จับสัญญาณน้ำท่วมปี 64 จะซ้ำรอยมหาอุทกภัยปี 54 หรือไม่?


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

 

                สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน ไล่ลงมาจนถึงพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้่ำป่าสัก  ทั้งเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ยังปรับแผนเพิ่มการระบายน้ำ เพื่อรองรับมวลน้ำตอนบนที่มาสมทบอีกปริมาณมหาศาล
                 ขณะที่ภาคอีสาน แม่น้ำชี แม่น้ำมูลเอ่อล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน  ต้องเร่งระบายน้ำ และประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน  โดยเฉพาะน้ำท่วม  จ.ชัยภูมิ ที่ได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่ยังคงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง  ต้องจับตาจะมีพายุเข้ามาเพิ่มปริมาณน้ำให้สูงขึ้นอีกหรือไม่
มวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมแต่ละพื้นที่ ทำให้ประชนได้รับความเดือดร้อนและเสียหายอย่างหนักจากอุทกภัย  ต้องใช้เวลาระบายน้ำที่ท่วมขัง หลายคนตั้งคำถามและเปรียบเทียบน้ำท่วมในปี 2564 จะมีความเป็นไปได้เกิดมหาอุทกภัยเหมือนปี 2554  หาคำตอบและร่วมประเมินสถานการณ์จาก
               รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช. ) กล่าวว่า ปี 64 นี ประเทศไทยเจอพายุโซนร้อน 2 ลูกในเดือนกันยายน ทำให้ฝนตกต่อเนื่องมีปริมาณน้ำสะสมมาก และมวลน้ำจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มเจ้าพระยา จากสุโขทัยจะลงมาสมทบในอีก 7 วัน รวมถึงลุ่มน้ำป่าสักที่วิกกฤต เร่งระบาย คนท้ายเขื่อนป่าสักฯ จะอ่วม คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นถึง 2 เมตร    ซึ่งจะกระทบหลายจังหวัด รวมทั้งบางเลน จ.นครปฐม และกรุงเทพฯ ที่อยู่นอกแนวคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา  วันที่ 5-7 ต.ค.คาดว่า จะมีพายุเข้ามาอีก จ.อยุธยาจะต้องประเมินสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะเจอถึง 3 น้ำ
              " โอกาสน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 54  ไม่เกิดแน่นอน แต่จะเป็นน้ำท่วมปี 54 แบบเล็ก เจอท่วมรุนแรงเฉพาะที่ เฉพาะจุด  กทม.ชุมชนที่อาศัยริมน้ำเจ้าพระยาต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม บ้านอยู่นอกคันป้องกัน อย่างบางกอกน้อย คลองสาน ยานาวา เป็นไปได้ว่าจะท่วม  ส่วนปทุมธานี และนนทบุรี ยังมีฟันหรอบางส่วนเวลานี้ต้องเร่งเสริมคันกั้นน้ำ  ไม่ให้เจอท่วมหนัก "  
              รศ.ดร.สุจริต ระบุปัจจุบันระบบจัดการน้ำดีขึ้นกว่าปี 54   ยังมีบึงรับน้ำอีก 11 แห่ง ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกที่ลงทุนขุดลอกหลังน้ำท่วมใหญ่ ความจุรวม 1,000 ล้าน ลบ.ม. กลไกนี้จะช่วยตัดยอดน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ เต็มๆ  นอกจากนี้  ทาง กทม. ก็มีการป้องกันโดยมีคันกั้นน้ำที่สูงขึ้นจากปี 2554  สูงในระดับ 3 เมตร
               ความเสียหายจากน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย รศ.ดร.สุจริต บอกว่า ปีนี้น้ำมาเร็วกว่าทุกครั้ง เพราะฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนที่ตกไหลเข้าท่วมบ้านเรือน ร้านค้า ตลาด สถานที่ราชการทันทีเลย ไม่เหมือนเดิมที่กว่าน้ำจะเข้าพื้นที่ใช้เวลา 3 วัน 7 วัน  ทำให้ชาวบ้านเก็บของหนีน้ำไม่ทัน หมดเนื้อหมดตัว  รวมถึงแม้จะมีการเตือนภัย สร้างการรับรู้ แต่ชาวบ้านไม่ตระหนัก ยังเข้าใจบริบทเดิมๆ ยังไม่เร่งเก็บของ ไม่อพยพ เพราะคิดว่ามีเวลา ซึ่งรูปแบบฝนและน้ำมันเปลี่ยนไปแล้ว
             กรณีจ.ชัยภูมิเจอน้ำท่วมหนักในรอบ 50 ปี นักวิชาการน้ำ ระบุว่า เป็นเพราะชัยภูมิเจอแนวพายุฝนพัดเข้ามารุนแรง ปริมาณฝนจึงมาก บวกกับสภาพพื้นที่เป็นที่ลาด เป็นท้องไร่ท้องนา กว่าจะระบายออกแม่น้ำชีได้ต้องใช้เวลานาน ประกอบกับน้ำชีมีความหลากหนุนสูง  ระดับน้ำจึงท่วมสูง  เมื่อมาเจอมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ที่พังเสียหายน้ำไหลลงมา ทำให้ชัยภูมิเจอหนักและเกิดการท่วมนาน


             รศ.ดร.สุจริต ระบุว่า การแก้ปัญหาภัยพิบัติจากน้ำท่วม  จำเป็นต้องมีแผนที่เสี่้ยงภัยในพื้นที่ ตั้งสมมุติฐานว่า พื้นที่ไม่เคยท่วมก็อาจจะท่วมได้ ฝนตกปริมาณน้อย ปานกลาง และมาก จะส่งผลกระทบพื้นที่ใด บ้าง ถัดมาสร้างระบบเตือนภัยเฉพาะเจาะจง ในญี่ปุ่นมีกรมอุตุฯ ระดับจังหวัด พยากรณ์ได้แม่นยำ ต้องพัฒนากลไกต่างๆ และลดระยะเวลาในการระบายน้ำให้สั้นที่สุด  ต้องนำความรู้มาใส่ชุมชน และจังหวัด  แต่ไทยความสามารถไม่ถึง ทั้งด้านระบบข้อมูลและความเชื่อ  เรื่องนี้ อปท. หรือชุมชนต้องมีพี่เลี้ยง เพื่อให้องค์ความรู้ ซึ่ง อว.และมท. ต้องเข้ามามีบทบาทเติมเต็ม  เพื่อให้ปรับตัว และลดความเสียหายจากอุทกภัย  
            " ประเด็นเหล่านี้ ต้องมีการผลักดันในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่งหวังให้จังหวัดบูรณาการ ไม่ใช่ให้ส่วนกลางเป็นเจ้าภาพ เปลี่ยนจากช่วยเหลือ เป็นการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งร่างแผนฯ นี้อยู่ในขั้นตอนระดมความคิดเห็น และจะเริ่มใช้ตุลาคมปีหน้า ถ้ามีทิศทางตามแผน 13 เราจะเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงภายใน 5 ปี ทำให้ประเทศไทยหลุดจากวงจรแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเฉพาะหน้าทุกปีๆ  จะไม่มีประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักเหมือนปัจจุบัน " รศ.ดร.สุจริต ฝากความหวังในแผน 13    
                 ปัญหาพื้นที่แถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มักได้รับผลกระทบเวลาเจอตกหนักเป็นอีกประเด็น ที่ต้องมีแผนรับมือ  นักวิชาการน้ำชี้ว่า ต้องผลักดันโครงการเจ้าพระยาเดลต้า เพื่อสร้างสมดุลใหม่ ลดพื้นที่ปลูกข้าว เปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชชนิดอื่น เพราะแนวโน้มประชากรลดลง แรงงานภาคเกษตรไม่มี ราคาข้าวของไทยสู้เพื่อนบ้านไม่ได้ ประโยชน์อีกทางยังเป็นการเพิ่มพื้นที่รับน้ำนองของลุ่มเจ้าพระยา  ทำให้น้ำท่วมอยู่ในระดับจัดการได้ น้ำแล้งก็จัดการได้ อยากชวนกันคิดแก้ไข ไม่ใช่เมืองก็เติบโต โครงสร้างพื้นฐาน ถนน รถไฟ  แต่ขาดการเชื่อมโยงเรื่องจัดการน้ำ


                มีหลายเสียงออกมาพูดว่าน้ำท่วมปีนี้ จะซ้ำรอยกับปี 54 คนกรุงจะเจอกับมหาอุทกภัย  ในมุมมองของ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ  มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ฝนตกในภาคเหนือค่าเฉลี่ยน้อยกว่าปกติ แต่ปัจจุบันปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยแล้ว แต่ยังน้อยกว่าปี 2554  จะเห็นว่า น้ำเหนือมาน้อยกว่า 10 ปีที่แล้ว จากข้อมูลกรมชลประทานปริมาณน้ำระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,600-2,800 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที  แต่จะประมาทเพราะยังระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่ถึง 3,700 ล้าน ลบ.ม.จึงเหมือนปี 54 ไม่ได้
              นักวิชาการด้านภัยพิบัติยกตัวอย่างกรณี จ.สุโขทัย ทุกปีมีน้ำมาจากแพร่ แต่ปีนี้แพร่ไม่มีน้ำ ระดับน้ำยมต่ำกว่าตลิ่้ง แต่สุโขทัยทำไมท่วมรุนแรง โดนตีมาจากทางตะวันตก  ขณะที่พนังกั้นน้ำริมน้ำยมเป็นตัวขังไม่ให้น้ำระบายได้ เช่นเดียวกับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนก็เช่นกัน แม้น้ำเหนือมาน้อย แต่ปริมาณน้ำจากด้านข้าง เข้ามามาก ผลกระทบจากพายุจึงเป็นปัจจัยสำคัญ
              นอกจากนี้ ไทยยังจะเจอพายุอีกลูก ซึ่งมีกำลังแรงกว่าพายุเตี้ยนหมู่ด้วย อาจจะเป็นไต้ฝุ่น ซึ่งจะเข้าภาคกลางของประเทศเวียดนาม ช่วงวันที่ 8-10 ต.ค. นี้  ซึ่งต้องเฝ้าติดตามจะเข้าไทยเส้นทางไหน และลูกที่สองอาจจะมีตามมาอีกวันที่ 13-15 ต.ค.  ซึงเราต้องเชื่อว่ามีพายุไว้ก่อน  เพื่อวางแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ต้องบริหารแข่งกับเวลาด้วย ถ้ารอให้รู้ว่า พายุมาแน่นอน จะเหลือเวลาน้อยในการจัดการน้ำ เพราะอนาคตข้างหน้าไม่แน่นอน ในต่างประเทศยังต้องสร้างภาพจำลองฉายขึ้นมา  เมื่อตรงกับความจริง ก็หยิบภาพฉายนี้มาวางแผนและจัดทำมาตรการ  ถ้าประเทศไทยทำแบบนี้ รพ.ชัยภูมิ จะไม่ถูกน้ำท่วมหนัก    
               " ฉะนั้น เราต้องบริหารความเสี่ยงให้ได้ ถ้าเข้ามาเหนือเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ไม่เป็นไร เพราะเขื่อนมีปริมาตรรับได้ แต่ถ้าพายุเข้ามาใต้เขื่อน ที่นครสวรรค์ สุโขทัย พิษณุโลก จะหนักนะ หรือถ้าเข้ามาต่ำกว่าเขื่อนเจ้าพระอีก จะหนักในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เกิดน้ำท่วมทุ่ง ปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมจะเหมือนกรณีน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปู น้ำระบายออกไม่ได้ เพราะมีคันกั้นน้ำสูงมากในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ชัยนาท  สิงห์บุรี อ่างทอง    ต้องประเมินความเสี่ยง ว่าจะมาเส้นไหน และมีคำตอบ ส่วนคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ติดตาม ข้อมูลอย่างใกล้ชิด อย่าให้ความสำคัญกับน้ำเหนือมาน้อย  แต่ให้ความสำคัญกับฝน  "
            รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ขณะนี้กำลังทำแบบจำลองคาดการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง กรณีระบายน้ำ  2,800 ลบ.ม. ต่อวินาที และมีพายุพาดผ่านภาคกลาง ฝนตกหนักเข้ามาเติม ผลปรากฎว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมดจะมีปัญหาแน่นอน มีบทเรียนจากเตี้ยนหมู่แล้ว ชัดเจนฝนจากพายุอันตราย พึงระวังความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น  
                เมื่อถามถึงศักยภาพพื้นที่รับน้ำในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง เพื่อหน่วงน้ำ   ดร.เสรี บอกว่า ปัจจุบันไหลผ่านเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาทีก็เหนื่อยแล้ว  ถ้าผันมาทางลุ่มแม่น้ำน้อย คนก็ลำบากเพราะเกินศักยภาพ รับได้  ถ้าเพิ่มมา  3,000-3,500  ลบ.ม.ต่อวินาที จะหนักแน่ เกาะเมืองอยุธยาจะถูกกระทบแบบน่ากลัว  แต่ถามว่า จะตัดยอดน้ำได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ระดับเหนือเขื่อนเจ้าพระยาต่างจากปี 54 แค่ 1 เมตร โดยวันนี้อยู่ที่ 17 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง(รทก.)  แต่ปี  54  อยู่ระดับ 18 เมตร รทก. ซึ่งถ้ามีฝนตกหนักจากพายุเข้ามาอีก ถามว่าโครงสร้างพื้นฐานจะรับได้มั้ย คันกั้นน้ำ ประตูน้ำจะแตกอีกหรือไม่เรื่องเหล่านี้ต้องคิดเตรียมพร้อมรับมือ
              " คนกรุงเทพฯ และปริมณฑล กังวลกับสถานการณ์ได้ เพราะเจอน้ำรอการระบายแน่นอน ฝนจะตกสั้นๆ แต่หนัก น้ำเหนือที่มาแม้น้อยกว่าปกติ แต่อย่าวางใจ น้ำมาหาได้ และจะยกระดับมาเรื่้อยๆ ถ้าบางไทรแตะ 3,000 ลบ.ม. ต่อวินาที ให้ติดตามข่าวสาร    พายุมาก็ติดตามสถานการณ์ ใช้เวลา 1 สัปดาห์น้ำจะมา  เมื่อไหร่น้ำหลาก น้ำล้น ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ก็ต้องตัวใครตัวมัน " รศ.ดร.เสรี ย้ำคนกรุงติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด  
               แล้วภาคอีสานล่ะจะเจอพายุอีกหรือไม่  ดร.เสรี แสดงความกังวลว่า จะได้รับผลกระทบจากพายุลูกใหม่ แน่นอน แต่จะเป็นอีสานตอนบน ตอนกลาง หรือตอนล่าง ยังระบุไม่ได้ เพราะแนวโน้มจะไปอีสานกลาง  ซึ่งจะซ้ำกับเหตุการณ์ชัยภูมิ และขอนแก่น แต่ถ้าพายุเข้าอีสานตอนบนไป ก็จะไปที่จ.อุดรธานี และหนองคาย
               " เส้นทางพายุไม่แน่นอนจริง ๆ ผมมีประสบการณ์คาดการณ์พายุที่จ.นครราชสีมา อ.ปากช่องจะตก 160 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางผ่านนครราชสีมา คล้ายสภาพอากาศปี 2553  ที่น้ำท่วมปากช่อง คิดว่าปีนี้ปากช่องไม่รอดแน่  เป็นการประเมิน 3 วันล่วงหน้า แต่ปรากฎว่าเส้นทางพายุเปลี่ยนขึ้นไปด้านบนแทน  แต่พอคาดการณ์ 1 วัน  ล่วงหน้าก็ ผ่านไปทาง จ.ชัยภูมิ  เส้นทางที่ไปแปรปรวนตลอด ต้องติดตาม สุดท้ายปากช่องไม่โดน เพราะไปที่ชัยภูมิแทน " รศ.ดร.เสรี กล่าว
                 นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรี ยังย้ำเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศ  จะทำให้โลกเจอกับ ภาวะฝนตกจะหนักขึ้น 2-3 เท่า  อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศา จะมีความชื้นเพิ่้มขึ้น 7-10 % พอหมดฝน เจอแล้ง และจะแล้งหนักขึ้น 4 เท่า เพราะอุณหภูมิสูงขึ้น น้ำระเหยมากขึ้น รวมถึงระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น อย่างอ่าวไทยระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 30-40 เซนติเมตร อีก 80 ปี  จะเพิ่มขึ้น 1.50-2 เมตร ขึ้นกับผู้นำโลกที่จะเจรจาโลกร้อนกันเดือนพฤศจิกายนนี้  สหประชาชาติส่งสัญญาณเตือนภัย และระบุไม่มีประเทศใดที่รายงานบรรลุเป้าหมายลดอุณหภูมิ อีก 10 ปีข้างหน้า เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่เกิดขึ้นแน่นอน ถึงเวลาปรับตัวอยู่กับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม เพราะเป็นผลพวงจากพฤติกรรมเรา ยิ่งภัยโควิดเกิดขึ้น ยากที่จะหยุดการพัฒนา

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"