โจ ไบเดน จุดประกายแข่งขัน สั่งสมอาวุธในเอเชียครั้งใหม่


เพิ่มเพื่อน    

การประกาศตั้งกลุ่ม “ไตรภาคี” หรือ AUKUS ของอเมริกา-อังกฤษ-ออสเตรเลียนั้นมองจากแง่ภูมิรัฐศาสตร์ต้องถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจครั้งสำคัญสำหรับภูมิภาคนี้ทีเดียว
    เพราะเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่าสหรัฐกำลังจะก่อตั้งแนวร่วมในการสกัดอิทธิพลจีนอย่างเปิดเผยโดยเฉพาะในแปซิฟิก
    การที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่าสหรัฐจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเรือดำน้ำขับเคลื่อนด้วยพลังนิวเคลียร์ (แม้จะยังไม่ได้เอ่ยถึงการติดอาวุธนิวเคลียร์) ให้ออสเตรเลียนั้นเท่ากับเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่
    เป็นครั้งแรกใน 63 ปีที่อเมริกายอมแบ่งปันเทคนิคที่เป็นความลับทางทหารให้กับพันธมิตร
    ครั้งแรกนั้นคือสหราชอาณาจักร ซึ่งวอชิงตันถือว่าเป็นสหายร่วมรบที่ไว้วางใจที่สุด
    อีกทั้งยังประกาศว่าอเมริกาจะเป็นแกนนำในการประกาศพันธกรณีเพื่อทำให้ภูมิภาค “อินโด-แปซิฟิก” เป็นเขต “เสรีและเปิดกว้าง” – a free and open Indo-Pacific
    ประเทศในแถบนี้ที่มีความกลัว “ภัยคุกคาม” จากจีนคงจะเห็นความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดี
    แต่หลายประเทศก็เริ่มเป็นห่วงว่าหากมะกันรุกหนักอย่างนี้ก็เท่ากับเป็นการเปิดศึกการ “แข่งขันสร้างแสนยานุภาพทางทหาร” อีกรอบหนึ่ง
    อย่างน้อยผู้นำอินโดนีเซียและมาเลเซียก็ได้แสดงความกังวลประเด็นนี้อย่างเปิดเผยมาแล้ว
    ในจังหวะเดียวกับที่มีการประกาศ AUKUS นั้น โจ ไบเดน ก็เชิญผู้นำ QUAD หรือ “จตุภาคี” (สหรัฐ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย) ไปประชุมสุดยอดตัวเป็นๆ ที่ทำเนียบขาว
    สองเรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากการถอนตัวของสหรัฐออกจากอัฟกานิสถานอย่างฉุกละหุกและไร้ระเบียบ
    ทำให้เกิดการวิพากษ์ว่าพันธมิตรของสหรัฐคงจะหมดศรัทธาในความ “อึด” ของวอชิงตัน
    เกิดคำถามว่าใครจะเชื่อว่าสหรัฐจะรักษาพันธกรณีกับมิตรสหายอย่างยั่งยืนได้อีกหลังกรณีอัฟกานิสถานทำให้สหรัฐเสียฟอร์มความเป็นพี่ใหญ่ไปเยอะ
    แต่การก่อตัวของ QUAD (ที่มีอยู่เดิมแล้ว แต่เพิ่งสร้างความคึกคักขึ้นมาช่วงหลัง) และ AUKUS ทำให้เห็นว่าอเมริกากำลังเบนเข็มมุ่งด้านความมั่นคงมาในทิศทางเอเชียอย่างเห็นได้ชัด
    ชัดกว่าแนวทาง Pivot to Asia ในสมัยของบารัค โอบามา ด้วยซ้ำไป
    และต้องไม่ลืมว่ายังมีกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Five Eyes ซึ่งเป็นพันธมิตรที่รวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวกรองทางความมั่นคง
    5 ประเทศที่ว่านี้มีสหรัฐ, อังกฤษ, ออสเตรเลียแล้วก็ยังบวกแคนาดาและนิวซีแลนด์ด้วย
    กลุ่มก้อนนี้ก็ถูกมองว่ามองจีนเป็นภัยคุกคามเช่นกัน
    แน่นอนว่าจีนย่อมจะมองความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ที่มีสหรัฐเป็น “หัวโจก” เป็นส่วนหนึ่งของการปลุกฟื้น “ความคิดแบบสงครามเย็น”
    แต่สังเกตไหมว่าไบเดนเน้นเรื่องทหารและความมั่นคงในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้
    ขณะที่จีนพยายามจะใช้ด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปกับเรื่องการเมืองและความมั่นคง
    ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่จีนยื่นใบสมัครเข้า CPTPP ขณะที่สหรัฐยังไม่รู้จะเอาอย่างไรกับกลไกที่บารัค โอบามา เป็นคนริเริ่ม (โดยมีไบเดนเป็นรองประธานาธิบดีในขณะนั้น)
    สำหรับไทยและอาเซียนแล้ว นี่คือการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอนอีกครั้ง
    ที่แน่ๆ คือสภาพแวดล้อมของการแข่งขันสร้างแสนยานุภาพทางทหารจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
    สำหรับไทย นี่คือจังหวะที่เราต้องประเมินสถานการณ์ของภูมิรัฐศาสตร์ใหม่อีกรอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
    เพราะตัวแปรใหม่ได้เกิดขึ้นจากการรวมตัวทางด้านความมั่นคงที่ โจ ไบเดน เป็นคนเปิดฉากและผลักดันให้เกิดการแยกค่ายแยกฝ่ายกันอย่างจะแจ้งในภูมิภาคนี้
    สหรัฐกำลังรุกหนักในย่านนี้ เพราะมองเห็นจีนกำลังดันตัวเองไปข้างหน้าในเกือบทุกมิติ
    การวิเคราะห์ว่าผลประโยชน์ของไทยเราอยู่ตรงส่วนไหนของสมการแห่งดุลอำนาจใหม่ และการวางตัวให้ถูกต้องเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงที่ร้อนแรงขณะนี้จึงเป็นความท้าทายใหม่อย่างแท้จริง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"