เราผ่านจุดต่ำสุดแล้ว จริงหรือ...ปีนี้จะไปทางไหน?


เพิ่มเพื่อน    

หากเราเชื่อแนวทางวิเคราะห์ของแบงก์ชาติ, ไทยก็ผ่านจุดที่เศรษฐกิจ “ต่ำสุด” ในไตรมาสที่สามมาแล้ว วันนี้เราอยู่ในไตรมาสที่ 4 จึงควรจะเห็นภาพของการฟื้นตัวอย่างจริงจัง

            โดยมีเงื่อนไขสำคัญว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะไม่หวนกลับมาอาละวาดรอบใหม่ เหมือนที่เกิดกับหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรืออิสราเอล ที่ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในระดับต้นๆ ของโลก

            ไทยเรามีอะไรที่ประเทศอื่นไม่มีหรือ? นี่คือคำถามที่ยังต้องเฝ้าระวังกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

            รายงานจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ครั้งที่ 6/2564 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดเมื่อ 29 กันยายนที่ผ่านมา ยังมีคำเตือนหลายด้านที่รัฐบาลจะต้องนำไปพิจารณาและปฏิบัติ

            คุณทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ กนง. บอกว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

            เพราะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 และปี 2565 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อน

            แต่ก็เตือนว่า “ยังมีความไม่แน่นอนสูง”

            ปัจจัยด้านบวกคือการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้น และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด

            แต่โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยก็ยังคือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง

            แม้ด้านมาตรการด้านการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

            คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ

            จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้

            ตัวเลขที่น่าสนใจคือการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.7 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ

            แปลว่า กนง.เห็นว่าปีนี้ไม่ติดลบ และปีหน้าจะบวกมากกว่าเดิมที่คาดไว้

            แต่ไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด

            แต่ไตรมาสที่ 4 น่าจะกระเตื้องขึ้นจากการพัฒนาการด้านวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจน และการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด

            ปี 2565 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

            นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาไหม

            กนง.เชื่อว่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ

            แต่การส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์

            ตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

            คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

            แต่ต้องตระหนักว่าเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง

            เพราะต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ

            ที่น่าสนใจคือสภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง

            แต่ปัญหาคือการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน

            ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น

            คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

            เรื่องสำคัญคือรัฐบาลต้องเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้

            เช่น มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

            ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้าง และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว

            ในช่วงจังหวะใกล้กันนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 64 ลงอยู่ที่ 0.8% จากที่เคยคาดการณ์ที่ 3% เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

            และปรับลดแนวโน้มเศรษฐกิจของปี 65 ลงจาก 4.5% ไปอยู่ที่ 3.9% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับของ กนง.

            แต่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นในเอเซียมีแนวโน้มที่ดีกว่าไทย

            เอดีบีคาดว่าประเทศเหล่านี้จะขยายตัว 7.1% ในปี 64 ซึ่งเป็นการปรับลดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 7.3% ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา

            สำหรับปี 65 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.4% จาก 5.3%

            ที่น่ากลัวคือเอดีบีบอกว่าโควิด-19 ได้ส่งผลให้ประชากรราว 75-80 ล้านคนของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเข้าสู่ความยากจนขั้นรุนแรง

            ซึ่งทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหารมากขึ้น

            และในปีนี้ความหิวโหยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 ตามการประเมินของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา

            และจากจำนวนประชากร 291 ล้านคนที่ได้รับความทุกข์ยากจากความไม่มั่นคงด้านอาหารทั่วโลกนั้น 72% อยู่ในภูมิภาคเอเชีย

            โดยเฉพาะในบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย และปากีสถาน

            ดังนั้น ปีหน้าจึงเป็นปีที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย...โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นความไม่แน่นอนทั้งด้านแพร่ของโรคระบาด, การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

            และการเมืองที่ยังมีปัจจัยผันผวนอย่างสูง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"