เมื่อไต้หวันกับจีน แย่งกันเข้า CPTPP


เพิ่มเพื่อน    

พอจีนสมัครเป็นสมาชิก CPTPP ได้ไม่กี่วัน  ไต้หวันก็เอาตัวเองเบียดเข้าไปในเวทีเขตการค้าเสรียักษ์เหมือนกัน
    กลายเป็นสมรภูมิการแข่งขันระหว่างสองค่ายอีกครั้งหนึ่ง
    รอดูว่าโจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ จะอยู่เฉยๆ ได้หรือไม่
    เพราะความจริงบารัก โอบามา สมัยนั่งทำเนียบขาวเป็นคนริเริ่มก่อตั้ง Trans-Pacific Partnership (TPP) นี่เอง
    เพราะต้องการจะสร้างกลุ่มก้อนการค้าเสรีในภูมิภาคนี้เพื่อสกัดจีน
    ในช่วงจังหวะที่จีนถูกมองว่าเป็นแก่นแกนของการก่อตั้ง RCEP (Regional Comprehensive  Economic Partnership) ที่มีอาเซียนบวกกับจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นสมาชิกอยู่
    (เดิมอินเดียก็อยู่ในกลุ่ม แต่เพราะการเมืองภายในประเทศจึงขอถอยออกมารอจังหวะอยู่ข้างนอกก่อน)
    ขณะนั้น RCEP ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นหัวหน้าก๊วนนี้เพื่อคานอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในย่านนี้
    แต่สมาชิกของสองกลุ่มที่ทับซ้อนกันอยู่ก็มีไม่น้อย ดังนั้นจึงไม่อาจจะบอกได้ว่า CPTPP กับ RCEP  เป็นสองเขตการค้าเสรีที่ต้องเผชิญหน้ากัน
    มีแต่สหรัฐฯ กับจีนเท่านั้นที่ตั้งประเด็นเช่นนั้น
    พอโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ถอนอเมริกาออกจาก TPP เพราะไม่เชื่อในเรื่องเขตการค้าเสรีที่มีหลายประเทศมารวมตัวกัน
    ทรัมป์ต้องการจะให้เป็นแบบ America First  อันหมายถึงการที่สหรัฐฯ ต้องเก่งกาจและโดดเด่นแต่เพียงผู้เดียวในเวทีต่างๆ ทั่วโลก


                    (รูป)

                  ที่มา: CNBC

    แต่สมาชิกเดิมอีก 11 ประเทศของ TPP ก็ยังเดินหน้าพัฒนากลไกนี้ต่อโดยปรับชื่อเป็น CPTPP โดยเพิ่ม C ที่มาจาก Comprehensive (ครอบคลุมรอบด้าน) และ Progressive (ก้าวหน้า)
    พออเมริกาถอยออกไป จีนก็แสดงความสนใจจะเข้ามา “ถมช่องว่าง”
    สี จิ้นผิงยืนยันว่า จีนไม่มีข้อขัดข้องที่จะเข้าร่วมกับเขตการค้าเสรีใหญ่ๆ ทั้งหลาย 
    เรียกว่ามีที่ไหนที่ทำ “เซ็งลี้” ได้ จีนก็ไม่มีปัญหาที่จะร่วม
    มีแต่สมาชิกเดิมของ CPTPP เท่านั้นที่ตั้งคำถามว่า จีนพร้อมแล้วหรือที่จะทำตามมาตรฐานสูงๆ ขององค์กรนี้
    ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน, แรงงาน, ทรัพย์สินทางปัญญา และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
    จีนบอกว่าพร้อม ขอให้บอก และขอให้ไม่มีอคติต่อเขา
    เมื่อไบเดนชนะเลือกตั้ง ก็แสดงท่าทีว่าพร้อมที่จะทบทวนบทบาทของตนในกลไกนี้ จึงให้มีการประเมินใหม่ว่าวอชิงตันจะกลับมามีบทบาทใน CPTPP ทางใดทางหนึ่งหรือไม่
    ยังไม่ทันที่จะมีการตัดสินใจของรัฐบาลไบเดน ปักกิ่งก็ชิงยื่นใบสมัครก่อนแล้วเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา
    สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกไม่น้อย เพราะไม่นึกว่าสี  จิ้นผิงจะเล่นเกมเร็วอย่างนี้
    อีกสามวันต่อมา ไต้หวันก็สร้างความแปลกใจไปทั่วด้วยการยื่นใบสมัครเหมือนกัน
    ไต้หวันถูกมองว่า น่าจะมีความพร้อมมากกว่าจีนในเรื่องการมีมาตรฐานสากลในด้านต่างๆ 
    แต่สมาชิกเดิมของ CPTPP ก็ไม่อาจจะปัดใบสมัครของจีนได้ ต้องนำเข้าพิจารณา และต้องได้เสียงเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ก่อนจึงจะรับสมาชิกใหม่ได้
    ญี่ปุ่นออกมาแสดงความยินดีที่ไต้หวันสมัครเพราะเชื่อว่ามีคุณสมบัติพร้อม
    แต่ตอนที่ปักกิ่งแสดงความสนใจเข้าร่วมนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้แสดงความกระตือรือร้นในระดับเดียวกัน
    ตรงกันข้าม น่าเชื่อได้ว่าโตเกียวอาจรู้สึกอึดอัดที่จีนจะกระโดดเข้ามาใน CPTPP อย่างเต็มตัว
    เพราะญี่ปุ่นเป็นเพื่อนรักของสหรัฐฯ เมื่อวอชิงตันยังไม่กลับเข้ามา แต่ปักกิ่งเล่นเกมตัดหน้าอย่างนี้ ก็คงต้องหันรีหันขวางว่าจะทำอย่างไรดี
    ไต้หวันออกข่าวว่าขอให้ CPTPP รับไต้หวันเข้าก่อนปักกิ่ง เพราะถ้าจีนเข้าไปก่อนอาจจะพยายามขัดขวางไม่ให้ไต้หวันเข้าไปก็ได้
    หนึ่งในประเด็นหลักก็คือ จีนถือนโยบาย “จีนเดียว”  มาตลอด
    หากจีนจงใจจะกีดขวางไต้หวัน ก็อาจจะอ้างว่าไต้หวันไม่มีสิทธิ์สมัครเพราะปักกิ่งสมัครแล้ว
    หรือไต้หวันจะยอมเรียกตัวเองว่า Chinese  Taipei อย่างที่ใช้ปฏิบัติในกรณี APEC ก็อาจจะเป็นทางออกอีกทางหนึ่ง
    จึงต้องคอยดูว่าสมาชิกทั้ง 11 ประเทศของ  CPTPP จะมีทางออกกรณีจีนอย่างไร
    นั่นหมายถึงออสเตรเลีย, บรูไน, แคนาดา, ชิลี,  ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์ และเวียดนาม     
    คำถามสำหรับประเทศไทยคือ แล้วเราอยู่ตรงไหนของเส้นทางนี้?
    คำตอบจะยังอยู่ในสายลมตลอดไปไม่ได้. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"