สธ.ส่ง'ไฟเซอร์'โจมตีโควิด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้


เพิ่มเพื่อน    


12 ส.ค.64-นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน แถลงสถานการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยพบการติดเชื้อใหม่ 9,445 ราย หายป่วย 11,452 ราย เสียชีวิต 84 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 1,730,364 ราย ภาพรวมการรายงานแต่ละวันแบ่งกลุ่ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คิดเป็นร้อยละ 21 จังหวัดชายแดนใต้ ร้อยละ 22 ซึ่งสูงกว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล เล็กน้อย และจังหวัดอื่นๆ ร้อยละ 57 สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง 2,954 ราย ลดลงต่อเนื่องจาก 3,200 กว่ารายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมฑล 1,084 ราย ภาคใต้ใน 4 จังหวัด 232 ราย จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 19 จังหวัด 673 ราย และจังหวัดอื่นๆ 965 ราย ส่วนผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 660 ราย ลดมาจาก 729 ราย

การรายงานแกว่งตัวอยู่บ้าง แต่ภาพรวมทิศทางลดลง แนวโน้มการระบาดน่าจะรับมือได้อย่างดี และค่อยๆ ลดลง ทั้งนี้ การโฟกัสพื้นที่ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นต่อเนื่อง พบใน 4 จังหวัดภาคใต้ และจังหวัดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน ต้องมีมาตรการระดมลงไปสนันสนุนเพื่อควบคุมโรค ในส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น 805,146 โดส สะสม 61,033,251 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 35.4 ล้านโดส ครอบคลุมประชากร ร้อยละ 49.2 วางแผนว่าปลายเดือนจะได้ครบร้อยละ 50 แต่น่าจะถึงก่อนกำหนด เข็มที่ 2 ฉีด 23.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 33 สูตรหลักที่เราฉีดเป็นเข็มที่ 1 ซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้น หมายความว่าตัวเลขเข็มที่ 2 ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านโดส ได้ และเข็มที่ 3 อีก 1.7 ล้านโดส คิดเป็นร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กนักเรียน 12-18 ปี ฉีดไปแล้วเกือบ 5 แสนโดส ซึ่งเป็นการฉีดในหน่วยบริการนอกสถานพยาบาล รายงานจึงอาจไม่ได้เข้าระบบทันที โดยขอให้นักเรียนอย่าหลงเชื่อข่าวปลอมในโลกโซเซียล ข่าวที่ไม่มีความจริงก็สร้างความวิตกกังวล

ในการเปิดประเทศโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แถลงไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. เพื่อรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูการท่องเที่ยวในไทยปลายปีนี้ ดังนั้นต้องมีมาตรการรองรับ ทั้งการกำหนดประเทศที่จะเดินทางมาในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ มีหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงมาตรการในพื้นที่ที่ต้องฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์ที่สูง รายงานสถานการณ์วัคซีนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ภาพรวมเข็มที่ 1 ร้อยละ 70 ฉีดมากที่สุดใน กรุงเทพฯ สูงเกินกว่าฐานในทะเบียนประชากรเป็นร้อยละ 102.8 ซึ่งอาจรวมประชาชนที่มาจากปริมณฑลด้วย จ.ภูเก็ต ฉีดร้อยละ 80 จ.สมุทรปราการ ร้อยละ 68.8 ซึ่งหลายจังหวัดยังฉีดได้ต่ำกว่า ร้อยละ 50 เช่น อุดรธานี ร้อยละ 38 หนองคาย ร้อยละ 38 เลย ร้อยละ 37 อย่างไรก็ตามไม่ต้องห่วง เพราะพื้นที่เหล่านี้ต้องเตรียมความพร้อมในการจัดสรรวัคซีนอยู่แล้ว ก็ขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ติดตามข้อมูลข่าวสารในจังหวัด เพื่อติดต่อรับวัคซีน ให้พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา เชื่อว่าหลังประกาศนโยบายวันเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยว ประชาชนจะสนใจการฉีดวัคซีนกันเยอะ สามารถเร่งฉีดให้ตามเป้าหมายได้


นพ.เฉวตสรร ยังกล่าวว่า การฉีดวัคซีนใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประชาชนทั่วไปฉีด 1.5 ล้านคน จากฐานประชากร 3.5 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 42.4 ส่วนกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป 260,739 คนคิดเป็น ร้อยละ 58 กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว 143,784 คนคิดเป็น ร้อยละ 51.2 โดยจะลดหลั่นตามพื้นที่ โดยช่วงนี้ได้รับวัคซีนเพิ่มจำนวนมาก ทาง นพ.สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 12 ก็รับนโยบายจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด​กระทรวง​สาธารณสุข​ เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนต่อเนื่อง ระบบเข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวางรวดเร็วให้ได้เป้าหมาย ร้อยละ 70 ของประชากร คาดว่าจะทำได้ปลายเดือนต.ค. อย่างไรก็ตาม ภาคใต้ตอนล่างที่มีระบาดสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้)​ อัลฟ่า (อังกฤษ)​ และเดลต้า (อินเดีย)​จึงมีความจำเป็นต้องใช้วัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งเราก็ได้จัดส่งไปแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 17 จังหวัด มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ ภูเก็ต ร้อยละ 80.1 สุราษฎร์ธานี ร้อยล 43 กรุงเทพฯ ร้อยละ 102.8 กระบี่ ร้อยละ 41.9 พังงา ร้อยละ 57.5 ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยละ 49.3 เพชรบุรี ร้อยละ 54 ชลบุรี ร้อยละ 71.7 ระนอง ร้อยละ 56.1 สมุทรปราการ ร้อยละ 68.8 ระยอง ร้อยละ 51.7 ตราด ร้อยละ 45.6 เชียงใหม่ ร้อยละ 45.3 เลย ร้อยละ 37.3 บุรีรัมย์ ร้อยละ 49.1 หนองคาย ร้อยละ 38.8 และ อุดรธานี ร้อยละ 38.1

นพ.เฉวตสรร กล่าวถึงประเด็นการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรกที่เราฉีดมาระยะหนึ่งแล้ว ก็จะกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพราะภูมิคุ้มกันขึ้นสูง ใช้เวลาเร็วกว่าการฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ฉะนั้น การฉีดในช่วงที่เรายังมีซิโนแวคอยู่ ก็จะใช้สูตรหลักต่อไปเพื่อประโยชน์ดังกล่าว ส่วนคำถามว่าการฉีดสูตรไขว้แล้วจำเป็นต้องกระตุ้นหรือไม่ โดยหลักการหากภูมิคุ้มกันอยู่ระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ แต่เวลาผ่านไปโดยประมาณ 3-6 เดือน ก็อาจค่อยๆ ลดลง ก็จะพิจารณาให้เข็มกระตุ้น แต่ท่านที่ฉีดไปแล้วไม่ต้องกังวล เพราะยังไม่ระยะเวลา เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการกระตุ้นให้ผู้ฉีดซิโนแวค 2 เข็มตั้งแต่เดือนมิ.ย. แล้วก็เริ่มขยายรับมากขึ้น โดยประมาณ 6 เดือนไล่ตามลำดับเวลา

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คนที่ฉีดเข็มไขว้ ซิโนแวค  และแอสตร้าเซน​เน​ก้า​ ภูมิคุ้มกัน​จะสูงและเพิ่งฉีดมาไม่นาน ตอนนี้ไม่ต้องร้อนใจ ภูมิคุ้มกันของท่านยังสูงอยู่และที่สำคัญ ไม่ว่าจะฉีดสูตรไหน มาตรการต้องเข้มข้น การ์ดยังต้องสูง ป้องกันตัวเองสูงสุดกับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา

เมื่อถามถึงมติในที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พิจารณาสูตรไขว้ใหม่เป็น วัคซีนแอสตร้าเซน​เน​ก้า​ ตามด้วยไฟเซอร์ หากผ่าน ศบค.แล้วจะมีการนำมาใช้อย่างไร และสูตรไขว้เดิมยังต้องใช้ต่อไปหรือไม่ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ก็จะพิจารณาสูตรวัคซีนที่เป็นไปได้ตามหลักวิชาการ เวลาที่จะกำหนดสูตรวัคซีน ทางอีโอซีของกระทรวง​สาธารณสุข​จะมาพิจารณาเรื่องการส่งมอบวัคซีนว่ามีอะไรบ้างในมือ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ครอบคลุม กระตุ้นภูมิคุ้มกัน​ ได้เร็ว หลังจากนั้นจะเสนอไปที่ ศบค. เพื่อพิจารณาประกาศใช้

นพ.​เฉวตสรร กล่าวเพิ่มเติมว่า สูตรที่ปรากฎในข่าว เป็นเรื่องความมั่นใจทางวิชาการ แต่ในส่วนที่ใช้สูตรไขว้ปัจจุบัน ศบค.จะประเมินและประกาศใช้สูตรใดบ้าง และไม่จำเป็นต้องมีสูตรเดียว แต่โดยทั่วไปเพื่อไม่ให้สับสนในทางปฏิบัติ ก็จะระบุให้ชัดเจนและมีหนังสือสั่งการออกไป อย่างไรก็ตามในเวลาที่มีหลายสูตร ประเทศที่มีการบริหารจัดการเหมือนเรา จะใช้วิธีให้สาธารณสุขกำหนดสูตร จะไม่ให้ประชาชนเลือกสูตรไขว้ด้วยตัวเอง ดังนั้น ขอให้มั่นใจว่าสูตรที่ประกาศใช้ได้ ฉีดได้เลยไม่ควรรีรอ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"