ไม่ใช่ปีแรกที่เกิดเหตุการณ์แยกกันเดินของ คนเดือนตุลาฯ นับแต่การเมืองแบ่งขั้ว เหลือง-แดง ที่แสดงออกผ่านการจัดงานรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของทุกปี แต่มีร่องรอยการจัดแบ่งโซนจัดกิจกรรมด้วยแนวคิดทางการเมืองที่ต่างกันมาหลายปีแล้ว
ปีนี้ปรากฏภาพชัดขึ้นจากการเข้าร่วมของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะก้าวหน้าผนวกเข้ากับแกนนำ “ม็อบ 3 นิ้ว” ที่ชูธง ปฏิรูปสถาบัน ต่างตบเท้าเข้าร่วมงาน 45 ปี 6 ตุลาฯ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อย่างเนืองแน่น
งานในวันนั้นมีแม่งานหลักคือ เครือข่ายคนเดือนตุลาฯ เปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหาจากพิธีกรรมรำลึกประจำปี สู่การเคลื่อนไหวของเยาวชน นิสิตนักศึกษายุคปัจจุบัน โดยโจทย์สำคัญที่เป็นจุดร่วมคือศัตรูรายเดิม นั่นคือ นายทุน ขุนศึก ศักดินา ที่แกนนำม็อบสามนิ้วชูธงเรียกร้องไม่ต่างจากคนในยุค 45 ปีก่อน
การจัดกิจกรรมมีการพูดถึง ผู้อยู่เบื้องหลัง เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กันอย่างจริงจัง รวมไปถึงการที่ ทนายด่าง-กฤษฎางค์ นุตจรัส อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศนำตัวผู้บงการไปขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ อันเป็นเรื่องการถกเถียงในแง่มุมของข้อมูลของ คนในขบวน มาตลอด
พร้อมทั้งการใช้เวที คลับเฮาส์ ยืนยันความอ่อนด้อยประสบการณ์ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการนำ ส่งผลให้เกิดการสังหารหมู่ ไม่ได้มีเรื่อง ลึกลับ-จับวาง จากการแทรกแซงของ พรรคคอมมิวนิสต์ฯ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นมา เพื่อหวังให้เยาวชนยุคแสวงหาหนีเข้าป่า
กิจกรรมวันที่ 6 ตุลาฯ จึงเต็มไปด้วย ปีกซ้ายของคนเดือนตุลาฯ ที่อยู่ในพรรคไทยรักไทยเก่า สมาชิกพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า แกนนำม็อบราษฎร นักศึกษาที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้เป้าหมายเดียวกัน
ส่วนฟากของเวทีการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว จัดโดย มูลนิธิ 14 ตุลา มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน และ ประสาร มฤคพิทักษ์ เป็นกรรมการเลขานุการ กำลังถูกจับจ้องและตั้งคำถามจากกลุ่ม คนตุลาฯ รุ่นน้อง ในการหนุนรัฐบาล และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยภาพจำ “ม็อบเสื้อเหลือง” เนื่องจากมี รุ่นพี่ 14 ตุลาฯ หลายคนเข้าไปหนุนขั้วนี้ พร้อมประกาศตัวปกป้องสถาบัน
ยิ่งเพิ่มน้ำหนักขึ้นเมื่อ เพจกลุ่มทะลุฟ้า โพสต์ข้อความถึง “ประสาร มฤคพิทักษ์” อดีตแกนนำนักศึกษา 14 ตุลาฯ ในฐานะกรรมการเลขานุการมูลนิธิ 14 ตุลาฯ ที่อนุสรณ์สถาน สี่แยกคอกวัว ที่เดินไปตำหนิสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งจัดกิจกรรมอยู่ติดกับพื้นที่จัดงาน ขึ้นป้าย ปฏิรูปสถาบัน และป้ายข้อความอื่นๆ โดยระบุว่า อดีตผู้นำนักศึกษาผู้นี้ ขวาจัด
ขณะที่ สุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย พูดก่อนกล่าวกับผู้ร่วมกิจกรรม ที่อนุสรณ์สถานว่า “14 ตุลางานใหญ่กว่า 6 ตุลาตั้งเยอะ จัดดีเหลือเกิน จัดดีจนงานเล็กไปเลย” ทำให้บรรยากาศในช่วงเช้าในการรำลึกถึงผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยกร่อยไปในทันที
โดยวันนี้ “ช่อ" พรรณิการณ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า และ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นตัวแทนเดินทางมาวางพวงหรีด ใช้เวลาไม่นานนัก ต่างจากเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ธรรมศาสตร์ ที่ล้วนแต่มี “คนคอเดียวกัน”
ส่วนเนื้อหาเสวนา ‘48 ปี 14 ตุลาฯ มุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตย’ ไม่ไปไกลจนถึงการแตะโครงสร้างหลัก และยังสะท้อนให้เห็นว่า ในขั้วการเมืองของ “เพื่อไทย-ไทยสร้างไทย” ผ่านการแสดงทัศนะ น.ต.ศิธา ทิวารี ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม ตัวแทนพรรคเพื่อไทยนั้น
เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่ชัดขึ้นของพรรคการเมืองที่เคยมี กลุ่มเสื้อแดงล้มเจ้า เป็นแนวร่วม ที่ถอดบทเรียนและปรับกลยุทธ์ทางการเมืองใหม่ หลังจากผ่านเส้นทางวิบากทางการเมืองจนสะบักสะบอม
อีเวนต์ตุลาฯ จึงเป็นภาคแสดงที่ชัดขึ้นของอุดมการณ์ ขั้วการเมือง ที่กำลังสร้างเครือข่าย-จับมือกัน เพื่อเป้าหมายในอนาคต!!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |