ท่องเที่ยวไทยฟื้น-ไม่ฟื้น? หลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. 


เพิ่มเพื่อน    

นับถอยหลังก่อนเปิดประเทศ 1 พ.ย. ที่จะให้นักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ ที่ฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้วสามารถเดินทางมาได้โดยไม่ต้องกักตัว ถึงตอนนี้ก็เหลืออีกไม่ถึงครึ่งเดือน โดยพบว่าหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ-ภาคเอกชน ต่างเตรียมพร้อมเต็มที่ ก็คงเพราะหวังให้การเปิดประเทศที่จะมีขึ้นจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 2 เดือนสุดท้ายให้กลับมากระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจการท่องเที่ยว 
    ล่าสุด เมื่อวันเสาร์ที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาตอกย้ำเรื่องการเปิดประเทศอีกรอบ ผ่านเฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ระบุตอนหนึ่งถึงเรื่องนี้ว่า 
    "รัฐบาลขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมก้าวข้ามวิกฤตโควิด มองไปข้างหน้า และเตรียมเปิดประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ความพร้อมเรื่องการจัดหาและการฉีดวัคซีน ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีมากๆ อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ความมีวินัยและความร่วมแรงร่วมใจกันของคนไทยทั้งประเทศในการเอาชนะโรคระบาด"
    กระบวนการรองรับการเปิดประเทศดังกล่าวพบว่า ศบค.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงการต่างประเทศ-กระทรวงกรท่องเที่ยวฯ พยายามวางกลไกต่างๆ ออกมาเพื่อให้สอดรับกับการเปิดประเทศดังกล่าว เช่นการที่จะขอรับใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) ด้วยระบบออนไลน์ ที่กระทรวงการต่างประเทศใช้มาตั้งแต่เมษายน 2563 ที่ตอนนั้นอยู่ในช่วงโควิดรอบแรก-รอบสอง ที่ให้ประชาชนคนไทยและชาวต่างชาติ หากจะเดินทางเข้าประเทศจะต้องขอรับใบรับรองในการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือ COE โดยการลงทะเบียนในระบบออนไลน์ ทะเบียนกลางของกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากมีการเปิดประเทศแล้วก็จะหันมาใช้ระบบ Thailand Pass ที่เป็นระบบ web-based ให้คนที่เดินทางทั้งคนไทยและต่างชาติเข้าไปลงทะเบียน กรอกข้อมูลและอัปโหลดเอกสารต่างๆ ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย
    โดยระบบดังกล่าวหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักก็คือ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงสาธารณสุข อันเป็นระบบที่จะทำให้การตรวจสอบว่าผู้เข้าสู่ระบบที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย เมื่อลงทะเบียนแล้ว หากตรวจพบว่าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว มีผลตรวจ RT-PCR ก่อนเดินทาง ก็จะทำให้การขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศไทย จากเดิมในช่วงโควิดที่ผ่านมาจะใช้เวลาประมาณ 3-6 วัน ก็จะลดลงเหลือแค่ 1-3 วัน ที่ก็จะเป็นระบบที่เอื้อให้นักเดินทาง-นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาประเทศไทยมีความคล่องตัวมากขึ้น  
    ความหวังให้ ธุรกิจ-อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ถือเป็น แหล่งรายได้หลักของประเทศ ฟื้นตัวขึ้น หลังเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดังกล่าวดับมาแล้วร่วมปีกว่า เป็นเรื่องที่หลายภาคส่วนจึงตั้งความหวังกับการเปิดประเทศครั้งนี้พอสมควร กับเป้าหมายเบื้องต้นที่มีการตั้งเป้าไว้ว่า หลังเปิดประเทศแล้ว ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงสิ้นปี ที่ถือเป็นช่วงที่การท่องเที่ยวจะพีกที่สุด รวมแล้วจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอย่างน้อยเดือนละห้าแสนคน รวมแล้ว 2 เดือนก็คือขั้นต่ำอย่างน้อยหนึ่งล้านคน หากทำได้ก็ถือว่าเข้าเป้าแล้ว แต่หากทำได้มากกว่านั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จเกินคาด เพราะแม้ประเทศไทยจะประกาศเปิดประเทศ 1 พ.ย. แต่การที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะเดินทางออกนอกประเทศก็เป็นเรื่องที่ต้องเตรียมตัวพอสมควร โดยเฉพาะในยุคโควิดที่ประชากรหลายประเทศก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน จึงย่อมทำให้ต้องมีการวางแผนการใช้เงินเช่นกัน ผนวกกับปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจท่องเที่ยวไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถึงตอนนี้จีนก็ยังปิดประเทศ จึงทำให้ 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังไงก็จะไม่มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยแน่นอน 
ด้วยปัจจัยทั้งหมด จึงทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1 ล้านคน ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ จึงไม่ใช่ยอดที่ตั้งเป้าไว้ต่ำแต่อย่างใด แต่เป็นการตั้งเป้าบนหลักของความเป็นจริง 
    เพราะมีให้เห็นมาแล้วกับ โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่ล่าสุดนักแสดงชื่อดัง รัสเซล โครว์ จะโพสต์ข้อความและภาพระหว่างมาเที่ยวและถ่ายทำภาพยนตร์ที่ภูเก็ตในลักษณะการชื่นชมโครงการดังกล่าว แต่หากไปดูในเรื่องของตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังภูเก็ตตามนโยบายดังกล่าวจะพบว่า จากที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ วางเป้าไว้ที่ 1 แสนคน ใน 3 เดือนของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่พบว่ายอดจริงๆ ที่ได้มาคือประมาณ 4 หมื่นคน เท่ากับว่าพลาดเป้าไปถึง 6 หมื่นคน 
    เพียงแต่สิ่งที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้มาคือ รายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะจากปกติค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวภูเก็ตต่อคนจะอยู่ที่ประมาณ 45,000-46,000 บาท แต่พบว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 60,000 บาทต่อคน ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลก เพราะนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มไฮเอนด์ ที่พร้อมจ่ายเงินกับการพักผ่อนท่องเที่ยวอยู่แล้ว 
     รวมถึงความสำเร็จอีกหลายอย่างของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โดยเฉพาะการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ในเรื่องการทำ Sandbox Quarantine สำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีน จนมีบางประเทศสนใจและมีแนวคิดจะทำตามเช่นกัน ที่สำคัญมีข้อมูลยืนยันว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ออกจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อออกนอกประเทศไทยกลับสู่ประเทศต้นทางหรือเดินทางไปที่อื่น ปรากฏว่าไม่มีใครเอาเชื้อโควิดไปจากประเทศไทยเลยแม้แต่คนเดียว 
    ดังนั้นหลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. ถ้าประเทศไทยสามารถดูแลควบคุมการเดินทางเข้า-ออกของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างรัดกุม มีระบบป้องกันโควิดที่ดีเหมือนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ บวกกับต้นทุนแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมการท่องเที่ยวของไทยที่มีเพียบพร้อม เป็นประเทศท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก จึงน่าจะพอมีความหวังได้ว่า หลังเปิดประเทศ 1 พ.ย. เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยน่าจะฟื้นตัวได้แน่นอน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"