28 พ.ย.เลือกตั้ง อบต.ทั่วประเทศ เงินสะพัดหมื่นล้าน ดัน ศก.เร่งฟื้นตัว


เพิ่มเพื่อน    

นับถึงวันที่ 14 ต.ค. เท่ากับผ่านมาได้ 3 วันแล้ว สำหรับการคิกออฟการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รอบล่าสุด ที่รอบนี้เป็นการเลือกตั้ง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือนายกฯ อบต. ทั่วประเทศ 5,300 แห่ง ที่จะมีการหย่อนบัตรกันวันที่ 28 พ.ย.นี้ 
    โดยตลอดสัปดาห์นี้ ตั้งแต่เมื่อ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 15 ต.ค. คือช่วงของการรับสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบต.และสมาชิกสภา อบต. จากนั้นตามปฏิทินที่วางไว้คือ 22 ต.ค. ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง - วันที่ 2 พ.ย.ประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และเลือกตั้งในวันที่ 28 พ.ย.2564  
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กกต.เปิดเผยข้อมูลว่า จากการที่ กกต.ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และมีการเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.64 ซึ่งผลการเปิดรับสมัครในวันแรก คือ วันที่ 11 ต.ค.นั้น ในจำนวน อบต. 5,300 ราย มีผู้สมัครนายกและสมาชิก อบต.ครบทั้ง 76 จังหวัด รวมจำนวน 98,398 ราย แยกได้เป็นผู้สมัครสมาชิกสภา อบต. 88,835 ราย ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบต. 9,563  ราย
  สำหรับจังหวัดที่มียอดรวมผู้สมัครนายกและสมาชิก อบต.สูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.จ.นครราชสีมา มีผู้สมัครนายก อบต. 440 ราย สมาชิก อบต. 4,969 ราย รวม 5,409 ราย  2.จ.บุรีรัมย์ มีผู้สมัครนายก อบต. 247 ราย สมาชิก อบต. 2,778 ราย รวม 3,025 ราย 3.จ.นครสวรรค์ มีผู้สมัคร นายก อบต. 219 ราย สมาชิก อบต. 2,474 ราย รวม 2,693 ราย 4. จ.ขอนแก่น มีผู้สมัครนายก อบต. 270 ราย สมาชิก อบต. 2,353 ราย รวม 2,623 ราย 5.จ.เพชรบูรณ์ มีผู้สมัครนายก อบต. 192 ราย สมาชิก อบต. 2,310 ราย รวม 2,502 ราย
    อนึ่ง การสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัคร มีโทษตามมาตรา ๑๒๐ ที่บัญญัติว่า ผู้ใดลงสมัครรับเลือกตั้งโดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี และปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด ๒๐ ปี
 ทั้งนี้ ผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง อบต.สามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 ซึ่งเป็นวันที่ กกต.ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง คือ วันที่ 27 พ.ย.64 โดยแผ่นป้ายประกาศที่ผู้สมัครจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการหาเสียง ต้องมีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 ซม. และมีขนาดความยาวไม่เกิน 42 ซม. จัดทำได้ไม่เกิน 5 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งของ อบต.นั้นๆ หากเป็นแผ่นป้ายมีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซม. และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 ซม. จัดทำได้ไม่เกิน 3 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งของ อบต.นั้นๆ
    ส่วนรายละเอียดของประกาศและแผ่นป้ายหาเสียง ผู้สมัครสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ นโยบายของผู้สมัคร คติพจน์ คำขวัญ ข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของประกาศเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง 
    ในกรณีนำข้อมูลเกี่ยวกับพรรคการเมือง หรือนำภาพบุคคลมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลหรือพรรคการเมืองนั้นๆ และไม่ขัดต่อมาตรา 34 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 และอาจนำภาพผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกันมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งด้วยได้ โดยการกำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และสถานที่ปิดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายในแต่ละ อบต.ให้เป็นไปตามประกาศที่ กกต.ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประกาศกำหนด
     อย่างไรก็ตาม การปิดประกาศหรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งจะกระทำได้เฉพาะในสถานที่ราชการ และต้องมีขนาด จำนวนไม่เกินที่ กกต. หรือผู้ที่ กกต.มอบหมายกำหนด หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 132 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562
ทั้งนี้ อบต.ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก มีขนาดเล็กและอยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เพราะใช้หมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง อบต.ที่จะมีทั้งนายก อบต.และสมาชิกสภา อบต. 
    โดยเว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยแพร่ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อบต.ไว้โดยสังเขปว่า สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เขตเลือกตั้งละ 1 คน โดยกำหนดเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง เว้นแต่หมู่บ้านใดมีราษฎรไม่ถึง 25 คน ให้รวมหมู่บ้านนั้นกับหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน และรวมกันแล้วมีราษฎรถึง 25 คน เป็นเขตเลือกตั้งเดียวกัน อายุของสภาองค์การบริหารส่วนตำบล มีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง หาก อบต.ใดมีเขตเลือกตั้งไม่ถึง 6 เขตเลือกตั้ง (หมู่บ้าน) ให้สภาองค์การบริหารส่วนตำบลนั้น ประกอบด้วยสมาชิก (ส.อบต.) จำนวน 6 คน 
โดย-ถ้ามี 1 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต. 6 คน - ถ้ามี 2 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 3 คน - ถ้ามี 3 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 2 คน - ถ้ามี 4 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คนก่อน แล้วเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุด 2 เขตเลือกตั้งแรก เขตเลือกตั้งละ 1 คน - ถ้ามี 5 เขตเลือกตั้ง ให้มี ส.อบต.ได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน และเพิ่มให้เขตเลือกตั้งที่มีจำนวนราษฎรมากที่สุดอีก 1 คน
และกำหนดให้มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวน 1 คน โดยใช้เขตตำบลเป็นเขตเลือกตั้ง มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปี ก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง
    สำหรับการเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ คือการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลำดับที่ 3 ต่อจากการเลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่ง และนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้ง อบต.ครั้งแรกในรอบ 8 ปี
โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง ตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยวาระดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภา อบต.และนายก อบต. รวมถึงผู้ว่าฯ กทม.และสมาชิกสภา กทม.และเมืองพัทยา ครบวาระตั้งแต่เดือน พ.ค.61 แต่คำสั่ง คสช.ให้ทำหน้าที่ต่อจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณแต่ละเขตประมาณ 7 แสน ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งถ้ารวม อบต.ทั่วประเทศ จะใช้งบไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท
ที่น่าสนใจเมื่อเร็วๆ นี้ ทาง “ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย” เปิดเผยว่า จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายน 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม 35.5 ปรับตัวดีเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนสิงหาคม ที่อยู่ในระดับ 33.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม อยู่ที่ระดับ 37.8 เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 36.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.8 เพิ่มจากเดือนที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 48.6 
     โดย ธนวรรธน์ ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตาคือการหาเสียงการเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อว่าการใช้เงินน่าจะตกอยู่ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท อาจจะช่วยผลักดันให้สถานการณ์เศรษฐกิจคึกคักได้บ้าง และถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ชัดเจน ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดในระบบมากขึ้น เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสจะโตได้ 1-1.5%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"