ไทยอยู่ตรงไหนเมื่อจีน-ไต้หวัน แย่งกันเข้า CCTPP?


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อไต้หวันกับจีนแย่งกันเข้า CPTPP ก็ย่อมทำให้ไทยเราต้องประเมินจุดยืนของเราเรื่องนี้อีกครั้ง
    ถามว่าประเด็นนี้ไทยเรามาถึงจุดไหน
    คำตอบคือยังอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ซึ่งมีรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นประธาน
    มีทั้งคนเห็นด้วยและคนเห็นต่าง มีการรับฟังความเห็นมาหลายรอบหลายเวที
    แต่ดูเหมือนจะยังหาข้อสรุปไปทางใดทางหนึ่งไม่ได้
    นั่นคือสถานภาพของเราก่อนจีนและไต้หวันสร้างบรรยากาศใหม่ในเวทีระหว่างประเทศด้วยการไปยืนเบียดเสียดกันหน้าประตูจะเข้า CPTPP
    แนวทางของไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ผมได้อ่านเอกสารที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมาหลังปักกิ่งยื่นใบสมัคร
    มีรายละเอียดที่น่าสนใจที่คนไทยควรจะรับทราบ
    โดยแจ้งว่าทางกรมเจรจาฯ กำลัง “เร่งประเมินจีนสมัครเข้า CPTPP ทั้งด้านผลประโยชน์และผลกระทบ”
    บางตอนของเอกสารนั้นอธิบายว่า
    กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเผยว่าจีนสมัครขอเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น แต่ยังเล็กกว่า RCEP ประเมินเบื้องต้นจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีนในฐานะแหล่งวัตถุดิบ ฐานการผลิต และการโชว์ความพร้อมยกระดับมาตรฐาน 
    ทางกรมบอกว่ากำลังเตรียมประเมินผลกระทบใหม่อย่างรอบด้าน หลังอังกฤษและจีนขอเข้าเป็นสมาชิก ทั้งประโยชน์ที่ไทยจะได้รับการเข้าสู่ตลาด รวมถึงประเด็นมาตรฐานโลกใหม่ 
    ย้ำว่าการพิจารณาเข้าร่วม ของไทยยึดหลักรอบคอบ รอบด้าน และต้องได้รับไฟเขียวจากระดับนโยบายก่อน
    คุณอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่จีนได้ยื่นขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP ต่อนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รับฝาก ความตกลง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 
    ทำให้หลายฝ่ายให้ความสนใจ และจับตามองว่าผลจากการที่จีนขอสมัครเข้าเป็นสมาชิก จะทำให้ CPTPP กลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีสมาชิก 11 ประเทศ 
    ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู ชิลี สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม 
    มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือ GDP 10.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อนับรวมจีน 
    จะส่งผลให้จำนวนประชากร ในตลาด CPTPP ใหญ่ขึ้นเป็นกว่า 1,900 ล้านคน (25% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP ประมาณ 25.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (30% ของ GDP โลก)
    อย่างไรก็ตาม ขนาดของ CPTPP ยังเล็กกว่าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีสมาชิก 15 ประเทศ และปัจจุบันเป็นความตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยขนาดประชากรกว่า 2,300 ล้านคน (30% ของประชากรโลก) มูลค่า GDP 28.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (33.6% ของ GDP โลก)
    คุณอรมนประเมินว่า การสมัครเข้าร่วม CPTPP ของจีน จะเป็นการเพิ่มพันธมิตรและขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของจีนกับสมาชิก CPTPP 
    โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของกลุ่มประเทศ CPTPP (regional supply chain) จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของจีน ในฐานะเป็นแหล่งวัตถุดิบและฐานการผลิตที่สำคัญของภูมิภาค 
    ขณะเดียวกันเป็นการแสดงความพร้อมของจีนที่จะยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบต่างๆ ให้ทัดเทียมกับประเทศสมาชิก CPTPP 
    ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นมาตรฐานของโลกใหม่ อาทิ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสิทธิ แรงงาน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การแข่งขันทางการค้า และการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ
    คุณอรมนเล่าว่า ปัจจุบันไทยมี FTA กับสมาชิก CPTPP แล้ว รวม 9 ประเทศ ทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบทวิภาคี 
    คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู 
    โดยยังขาดเม็กซิโกกับแคนาดาที่ไทยไม่มี FTA ด้วย
    แต่ไทยก็อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา ในเร็วๆ นี้ จึงถือได้ว่า ไทยมีช่องทางในการเข้าสู่ตลาดประเทศสมาชิก CPTPP ผ่าน FTA ที่มีอยู่
    ทั้งนี้ การขยายจำนวนสมาชิก CPTPP รวมจีนและสหราชอาณาจักร ได้เพิ่มความน่าสนใจและดึงดูดใจของ CPTPP และทำให้ไทยต้องประเมินประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นใหม่อย่างรอบคอบ 
    โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะได้จากการเข้าสู่ตลาด CPTPP ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น เรื่องการเข้าสู่ตลาดความตกลง CPTPP ได้กำหนดให้สมาชิกต้องลด/ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บระหว่างกันให้ครอบคลุมรายการสินค้าให้มากที่สุด 
    เรียกได้ว่าครบหรือเกือบครบทุกรายการสินค้า 
    เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่ส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศสมาชิกเพื่อการผลิตขั้นสูงขึ้นไป 
    เรื่องกฎระเบียบที่ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ กฎเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้ประเทศสมาชิก CPTPP มีความได้เปรียบประเทศที่มิใช่สมาชิก 
    อีกทั้งประโยชน์ในเรื่องการเข้าไปอยู่ในวงห่วงโซ่การ ผลิตระดับภูมิภาค (regional supply chain) หรือการเสียประโยชน์หากอยู่นอกวง ก็เป็นประเด็นใหม่ที่จะต้องนำมา พิจารณา 
    เนื่องจากวงห่วงโซ่การผลิตของ CPTPP จะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมจีนเข้าไป
    ขณะเดียวกันยังมีเรื่องมาตรฐานโลกใหม่ เช่น สิทธิแรงงาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม ความโปร่งใสและการต่อต้านคอร์รัปชัน 
    การเข้าร่วม CPTPP ของจีนอาจเป็นการนำเทรนด์ใหม่ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ว่ามีความพร้อมที่จะรับและปฏิบัติตามมาตรฐานโลกใหม่นี้ 
    เพื่อก้าวข้ามการที่ประเทศผู้นำเข้าอ้างเรื่องมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องมือกีดกันการค้า ซึ่งเทรนด์มาตรฐานที่จะเกิดขึ้นอาจกลายเป็นเส้นแบ่งกลุ่มประเทศได้
    สำหรับการสมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือร่วมเจรจาความตกลง FTA ใดๆ ของไทย โดยทั่วไปจะมีกระบวนการทำงานคือ ศึกษาความพร้อม ประเมินผลประโยชน์ และผลกระทบของประเทศ 
    รวมทั้งการรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 
    เนื่องจากในการเจรจา FTA จะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และผู้ที่ได้รับผลกระทบ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งในส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ การปรับตัว และช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียประโยชน์ 
    เรื่อง CPTPP เป็นประเด็นที่หลายภาคส่วนติดตามและให้ความสนใจ จึงถูกยกระดับการพิจารณาเรื่องนี้ไปที่คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หรือ กนศ. ซึ่งมีกรรมการเป็นผู้แทนระดับสูงจากหลายหน่วยงานทางเศรษฐกิจมาช่วยพิจารณาให้รอบด้าน 
    ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเดียว
    ปัจจุบันเรื่องยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของ กนศ. ซึ่งคงต้องนำความคืบหน้าล่าสุดนี้มารวมไว้ในการประเมินด้วย
    แต่ไม่ว่าเรื่องของเราจะไปถึงไหน เมื่อเห็นความเคลื่อนไหวระดับโลกต่อ CPTPP เราย่อมจะยังใช้อัตราความเร็วเดิมไม่ได้อีกต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"