ รฟท.ที่ได้วางแผนลงทุนพัฒนาพื้นที่หัวลำโพงให้เป็น บ้านรถไฟ โดยจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟและวางโครงการพื้นที่เชิงอนุรักษ์ในเส้นทางเลียบทางรถไฟในลักษณะสร้างพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมพื้นถิ่นและพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ บูรณาการร่วมกับพื้นที่ท่องเที่ยวในเขตเมืองเก่า

คนกทม.ถ่ายรูปกับสถานีรถไฟหัวลำโพงเก็บไว้เป็นความทรงจำ     

 

           แนวทางพัฒนาสถานีรถไฟหัวลำโพงจากผลวิจัยเฟสที่ 1  คณะนักวิจัยหลายสถาบันต่อยอดสู่การศึกษาเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพของพื้นที่สถานีรถไฟ   จนได้ข้อเสนอลักษณะการใช้งานและประโยชน์ของพื้นที่และอาคารต่างๆ 3 รูปแบบ

   แบบที่ 1 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด มีสัดส่วนเท่ากันคือร้อยละ 30

    แบบที่ 2 สัดส่วนของพื้นที่ที่ใช้เป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด ร้อยละ 30 รองลงมา  ลานกิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ และพื้นที่อนุรักษ์ ในสัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 18  

     แบบที่ 3 พื้นที่ใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์มากที่สุด ร้อยละ 40 รองลงมา  ลานกิจกรรมและพื้นที่อนุรักษ์ในสัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 18

     “ พบว่าทั้ง 3 แบบเป็นทางเลือกที่คนในสังคมยอมรับได้ แต่อาจจะต้องมีการชดเชยในสิ่งที่คนในสังคมสูญเสียไป เช่น บางคนอาจไม่รู้สึกว่า ได้รับประโยชน์จากการใช้พื้นที่เป็นศูนย์การค้า “ ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ บอก

       นอกจากนี้ ทีมวิจัยมีการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการด้านการลงทุนและความเป็นไปได้ทางการเงินเพื่อรองรับการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพพื้นที่หัวลำโพง และการศึกษาระบบโลจิสติกส์เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่หัวลำโพงแบ่งเป็น 2 ส่วนย่อย คือ ระบบเชื่อมโยงพื้นที่ภายในสถานีรถไฟหัวลำโพง และระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปยังสถานที่ต่างๆ ด้วยรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย อาทิ รถประจำทาง รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า BTS และ MRT และเรือ   โดยมีสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นจุดศูนย์กลางหรือจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ

        ปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวลำโพง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ การศึกษาครั้งนี้นำเสนอ 4 เส้นทางท่องเที่ยวหัวลำโพงและชุมชนใกล้เคียงในรูปแบบเสมือนจริง  (Virtual Tour)  https://hlpvirtualtour.com  ธีม”เที่ยวนอกราง” โดยแฮม วันวิสข์  เนียมปาน  แฟนพันธุ์แท้รถไฟไทยกูรูคอยให้คำแนะนำเล่าเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจแต่ละจุดหมายระหว่างทาง

เส้นทางท่องเที่ยวหัวลำโพง-ถนนเจริญกรุง แสดงศักยภาพพื้นที่

 

         เส้นทางที่ 1 หัวลำโพง-ถนนเจริญกรุง สถานีรถไฟกับถนนสายแรกในกรุงเทพที่มีเอกลักษณ์ เส้นทางพาไปสัมผัสประวัติศาสตร์คลาสสิคที่ยังคงอยู่ทุกวันนี้เหมือนย้อนเวลาไทม์แมชชีน เส้นทางที่ 2  หัวลำโพง-ชุมชนวัดดวงแขและชุมชนตรอกสลักหิน ย่านชุมชนการค้าและอยู่อาศัยคู่กับหัวลำโพง ถ้าชอบเรื่องราววิถีชุมชนคลิกเลย

 พลิกโฉมหัวลำโพงเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวมาบรรจบตลาดน้อย แวะโบสถ์กาลหว่าร์

 

      เส้นทางที่ 3 หัวลำโพง-เยาวราช การขนส่งระบบรางกับไชน่า ทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก    พาไปดื่มด่ำกลิ่นอายวัฒนธรรมและบรรยายแบบจีน เดินสายขอพรเสริมสิริมงคลที่วัดและศาลเจ้าย่านเยาวราช  และเส้นทางที่ 4 หัวลำโพง-ตลาดน้อย ย่านอยู่อาศัยและการค้าตักลั๊คเกี๊ย สู่ย่านฮิบ-ชิค-คูล เด่นที่ผสานอดีตกับความทันสมัยมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร  

เที่ยวนอกรางจากสถานีหัวลำโพงมาบ้านเลขที่ 1 ย่านประวัติศาสตร์บางรัก 

 

            พัฒนาพื้นที่ใหญ่ใจกลางกรุงอย่างหัวลำโพงทุกภาคส่วนสังคมร่วมวาดฝันหัวลำโพง เหตุนี้  ผศ.ดร.เฟื่องอรุณ บอกว่า    การวิจัยระยะที่ 2  เน้นการสื่อสารสู่สาธารณะสร้างการรับรู้ในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง และเกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้ที่อาศัยบริเวณพื้นที่หัวลำโพง บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหัวลำโพง ผู้ที่ใช้บริการที่หัวลำโพง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการท่องเที่ยว นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาปนิก นักอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ  ภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ  มีการสื่อสารและรับฟังความเห็นผ่านช่องทาง Facebook Fanpage โครงการฯ  สำรวจความคิดเห็นผ่าน Google Form ในช่วงโควิด-19 มีการปรับรูปแบบการเก็บข้อมูลและการทำงานหลายด้านให้สอดคล้องกับสถานการณ์  

หัวลำโพงเป็นจุดเชื่อมโยงย่านเก่ากรุงเทพ วงเวียน22กรกฎาคม

 

             ภาพอนาคตเหล่านี้ ผู้อำนวยการแผนงานฯ ย้ำว่ามีประโยชน์ รฟท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ไปใช้งานขับเคลื่อนเชิงนโยบายและเป็นกรอบในการประกวดแบบการพัฒนาหัวลำโพง เชิงพาณิชย์นักลงทุน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการในพื้นที่ และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมกรุงเทพฯ สามารถนำผลวิจัยการบริหารจัดการด้านลงทุนไปใช้เป็นแนวทางร่วมลงทุนในพื้นที่หัวลำโพง ทั้งจัดการท่องเที่ยวและการประกอบการเชิงสร้างสรรค์
           “ กระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการวิจัยเป็นการเผยแพร่ทำความเข้าใจกับผู้คนกลุ่มต่างๆ  ให้รับรู้ถึงคุณค่าการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทยรวมถึงคนได้แสดงความคิดเห็นนำไปสู่การได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน  ผอ.แผนงานกล่าวในท้ายเชื่อกระบวนการวิจัยมีส่วนร่วม ลดความเห็นต่าง สร้างความเห็นร่วม นำไปสู่ข้อสรุปในบทบาทหน้าที่ ประโยชน์ใช้สอย โดยเฉพาะกับชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ร่วมวางอนาคตหัวลำโพงไปพร้อมกัน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"