สหรัฐมี ‘ข้อตกลง’ ช่วยไต้หวันรบจีนหรือ? 


เพิ่มเพื่อน    

เมื่อเกิดการยกระดับความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีคำถามว่าสหรัฐมี “ข้อตกลง” ที่จะมาปกป้องไต้หวันทางทหารหรือไม่ หากจีนตัดสินใจ “บุก” ไต้หวัน
ประเด็นนี้น่าสนใจ เพราะทั้งจีนและวอชิงตันต่างก็ยืนยันว่าจะยังคงไว้ซึ่ง “จุดยืน” ของตนไม่เปลี่ยนแปลง
สี จิ้นผิง ประกาศว่าจะต้อง “รวมชาติ” เพื่อให้ไต้หวันกลับมาสู่ “แผ่นดินแม่”
แม้สีจะเน้นว่าจะใช้ “วิธีสันติ” แต่ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันก็ปักหลักยืนหยัดว่าไต้หวันยังไม่ยอมรับแรงกดดันของปักกิ่งแต่อย่างไร
โจ ไบเดน ยืนยันว่าสหรัฐจะยังเคารพใน “ข้อตกลง” ที่มีไว้กับไต้หวันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
เป็นที่เข้าใจโดยทั่วไปว่าอเมริกามีพันธสัญญาที่จะปกป้องไต้หวันทางทหารหากปักกิ่งตัดสินใจว่ามี “เหตุจำเป็น” ที่จะ “รวมชาติจีน” ด้วยกำลังอย่างที่สี จิ้นผิง เคยประกาศไว้ในหลายโอกาสก่อนหน้านี้
แต่ถ้าไปอ่านรายละเอียดของกฎหมายของสหรัฐ เรื่องนี้ก็จะเห็นว่ามีอะไรที่ “ยังต้องตีความ” กันพอสมควรว่าอเมริกามีคำมั่นที่จะปกปักรักษาไต้หวันถึงขนาดไหน
กฎหมายฉบับนี้มีชื่อว่า Taiwan Relations Act (TRA) ซึ่งได้รับอนุมัติโดยรัฐสภาสหรัฐ และลงนามโดยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ในปี 1979 หลังจากที่สหรัฐตัดสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน เพราะเปิดสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน (หลังการไปเยือนจีนครั้งประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ที่ไปจับมือกับประธานเหมา เจ๋อตุง เมื่อปี 1972)
ในภาษาทางการของกฎหมายฉบับนี้มีการระบุว่า สหรัฐจะรักษาความสัมพันธ์ทางด้านการค้า, วัฒนธรรม “และด้านอื่นๆ” ผ่านช่องทางที่ “ไม่เป็นทางการ”
แม้จะไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูต แต่สหรัฐก็มีช่องทางไม่เป็นทางการต่างๆ ที่ยังให้ความสำคัญกับเกาะแห่งนี้เสมือนเป็นประเทศหนึ่งอยู่ดี
เพราะนิกสันยอมรับนโยบาย “จีนเดียว” ก่อนจะเปิดสัมพันธ์กับปักกิ่ง
แต่แน่นอนว่าการตีความคำว่า “จีนเดียว” ของปักกิ่ง, วอชิงตันและไต้หวันก็ยังแตกต่างมาถึงทุกวันนี้
ประเด็นหลักของคำถามคือ สหรัฐมีพันธกรณีจะยกทัพมาปกป้องไต้หวันหรือไม่หากจีนเปิดศึกจริง
คำตอบอยู่ตรงมาตราที่พูดถึง “ความสัมพันธ์ทางทหาร” ของสหรัฐกับไต้หวัน
ประโยคนี้มีความสำคัญต่อความเข้าใจสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันวันนี้
    ข้อความนั้นพูดไว้ค่อนข้าง “คลุมเครือ” ว่า
"The United States will make available to Taiwan such defense articles and defense services in such quantity as may be necessary to enable Taiwan to maintain a sufficient self-defense capabilities". 
แปลว่า “สหรัฐจะช่วยให้ไต้หวันมีอุปกรณ์และบริการทางด้านการป้องกันประเทศในปริมาณที่จำเป็น เพื่อช่วยให้ไต้หวันมีศักยภาพเพียงพอในการป้องกันตนเอง”
ถามต่อว่า คำว่า “ปริมาณที่จำเป็น” นั้นคือเท่าไหร่ และอย่างไร?
กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ลักษณะและปริมาณของ “อุปกรณ์และบริการทางทหาร” ที่ว่าจะถูกกำหนดโดยประธานาธิบดีและสภาคองเกรสของสหรัฐ
ดังนั้น หากอ่านรายละเอียดของ “ข้อตกลง” ที่ว่านี้ไม่ได้กำหนดว่าหากไต้หวันถูกโจมตี สหรัฐจะต้องมาช่วยทางทหาร
ไม่ชัดเหมือนมาตรา 5 หรือ Article 5 ของสนธิสัญญา NATO ที่บอกชัดเจนว่า
“If a NATO ally is the victim of an armed attack, each and every other member of the Alliance will consider this act of violence as an armed attack against all members and will take the actions if deems necessary to assist the Ally attacked…”
นั่นแปลว่าหากสมาชิกของนาโตใดถูกโจมตีทางทหารให้ถือว่าเป็นการโจมตีสมาชิกทั้งหมด และจะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกนั้น
ในกรณีของกฎหมายอเมริกัน Taiwan Relations Act นั้นจึงเป็นการจงใจจะเขียนด้วยถ้อยคำคลุมเครือ เพื่อเปิดทางให้ตีความตามสถานการณ์และความจำเป็นของแต่ละจังหวะเวลา
เรียกกันในแวดวงการทูตระหว่างประเทศว่าเป็น “Strategic ambiguity”
เรียกให้เท่ก็คือ “ยุทธศาสตร์แห่งความคลุมเครือ”
    เป้าหมายของการเขียนกฎหมายฉบับนี้ในขณะนั้นก็คือ
1.ไม่สนับสนุนให้ไต้หวันประกาศเอกราชแยกตัวออกจากจีน
2.ไม่สนับสนุนให้สาธารณรัฐประชาชนจีนใช้กำลังในการ “รวมชาติ” ให้ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
แต่เมื่อผมอ่านรายละเอียดของกฎหมายนี้ลงลึกแล้วก็ได้ความรู้และการตีความอีกหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจ
พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"