'การเมืองเก่า'กัดกร่อน'3ป.' ทางเลือก'บิ๊กตู่'สู่นายกฯสมัยที่3


เพิ่มเพื่อน    

สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในช่วงนี้เป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับจังหวะก้าวทางการเมืองว่าจะเลือกเดินอย่างไร และจะกระทบต่อองคาพยพการเมืองไทยและสมการการเมืองก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน

                โดยฝ่ายค้านได้เปิดประเด็นข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง

                จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ที่เคยเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ยุค คสช.มาด้วย 5 ปี รวมกับปัจจุบันที่เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งอีก 2 ปี จะเหลือเวลาการเป็นนายกฯ อีกนานแค่ไหน

                ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ 1.ให้นับตั้งแต่สิงหาคม 2557 ภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบเป็นนายกฯ ซึ่งถ้านับตามแนวนี้ เมื่อพ้นสิงหาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ต้องพ้นเก้าอี้ทันที 2.นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันแรกของการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ จะเป็นนายกฯ ได้ถึงเดือนเมษายน ปี 2568 และ 3.นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นเวลาตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามมติของที่ประชุมรัฐสภา ถ้ายึดตามแนวทางนี้จะเป็นนายกฯ ได้ถึงมิถุนายน 2570

                อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังไม่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะเหตุยังไม่เกิด ต้องรอให้ถึงเดือน ส.ค.65 อาจจะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อความชัดเจน พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่มีอะไรน่ากังวลใจในช่วงนี้

                แต่ที่ร้อนระอุขึ้นมาคือ กรณี พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และผู้ร่วมก่อตั้งพรรค พปชร. เพื่อนนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 (ตท.12) ของ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ไม่อยู่พรรค พปชร.แล้ว เพราะจะไปร่วมงานในพรรคใหม่กับ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการ โดยยืนยันว่าพรรคใหม่จะต้องหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และเชื่อว่าถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่พรรคไหนพรรคนั้นไปได้ ขณะเดียวกันการเลือกตั้งคราวหน้าของ พปชร.ก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นเดียวกัน และเวลานี้คนมองที่ตัวของนายกฯ ไม่ใช่ที่พรรค

                ทำให้คนใกล้ชิด พล.อ.ประวิตรแสดงความไม่พอใจ ว่า "พ.อ.สุชาติไม่รู้จักกาลเทศะ เหมือนมาทำลายบรรยากาศระหว่างพี่น้อง 2 ป.ที่กำลังไปได้สวย และพี่น้องคู่นี้ก็ไม่มีวันแตกคอ แล้วการรีบเปิดตัวนำ ส.ส.ใต้ของ พปชร.ไปซบอกพรรคปลัดฉิ่ง มันเหมือนหักหน้า พล.อ.ประวิตรที่นั่งเป็นหัวหน้าพรรคอยู่"

                ทั้งนี้ พ.อ.สุชาติเป็นหนึ่งในขุนพลภาคใต้ที่ทำให้ พปชร.ปักธง ส.ส.ในภาคใต้ถึง 13 ที่นั่ง แต่ภายหลังเกิดความบาดหมางใจกับ พล.อ.ประวิตร จึงไม่ได้มีบทบาทใน พปชร.อีก

                สำหรับ ปลัดฉิ่ง-ฉัตรชัย ได้รับการมอบหมายจาก บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้เตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองไว้รองรับสถานการณ์ทางการเมืองในวันข้างหน้า ซึ่งล่าสุด พ.อ.สุชาติเปิดชื่อพรรคใหม่ เศรษฐกิจไทย แต่มีอีกชื่อคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะเป็นชื่อที่โดนมากกว่า

                หากย้อนไปช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร.เดินเกมล็อบบี้ ส.ส.โหวตไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ความแตก พล.อ.ประยุทธ์แก้เกมกลับได้ แล้วก็สั่งปลด ร.อ.ธรรมนัส พ้น รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้น รมช.แรงงาน โดยมีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรได้ขอ พล.อ.ประยุทธ์ไว้แล้ว แต่ขุนพลข้างกายก็ยังโดนปลดจนได้

                ที่น่าสนใจก่อนการลงมติโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส.พปชร.กลุ่มหนึ่งเข้าไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ในห้องทำงานที่รัฐสภา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์รับปากจะดูแล ส.ส.ด้วยตนเอง ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยแฉว่า มีการแจกเงิน ส.ส.คนละ 5 ล้าน แลกกับการโหวตลงมติไว้วางใจ

                จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ พล.อ.ประยุทธ์พลิกบทบาทหันมาพบปะรับฟัง ส.ส.มากขึ้น และเดินสายลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ พล.อ.ประวิตรก็ลงพื้นที่เช่นเดียวกัน และมีกำหนดการตรงกัน จนถูกมองว่าเป็นการวัดพลังกันของ พี่น้อง 2 ป.

            กรณี พล.อ.ประวิตรตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นั่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร.ถูกมองว่าเป็นการตีกันไม่ให้ ประยุทธ์-อนุพงษ์ เข้ามามีบทบาทในพรรค และจะไม่มีการปรับโครงสร้างพรรค ขณะที่ พล.อ.วิชญ์-ร.อ.ธรรมนัส ก็เริ่มเตรียมการเลือก โดย ร.อ.ธรรมนัสประเมินว่า กระแสความนิยมของ พปชร.อาจรั้งท้ายพรรคก้าวไกล จึงต้องทำงานหนักขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจะมีการยุบสภาเลือกตั้งเมื่อไหร่

                ล่าสุด พล.อ.ประวิตร ได้เรียกประชุมหัวหน้าภาคทั้ง 9 ภาค หารือถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น และเพื่อวางกลยุทธ์เลือกตั้งใหญ่ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ โดยได้หารือถึงบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่ง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า พรรคจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ในนามพรรค ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันยืนยันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ และสนับสนุน พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคเช่นเดิม โดย พล.อ.ประวิตรได้พูดย้ำกลางที่ประชุมว่า "ผมยังเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนนายกฯ เป็น พล.อ.ประยุทธ์ ลุงตู่อยู่กับเรา จะไปไหน ต้องตายจากกันไปข้างหนึ่ง ไปไหนกันไม่ได้ ไม่มีแตกแยก ไม่ขัดแย้ง"

                แต่ในวันรุ่งขึ้น พล.อ.ประวิตรกลับปฏิเสธที่จะตอบคำถามถึงเรื่องดังกล่าว

                ความขัดแย้งใน พี่น้อง 3 ป. แม้เจ้าตัวจะยืนยันกับสื่อตลอดว่าไม่มีความขัดแย้ง แต่การเมือง ไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร หากจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัวก็แตกคอกันได้เช่นกัน

                ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แกนนำคณะราษฎร ผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลังจากนั้นก็เกิดความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจตามไล่ล่าเข่นฆ่ากันอย่างน่าเวทนา

                หากว่ากันตามทฤษฎีการเมืองในการยึดกุมอำนาจรัฐ นอกจากยึดกุมอำนาจกองทัพไว้ให้ได้แล้ว ต้องยึดกุมอำนาจพรรคการเมือง มี ส.ส.เป็นฐานอำนาจในรัฐสภาได้ด้วย แต่สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ในเวลานี้เหมือนคน ขาลอย ต้องพึ่งพา ส.ส.จากพรรค พปชร.ที่ ประวิตร-ธรรมนัส กุมอำนาจอยู่ในมือ

                ล่าสุดมีข่าวว่าแกนนำพรรค พปชร.แอบส่งชื่อ ส.ส.พปชร. 2 คน ให้นายกฯ พิจารณาแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งก็ทำให้แกนนำพรรคอีกฝ่ายไม่พอใจ และยืนยันว่าต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน

                ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจปรับ ครม. “ประยุทธ์ 2/5” ในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ที่น่าสนใจมีชื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะมาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ อีก 1 ตำแหน่งด้วย และชื่อ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง รมช.กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง และหากจัดสรรไม่ลงตัวก็ต้องเกิดความขัดแย้งกันอีก

                และหากเปิดประชุมสภาฯ เดือน พ.ย.นี้ แล้วมีการเสนอ พ.ร.ก.เงินกู้ก้อนใหม่ นายกฯ ก็ต้องอาศัยเสียง ส.ส.ในการโหวตลงมติ ซึ่งก็จะเกิดการเจรจาต่อรองผลประโยชน์กันอีกรอบ

                ในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดความขัดแย้งเช่นกัน กรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กำกับ 4 กรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นงานของ ร.อ.ธรรมนัส อดีต รมช.เกษตรฯ จากเดิมที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นผู้กำกับดูแล โดยไม่ได้บอกกล่าวหรือปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบโดยตรง

                ทำให้พรรค ปชป.ไม่พอใจเสมือนการไม่ให้เกียรติกัน โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาในพรรค พปชร.ควรจะยุติ ไม่ควรที่จะกระทบถึงส่วนอื่นหรือพรรคการเมืองอื่น ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นเรื่อง แทนที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดให้ลุล่วงไปได้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่ไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งโดยไม่จำเป็น ซึ่งตนสื่อสารเรื่องนี้กับนายกฯ แล้ว

                ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรค ปชป. ได้แสดงความเห็นในไลน์กลุ่ม ส.ส.ปชป. ว่า "คำสั่งให้รองนายกฯ กำกับราชการกรม ซึ่งมิใช่กระทรวง น่าจะไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ม.11 (2) บัญญัติถึงอำนาจนายกรัฐมนตรีไว้ว่า มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีกำกับการบริหารราชการของกระทรวง หรือทบวงหนึ่ง หรือหลายกระทรวงหลายทบวงส่วน (3) บัญญัติว่า บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่ง ซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ในลักษณะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาตรา 20 บัญญัติว่า กระทรวงหนึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชา และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยฯ เป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการได้ตามที่รัฐมนตรีว่าการมอบหมาย จะเห็นว่าการมอบรองนายกฯ กำกับหน่วยงานระดับกรมกระทำมิได้ เพราะกรมขึ้นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คำสั่งเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อน และไม่น่าถูกต้องทั้งกฎหมาย และมารยาทการร่วมรัฐบาลผสม"

                นายสาทิตย์ยกข้อกฎหมายชี้ให้เห็นหลักการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องจับตาว่านายกฯ จะยกเลิกเหมือนที่เคยออกคำสั่งที่ 85/2564 เรื่อง มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่จังหวัด ซึ่งทำให้ ปชป.ไม่พอใจออกมาคัดค้านจนนายกฯ ต้องยกเลิกคำสั่งดังกล่าว

                อย่างไรก็ตาม สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงนี้ไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับกลุ่มการเมืองต่างๆ เหมือนเดิม แม้กลุ่มพลังนอกสภาที่ตั้งม็อบไล่ไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลได้ แต่ปัญหาภายใน พปชร.-พรรคร่วมรัฐบาล หากยังแก้ปมไม่ได้ก็ส่งผลให้อำนาจต่อรองลดลง จึงต้องกำหนดจังหวะก้าวทางการเมืองใหม่ และเพื่อเตรียมก้าวขึ้นสู่นายกฯ สมัยที่ 3 ด้วย

                 ทั้งนี้ หากจะกระโดดเข้าไปรับตำแหน่งใน พปชร.อย่างเต็มตัวก็ต้องเคลียร์ ประวิตร-ธรรมนัส ให้ได้ หรือจะไปร่วมพรรคใหม่ ของ ปลัดฉิ่ง ก็ต้องประเมินสถานการณ์ทางการเมืองให้รอบด้านทุกมิติ ทั้งกระแสความนิยมในตัวเอง การดึง ส.ส.เก่าบางส่วนมาร่วมด้วย เงินทุนที่ต้องใช้จำนวนมาก กติกาในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ หากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะได้เปรียบ-เสียเปรียบ อย่างไร

                แต่ทั้งหมดก็ยังอยู่ในวังวนของ การเมืองเก่า ที่ยังไม่มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน เป็น 7 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจ ซึ่งถูกมองว่า เสียของ บางคนถึงกับมองว่า เสียหายต่อประเทศชาติ เพราะปัญหาเมื่อ 7 ปีที่แล้วก็ยังดำรงอยู่เหมือนเดิม ความสงบก็ไม่ได้จบที่ลุงตู่ ยังมีม็อบชุมนุมอยู่แทบทุกวัน ประชาชนก็ยังแตกแยกเป็น 2 ขั้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกจาบจ้วงมากที่สุดในยุคนี้ ลิง ก็ยังชอบร้องกิน กล้วย น้ำก็ยังท่วมเหมือนเดิม แล้วก็ยกโขยงกันไปเยี่ยมชาวบ้าน แจกถุงยังชีพ ถ่ายรูปโชว์สื่อ ต้นปีหน้าก็ตามแก้ปัญหาฝนแล้งกันอีก ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่เป็นรูปธรรม

                ซึ่งเป็นผลพวงจาก การเมืองเก่า ที่กัดกร่อน ระบอบ 3 ป. ให้เสื่อมทรุด และฉุดรั้งการพัฒนาประเทศ

เมื่อยังอยู่ใน การเมืองเก่า การดำเนินงานทางการเมืองจึงเต็มไปด้วยการต่อรองผลประโยชน์ ชิงไหว ชิงพริบ เมื่ออีกฝ่ายเล่นเกม ตัวเองก็ต้องเดินเกมหักเหลี่ยมโหดเช่นกัน บางครั้ง อำนาจ ก็ต้องมาก่อน พี่น้อง บางคนก็ต้อง กลืนเลือด เป็น กับดัก ที่วางไว้เองทั้งสิ้น.

/////

ดึงโปรย

                “สถานะของพลเอกประยุทธ์ในช่วงนี้ไม่ได้มีอำนาจต่อรองกับกลุ่มการเมืองต่างๆ เหมือนเดิม แม้กลุ่มพลังนอกสภาที่ตั้งม็อบไล่ไม่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลได้”

           

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"