“รำลึกในหลวง ร.9-ทัศนะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”


เพิ่มเพื่อน    

13 ตุลาคม พ.ศ.2564 วันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พสกนิกรต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ตัวแทนของประชาชนจากกลุ่มองค์กร ผู้จงรักภักดี ได้กล่าวถึงคุโณปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อสังคมไทยไว้อย่างน่าสนใจ พร้อมทั้งแสดงทัศนะต่อความคิดเห็นที่แตกต่างในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงจุดยืนของตนเองในการทำกิจกรรมในการปกป้องสถาบันฯ โดยมีแรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแนวทาง
สถาบันพระมหากษัตริย์ปฏิรูปตัวเองเสมอมา
นายชัยวัฒน์ สมมิตร“เชน องค์กรนักเรียนดี” กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยมีความผูกพันกันมาอย่างยาวนานในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม โดยในอดีตสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้ออกหน้านำทัพเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และในอีกยุคหนึ่งเมื่อสถานการณ์ของสังคมเปลี่ยนแปลงไป ในยุคล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นหลักพึ่งพิงและนำพาประเทศชาติให้รอดพ้นจากการล่าอาณานิคมด้วยการใช้สติปัญญาดำเนินนโยบายการต่างประเทศและการปฏิรูปประเทศ จนมาถึงในปัจจุบันยังคงเป็นหลักชัยให้กับประเทศด้วยการนำพาประเทศด้วยการพัฒนาก้าวข้ามผ่านความเหลื่อมล้ำความยากจน กล่าวโดยสรุปก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยและเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งความเสียสละ ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว รวมถึงการใช้สติปัญญาและการพัฒนาประเทศ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย


เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรเมื่อได้เห็นและได้ยินประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศที่คิดเห็นต่างในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เขาบอกว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะเมื่อเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้ว กลุ่มคนที่คิดเห็นต่างจากเราก็คงคิดว่าทำไมพวกเราถึงยังคงรักและเทิดทูนสถาบันฯ อยู่ จึงคิดว่าความคิดเห็นต่างกันนี้จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดการพัฒนาในประเทศได้ เพราะนี่แหละคือส่วนหนึ่งของความเป็นประชาธิปไตย เห็นว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย และมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 
ส่วนกรณีที่มีคนต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ตนมองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์มีการปฏิรูปในตัวเองมาตลอดระยะเวลาอยู่แล้ว เพราะเมื่อบริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป สถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นสมัยสุโขทัยก็แตกต่างจากอยุธยา ในสมัยอยุธยาก็แตกต่างจากกรุงธนบุรี ในสมัยกรุงธนบุรีก็แตกต่างจากในสมัยรัตนโกสินทร์ และเมื่อมองในสมัยรัตนโกสินทร์ในแต่ละราชการก็มีการปรับเปลี่ยนมาโดยตลอดจนปัจจุบัน
“และยิ่งถ้ามองในเวลาที่ใกล้กับปัจจุบัน คือก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็เห็นได้ชัดเจนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นมีการปรับเปลี่ยนและปฏิรูปตนเองมาเสมอ”
ขณะที่แนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรนักเรียนดี ยังคงยืนยันขับเคลื่อนสังคมและสร้างประเทศในอนาคตด้วยความรักและการให้ เพราะองค์กรเชื่อว่าการสร้างประเทศด้วยสิ่งใดในอนาคตประเทศก็จะมีสิ่งนั้น ดังนั้น การสร้างประเทศด้วยความรักและการให้ ในอนาคตประเทศของเราก็จะเต็มไปด้วยความรักและการให้เช่นกัน


“องค์กรนักเรียนดีได้แรงบันดาลใจจากในหลวงรัชกาลที่   9 ในการที่พระองค์ไม่ได้แทรกแซงการทำงานของภาครัฐ แต่พระองค์ได้เติมเต็มในส่วนที่ขาด”
เชน องค์กรนักเรียนดี กล่าวว่า สิ่งที่องค์กรเห็นได้อย่างชัดเจนคือการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา คือการที่พระองค์ได้จัดตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น และจากแรงบันดาลใจนี้ทำให้องค์กรนักเรียนดีต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการลดความเหลื่อมล้ำ สำหรับในแผนงานอันใกล้นี้เราจะรับบริจาคชุดนักเรียน อุปกรณ์ทางการเรียนและอุปกรณ์กีฬา เพื่อนำไปให้กับโรงเรียนที่ยังขาดแคลนอยู่ อันนี้ถือเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ โดยเราไม่ได้เข้าไปแทรกแซงการทำงานของภาครัฐ แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ก่อให้เกิดการให้จากความรักด้วยจิตอาสา
“ผู้พันเบิร์ด” เปรียบ ร.9 ดั่งสมเด็จพระนเรศวรฯ
ทางด้าน “ผู้พันเบิร์ด” พันเอกวันชนะ สวัสดี ผู้ช่วยโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากเรื่องเล่าหลังพระบรมโกศ เมื่อทราบความจริงทั้งหมด ยิ่งทำให้รู้ว่า ที่คิดว่ารู้นั้นรู้น้อยมาก ที่คิดว่ารักนั้นรักน้อยอยู่ ที่คิดว่าภักดีนั้นคงไม่พอผมเห็นโต๊ะที่ต่างไปจากงานพิธีตัวหนึ่งตั้งอยู่หลังหีบพระบรมศพ ก็ได้เรื่องดีๆ เป็นกำลังใจ เรื่องนี้ผมได้รู้ว่า พระองค์ทำเพื่อคนไทยมาตลอด แม้ลมหายใจสุดท้ายของพระองค์
 หลายคนที่ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ แม้จะได้ขึ้นไปกราบเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากที่รอต่อแถวเป็นหลายชั่วโมง เป็นวันก็มี ผมและครอบครัวคือหนึ่งในคนที่ได้ไปซึมซับบรรยากาศครั้งนั้น เมื่อเดินก้าวเข้าไปในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ผมได้พยายามเก็บภาพจำและนึกถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเพื่อเก็บไว้กับตัวเองให้ครบถ้วนที่สุด และเมื่อกราบเรียบร้อย เจ้าพนักงานให้เดินออกไปทางขวา และในระหว่างที่เดินออก ผมได้มองเห็นด้านหลังพระบรมโกศ ที่มีหีบพระบรมศพตั้งอยู่ พื้นที่บริเวณนั้นถูกจัดเป็นระเบียบ มีโต๊ะตัวหนึ่งตั้งอยู่ เป็นโต๊ะที่แตกต่างจากงานพระราชพิธี เห็นมีของตั้งอยู่บนโต๊ะด้วย
 ด้วยความสงสัย เมื่อลงไปใส่รองเท้าเสร็จแล้วจึงถามกับเจ้าพนักงานและสืบค้นจากพี่ๆ ที่รู้จักในภายหลัง ได้ความว่า โต๊ะนี้เป็นโต๊ะทรงงานของพระองค์ บนโต๊ะมีแผนที่ แว่นขยาย ดินสอ ใต้โต๊ะมีกระเป๋าหนังสือสีน้ำตาล 1 ใบ แผนที่บนโต๊ะนั้นเป็นระวาง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นฉะเชิงเทราเพราะว่าพระองค์กำลังวางแผนทำแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณภาคตะวันออกในปี 55 แต่พระองค์ประชวรเสียก่อน เลยไม่ได้กลับมานั่งโต๊ะทรงงานนี้อีก เหตุเพราะเมื่อปี 54 น้ำท่วมหนักมาก พระองค์กลัวว่าถ้าท่วมอีก เศรษฐกิจจะแย่ ประชาชนจะลำบากหนัก จึงพยายามวางแผนทำแก้มลิงให้ภาคตะวันออก และภาพจำที่คนไทยคุ้นตาคือภาพที่พระองค์ออกมาประทับที่ระเบียงของโรงพยาบาลศิริราชเพื่อทอดพระเนตรระดับน้ำและการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงให้เราเห็นถึงความตั้งพระทัยอันแน่วแน่ในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำให้กับชาวไทย จนกระทั่งวันที่พระองค์เสด็จสวรรคต 
“ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่พระองค์ทรงยกทัพขึ้นไปทางเหนือเพื่อที่จะไปปราบอังวะ ในปี 2148 แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินอโยธยาในตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเฉกเช่นเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนชาวไทย”
    พันเอกวันชนะกล่าวว่า หากจะเล่าเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงต้องเล่าผ่านสายน้ำ ครั้งหนึ่งเมื่อประเทศเกิดความแห้งแล้ง สิ่งที่พระองค์พระราชทานมาให้คือน้ำจากฝากฟ้าผ่านโครงการฝนหลวง เพื่อให้พื้นแผ่นดินมีความชุ่มชื้นหลังจากนั้นพระองค์ได้พระราชทานแนวคิดในการสร้างเขื่อนและฝ่ายชะลอน้ำ เพื่อให้น้ำเหล่านั้นไหลช้าลง น้ำจึงซึมลึกลงไปใต้ดิน สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นแผ่นดินทั้งบนดินและใต้ดิน เมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์แล้วจึงเกิดเป็นพืชพันธุ์ธัญญาหารและป่าไม้ พระองค์ก็ได้พระราชทานแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ พื้นที่ที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดเป็นความมั่นคงในความเป็นอยู่ของประชาชนและการประกอบอาชีพ
หลังจากนั้น เมื่อพวกเราได้สร้างหมู่บ้าน ตัดถนนขวางทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะน้ำไหลเข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจ พระองค์จึงได้ทำการบริหารจัดการน้ำผ่านโครงการแก้มลิงเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเหล่านั้นไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เราจึงได้ใช้น้ำอย่างมีความสุข หลังจากที่ใช้น้ำกลายเป็นน้ำเสียแล้ว พระองค์ก็ยังตามมาแก้ไขปัญหาน้ำเสียผ่านโครงการกังหันชัยพัฒนาอีกด้วย เรียกได้ว่าพระองค์นั้นให้น้ำจากฟากฟ้าจนถึงตามมาบำบัดน้ำเสียให้กับพวกเรา โดยภาพที่แสดงการทรงงานเรื่องน้ำของพระองค์ที่อธิบายภายในภาพเดียวคือ ภาพที่ชื่อ “จากนภาผ่านภูผา สู่มหานที”
     ในเรื่องของเขื่อนนี้จะพูดว่าป้องกันน้ำแล้งแต่เพียงเท่านี้คงจะไม่ใช่ เพราะเรื่องของเขื่อนนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศ เพราะนอกจากเขื่อนจะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ยังช่วยป้องกันน้ำท่วมและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินอีกด้วย แต่ปัจจุบันที่น้ำยังคงท่วมนี้ก็เป็นเพราะการตัดถนนและการสร้างหมู่บ้าน รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นสำคัญ นอกจากนี้ประโยชน์ของการบริหารจัดการน้ำคือการใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็มที่หนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำด้วย นั่นหมายความว่าเป็นการรักษาสภาวะแวดล้อมป่าชายเลน และยังมีส่วนสำคัญกับเรื่องของการผลิตน้ำประปาในบริเวณจังหวัดที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำอีกด้วย
    “ความเป็นนักปราชญ์ของพระองค์อีกประการหนึ่งคือพระองค์ยังเป็นผู้ที่นำหลักวิชาการที่ยากหลายหลักวิชามารวมกันและคิดออกมาเป็นการปฏิบัติที่ง่ายเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้โดยกว้างขวาง เช่น การขุดบ่อน้ำให้ลึก 5 เมตร มีที่มาจากการที่พระองค์ได้ทำการทดลองวิจัยและสังเกตว่าน้ำบนผิวดินนั้นจะละเหยวันละ 1 เซนติเมตร ในประเทศไทยจะมีฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ 50 วัน และฝนจะไม่ตก 300 วัน นั่นหมายความว่าถ้าเราขุดบ่อลึก 3 เมตร น้ำจะมีใช้ไม่เพียงพอตลอดทั้งปี นั่นเป็นที่มาของการที่พระองค์ได้ให้แนวคิดในการขุดบ่อมีความลึก 5 เมตรจึงจะเพียงพอต่อการใช้น้ำตลอดทั้งปี อันนี้กล่าวได้ว่าเป็นความอัจฉริยภาพและเป็นนักปราชญ์ในเรื่องน้ำอย่างแท้จริง”
     ในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ผมได้มารำลึกถึงพระองค์ที่อนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยความรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้มีความคล้ายคลึงกันในการส่งงานเพื่อแผ่นดินตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยความกล้าหาญเสียสละอย่างแท้จริง อีกทั้งภาพจำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จมาที่ทุ่งมะขามหย่อง บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2555 เพื่อมาทอดพระเนตรทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ ซึ่งผมจำเนื้อความที่พระองค์ได้บอกว่า การที่น้ำท่วมทุ่งมะขามหย่องนี้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติและท่วมทุกปี และก็เป็นประโยชน์ในการป้องกันการรุกรานจากฝ่ายข้าศึก ซึ่งถ้าสามารถเก็บน้ำที่ท่วมทุ่งมะขามหย่องนี้นำไปใช้ในหน้าแล้ง ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก การเสด็จในครั้งนั้นเป็นภาพจำของประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะนั่นเป็นช่วงปลายของพระชนม์ชีพ ที่น้อยครั้งนักที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด และการเสด็จฯ ในครั้งนั้นฉลองพระองค์ในชุดทหารรบพิเศษ เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ฉลองพระองค์ในชุดรบเพื่อออกไปทำการรบเช่นเดียวกัน
“เปรียบได้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นดั่งสมเด็จพระนเรศวร ที่ทรงงานเพื่อประชาชนจนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ”
สถาบันฯ กับคนไทย เหมือน “ปลากับน้ำ”
ขณะที่ นายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ภาคีประชาชนปกป้องสถาบันฯ กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์รวมจิตใจและสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศเสมอมา ความผูกพันของคนไทยกับสถาบันฯ เป็นความผูกพันที่มีการให้และการรับอย่างลงตัว 
“ไม่มีใครให้หรือรับแต่เพียงฝ่ายเดียว เปรียบเสมือนปลากับน้ำที่ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เมื่อเปรียบเทียบสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยกับของต่างประเทศ ก็เห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเหมือนกันสืบเนื่องจากภูมิหลังความเป็นมาของประเทศต่างกัน นำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้”
ปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีความเหมาะสมกับประเทศไทยในปัจจุบัน นั่นหมายความว่า คำว่าประชาธิปไตยนั้นก็จะต้องมีการปรับให้เข้ากับประเทศไทย เพราะเราไม่สามารถจะลอกเลียนแบบทั้งหมดจากต่างประเทศมาใช้กับประเทศไทยได้ เนื่องจากมีองค์ประกอบที่มาของประเทศ รวมถึงวัฒนธรรมของประชาชนที่แตกต่างกัน
ส่วนคำถามที่ระบุว่าพึงพอใจกับการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้หรือไม่นั้น ผมมองว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถที่จะทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ทั้งหมด ในปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน มีบางส่วนที่มีผลงานที่น่าพอใจ แต่ก็มีบางส่วนที่ผมรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็จะบอกว่าตนเองนั้นเป็นประชาธิปไตย แต่ผมอยากจะให้ทุกคนได้ลองคิดในความเป็นจริง ด้วยคำสองคำคือ 1.เผด็จการซ่อนรูป 2.ประชาธิปไตยซ่อนรูป ว่าสองคำนี้ทุกคนอยากได้รัฐบาลแบบใด ในส่วนตัวมองว่าประชาธิปไตยซ่อนรูปน่าจะดีกว่า ซึ่งถ้าจะให้ดีที่สุดคือ เบื้องหน้าก็เป็นประชาธิปไตยและเบื้องหลังก็ประชาธิปไตยเช่นกัน
ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการที่กลุ่มภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ขับเคลื่อนอยู่นั้น “ผมยอมรับในความคิดเห็นที่ต่างกันและเคารพในความคิดเห็นของทุกคน ที่ผ่านมาผมไม่เคยตอบโต้ด้วยการใช้คำที่หยาบคายหรือการกระทำที่รุนแรง และด้วยวิธีของความรักสงบนี้ จึงทำให้หลายคนยอมรับและเปิดใจยอมมาพูดคุยกันด้วยเหตุผล ผมเชื่อในการพูดคุยและนั่งคุยกันด้วยเหตุผลมากกว่า และคิดว่าในปัจจุบันเราต่างไม่เคยได้มานั่งพูดคุยกันอย่างจริงจัง จึงทำให้ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน แต่เมื่อได้คุยกันแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนจะสามารถเดินทางเดียวกันได้ เพราะถึงอย่างไรเราก็คือคนไทยที่อยู่ร่วมในประเทศเดียวกัน จึงไม่เห็นความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องมาทะเลาะกัน และผมยังเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจอยู่เสมอว่าทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีความหวังดีต่อประเทศชาติเหมือนกันทั้งสิ้น"
ในการขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ นี้ยังคงยึดมั่นในการคงอยู่ของ 3 สถาบันหลักของประเทศ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังนั้น เราจะขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มด้วยความดีและความรักสงบเป็นที่ตั้ง เป็นจิตอาสาใน  รพ.สนามในช่วงโควิด การแจกอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ทั้งในช่วงโควิดและช่วงภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงการแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มในช่วงรับเสด็จฯ ในโอกาสต่างๆ ที่สามารถทำได้ การบริจาคโรงศพและน้ำมันสำหรับเผาศพให้กับวัดและการบริการอื่นๆ แบบจิตอาสา เป็นต้น
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา เราได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยในตอนเช้าใส่บาตรพระสงฆ์จำนวน 100 รูป ณ วัดบวรนิเวศฯ ในตอนสาย ทำความสะอาด มอบน้ำมันจำนวน 3,000 ลิตร และ มอบโรงศพแก่วัดราษฎร์ประคองธรรม ในตอนเย็นไปที่ท้องสนามหลวงเพื่อรำลึกถึงพระองค์ร่วมกัน โดยการจัดกิจกรรมที่วัดบวรฯ สืบเนื่องจากเป็นภาพความทรงจำหนึ่งของคนไทย ที่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทำการสืบทอดพระพุทธศาสนาและพระองค์เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างร่มเย็นภายใต้ร่มพระบารมี
โดยเฉพาะการนำพาให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการล่าอาณานิคมจากต่างชาติผ่านทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และที่ใกล้เข้ามาหน่อยคือในสมัยของรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงอีกครั้งว่า ภาคีเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ จะขับเคลื่อนประเทศด้วยความรักสงบและความดี ที่ทุกศาสนาได้สอนไว้.
//////////


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"