นายกฯลุยอุบลฯ ‘คมปาซุ’ส่อแผ่ว สั่งจับตา‘นํ้าเทิน’


เพิ่มเพื่อน    

นายกฯ สั่ง มท.-ผวจ.รับมือฝนถล่มอีสานพิษพายุ "ไลออนร็อก" ก่อนหอบคณะลงพื้นที่อุบลฯ ติดตามบริหารจัดการน้ำวันศุกร์ กอนช.สนองนโยบาย "บิ๊กป้อม" กักน้ำท่วมไว้ใช้หน้าแล้ง ชี้ "คมปาซุ" ไม่กระทบไทย คาด 18 ต.ค.ปริมาณฝนลด พร้อมจับตาพายุลูกใหม่ "น้ำเทิน"
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุที่จะเข้าประเทศไทย หลังได้รับรายงานการวิเคราะห์สภาพภูมิอากาศและการคาดการณ์ฝนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพบว่า สถานการณ์พายุโซนร้อน "ไลออนร็อก” บริเวณประเทศลาวปะทะกับความกดอากาศสูงแล้วอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วและสลายตัวไป ส่วนพายุโซนร้อน “คมปาซุ” บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้ประเทศฟิลิปปินส์ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนที่ทางตะวันตกผ่านแนวประเทศจีนตอนใต้ ส่งผลให้ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาเกิน 90 มิลลิเมตร ที่จังหวัดตราด, สกลนคร, มุกดาหารและหนองคาย
    นอกจากนี้ มีหลายพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินโคลนถล่มจากฝนตกหนักมากกว่า 90 มิลลิเมตร ดังนี้ ภาคเหนือ (น่าน, เพชรบูรณ์,  นครสวรรค์, อุทัยธานี) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ชัยภูมิ, ขอนแก่น,  เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, อุดรธานี, สกลนคร) ภาคตะวันออก (ระยอง, จันทบุรี, ตราด) และภาคใต้ (ระนอง, พังงา) ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย, ผู้ว่าราชการจังหวัดเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน  พร้อมกำชับให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ใช้ในการบัญชาการสถานการณ์และแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการนำแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Line มาใช้เป็นช่องทางเพื่อสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัย ให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุมด้วย
    นายธนกรกล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 15 ต.ค.นี้ นายกฯ พร้อมคณะมีกำหนดการลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของโรงเรียนวัดป่าศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนบูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมได้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน คือพลังงานและการเกษตร จนเป็นที่รู้จักในนามโรงเรียนพลังงานทดแทนต้นแบบ และศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีจะติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ อุบลราชธานี-โขงเจียมด้วย
    ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทยเตรียมการรับมือพายุไลออนร็อกแล้ว ส่วนจะเข้าไทยหรือไม่เข้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
    นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์พายุที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยจำนวน 2 ลูกในช่วงที่ผ่านมา พบว่าพายุโซนร้อน "ไลออนร็อก" ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนแล้ว และขณะนี้หย่อมความกดอากาศต่ำได้เคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กอนช.จึงประสานหน่วยงานเฝ้าระวังพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบตลอด 24 ชม.
    ส่วนพายุโซนร้อน "คมปาซุ" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ พบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยคาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งเวียดนาม ประมาณวันที่ 14 ต.ค.นี้ ซึ่งด้วยอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศสูง  พายุคมปาซุจะมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเช่นเดียวกับพายุไลออนร็อก
    ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 12-16 ต.ค.นี้ คาดว่าร่องมรสุมจะพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลกระทบทางอ้อมจากพายุทั้ง 2 ลูก ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยฝนที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือจะส่งผลดีในการเติมน้ำให้แก่แหล่งน้ำ อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ โดยคาดว่าปริมาณฝนจะตกไม่มากนักจนส่งผลกระทบซ้ำเติมในพื้นที่ ซึ่งยังคงประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ และภายหลังวันที่ 18 ต.ค. ปริมาณฝนจะเริ่มลดลงตามลำดับ นอกจากนี้ กอนช.ยังได้ติดตามพายุโซนร้อน "น้ำเทิน" ซึ่งศูนย์กลางยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และกำลังเคลื่อนตัวทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และวกกลับไปทางทิศเหนือ ซึ่งต้องประเมินทิศทางของพายุลูกนี้ต่อไป    
    นายสุรสีห์กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ  โดยคำนึงถึงการเก็บกักน้ำในช่วงนี้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในช่วงฤดูแล้งถัดไปให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งเร่งช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้สถานการณ์คลี่คลายลงและกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 
    วันเดียวกัน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ตอบโต้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่รุมถล่มการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ว่า ก่อนที่บรรดาลิ่วล้อพรรคเพื่อไทยทั้งหลายจะออกมากล่าวหาโจมตีนายกฯ และรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ  ขอให้ย้อนดูตัวเองก่อนว่าที่ผ่านมารัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  อดีตนายกฯ ได้แก้ไขปัญหาประเทศ หรือบริหารจัดการน้ำอย่างไรบ้าง   ให้ย้อนกลับไปดูผลงานของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยปี 54 ถ้าไม่รู้ข้อมูล  ไม่ไปศึกษาย้อนหลัง แสดงว่าเกิดไม่ทันใช่ไหม ซึ่งในรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์คงจะคิดแต่เรื่องอภิมหาโปรเจกต์ว่าจะได้เงินทอนกันกี่เปอร์เซ็นต์ใช่ไหม จึงไม่มีเวลามาวางแผนเตรียมการป้องกันน้ำท่วมช่วยประชาชน จึงทำให้เกิดน้ำท่วมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"