ชงใช้ม.44งดไพรมารี พรรคการเมืองพอใจหารือ คลายล็อกช่วง90วันกม.ลูก


เพิ่มเพื่อน    

    “ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะประชุมพรรคการเมืองในค่ายทหารแล้ว โอดมาน้อยไป แค่ 74 พรรค “วิษณุ” แจงผลหารือ ย้ำบ้านเมืองต้องสงบเหมือนปัจจุบันจึงเลือกตั้งเร็ว เตรียมคลายล็อกช่วง 90 วันที่กฎหมายลูกประกาศ แต่ยังห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ให้ทำแค่งานรูทีน ส่วนไพรมารีโหวตยังไร้บทสรุป รอ ”บิ๊กป้อม” หารืออีกรอบ บอกปฏิทินวันเลือกตั้งมี 4 ตัวเลือก “24 ก.พ.-31 มี.ค.-28 เม.ย.-5 พ.ค.” พรรคการเมืองพอใจผลหารือ
    เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 มิ.ย. ที่สโมสรทหารบก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมพบปะหารือร่วมกับพรรคการเมือง เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไป โดยในส่วนของรัฐบาล มีผู้เข้าร่วม อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกฯ, พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.วีรชัย อินทุโศภน ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.), พล.อ.วิสุทธิ์ นาเงิน รองปลัด กห., พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ รองปลัด กห., นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต., นายประวิช รัตนเพียร กกต., พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง และนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นต้น
    ในส่วนของพรรคการเมือง มีตัวแทนพรรคการเมืองมาเข้าร่วม 74 พรรค จำนวน 199 คน ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคต่างๆ โดยไม่มีตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) เดินทางมาร่วมแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ภายในห้องประชุมได้ห้ามไม่ให้นักการเมืองนำโทรศัพท์และเครื่องมือติดต่อสื่อสารเข้ามาในห้องประชุมเด็ดขาด โดยให้ฝากไว้กับเจ้าหน้าที่บริเวณด้านหน้าห้องประชุมทั้งหมด ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารที่สวมชุดสูททั้งในส่วนของกลาโหมและกองทัพบก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ พร้อมทั้งห้ามสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังอย่างเด็ดขาด 
    โดยก่อนเข้าห้องประชุม พล.อ.ประวิตรตอบคำถามถึงความพอใจกับจำนวนพรรคการเมืองที่ตอบรับมาร่วมสั้นๆ ว่า น้อยไป
    สำหรับบรรยากาศในห้องประชุม เริ่มต้นที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า การประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการปลดล็อก คลายล็อก เพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม รวมถึงข้อกฎหมายและเงื่อนเวลาต่างๆ จากนั้นนายวิษณุได้ชี้แจงถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และข้อสรุปที่ คสช.และ กกต.ได้หารือกันแล้วว่ามีประเด็นอะไรบ้าง  
    จากนั้นที่ประชุมได้เปิดให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็น โดยแบ่งเป็นแถวที่พรรคการเมืองต่างๆนั่งอยู่ และให้แสดงความคิดเห็นพรรคการเมืองละ 1 คน ซึ่งส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้ใช้มาตรา 44 งดเว้นการทำระบบไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรกออกไปก่อน ซึ่ง พล.อ.ประวิตรก็มีท่าทีที่เห็นด้วยว่ามีปัญหาอยู่เหมือนกัน เนื่องจากบางพรรคไม่มีสาขาพรรค ทำให้ยากต่อการดำเนินการ ซึ่งข้อสรุปต่างๆ ต้องส่งให้ คสช.พิจารณาอีกครั้ง
    ภายหลังใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รู้สึกพอใจกับการพูดคุย ซึ่งไม่มีอะไร ส่วนที่ระบุว่ามีเวลา 3 เดือนให้พรรคการเมืองเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง คิดว่าทัน
ย้ำเลือกตั้งบ้านต้องสงบ
    ขณะที่นายวิษณุแถลงภายหลังการหารือว่า การหารือเป็นการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง แต่เมื่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศใช้ ต้องประชุมหารือกับพรรคการเมืองอีกครั้ง ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 8 ของคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 โดยมีนายกฯ เป็นประธานการประชุมเอง ซึ่งจะชัดเจนมากขึ้น รวมถึงเรื่องวันเลือกตั้ง และการปลดล็อกว่าเมื่อใด
    นายวิษณุกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการนำผลการประชุมระดับเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วมาแจ้งให้ทราบ ซึ่งได้ชี้แจงปัจจัย 5 ข้อที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแมป ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ข้อ คือ 1.ความสงบเรียบร้อยระหว่างงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การได้รับพระราชทานกฎหมายลูก 2 ฉบับที่เหลือ 3.การผลัดเปลี่ยน กกต.จากชุดเก่าไปชุดใหม่ 4.การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ต้องไม่ตรงกับการเลือกตั้งระดับชาติ และ 5.ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ ถ้าเหมือนวันนี้ก็ยังวางใจได้ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาในอนาคตจะกระทบต่อกำหนดเวลาเลือกตั้ง
    นายวิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่พรรคการเมืองกังวลนั้นมี 4 ประเด็นคือ 1.การประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง เพราะมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องถึงการหาสมาชิก ผู้สมัคร และการจัดทำไพรมารีโหวต ที่ขณะนี้ยังทำไม่ได้ เพราะถ้าจะประชุมพรรคต้องขออนุญาต คสช. ซึ่งฝ่ายการเมืองยังไม่พอใจ จึงอธิบายกรอบเวลา 3 ช่วง คือ 90 วันแรก คือ ช่วงทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมาย ซึ่งช่วงดังกล่าวจะยังไม่มีการทำอะไร ช่วงที่สองคือ เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายแล้ว ระหว่างรอกฎหมาย ส.ส.มีผลบังคับใช้ 90 วัน ตรงนี้สามารถให้แบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเวลา 60 วัน และทำไพรมารีโหวต 30 วัน และช่วงที่สามคือ 150 วันจัดการเลือกตั้ง ซึ่งการรับสมัคร ส.ส. 20 วัน จะอยู่ในช่วงนี้ ดังนั้น หากไม่มีเวลา 90 วันที่รอกฎหมาย ส.ส.มีผลบังคับใช้ในช่วงที่สอง ทั้งการแบ่งเขตเลือกตั้ง การทำไพรมารีฯ และการรับสมัครต้องเข้าไปอยู่ในช่วง 150 วันทั้งหมด จะส่งผลให้ลำบากต่อการหาเสียง
    “ดังนั้นจึงจะเสนอ คสช.ให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง และทำไพรมารีโหวตในช่วง 90 วันที่รอกฎหมาย ส.ส.บังคับใช้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้การรับสมัคร 20 วันไปอยู่ในช่วง 150 วัน ทำให้เหลือเวลา 130 วัน ในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ที่อังกฤษว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ สามารถจัดการเลือกตั้งเร็วที่สุดได้ในเดือน ก.พ.2562 แต่ในที่ประชุมได้วางตุ๊กตาการเลือกตั้งไว้ โดย กกต.อยากให้เป็นวันอาทิตย์ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน คือ 24 ก.พ., 31 มี.ค., 28 เม.ย. หรือสุดท้าย 5 พ.ค.62 หลังจากนั้นจะเกินเวลา 150 วัน วันนี้เรายังไม่กำหนด เพราะ กกต.ชุดใหม่จะเป็นผู้กำหนด แต่ถ้าพร้อมก็ไม่จำเป็นต้องเป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือนก็ได้” นายวิษณุกล่าว  
    รองนายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่เราจะผ่อนคลายมี 4 ประเด็น คือ 1.จะอนุญาตให้ประชุมใหญ่พรรคการเมืองในช่วง 90 วันของช่วงที่สอง คือ กลางเดือน ก.ย.- ธ.ค.2561 เพื่อให้หาสมาชิกทำไพรมารีโหวต และให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งได้ 2.เรื่องการจัดตั้งสาขาพรรค เพราะถ้าไม่มีหัวหน้าสาขาจะไม่สามารถประชุมพรรคได้ จึงจะปลดล็อกสามารถประชุมใหญ่ได้โดยไม่ต้องมีหัวหน้าสาขา อีกทั้งการทำไพรมารีโหวตจำเป็นต้องมีหัวสาขา ก็จะปลดล็อกว่าไม่ต้องมีหัวหน้าสาขาเป็นกรรมการจัดทำไพรมารีโหวต รวมถึงปลดล็อกว่าไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้าพรรคมาเป็นกรรมการคัดเลือกผู้สมัคร
    ไพรมารีฯ ยังลูกผีลูกคน
    รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า 3.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.จำเป็นต้องลงพื้นที่สอบถามประชาชน จึงจะเสนอ คสช.คลายล็อกให้ช่วง 90 วันของช่วงที่สองให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ และประเด็นที่ 4 คือ ไพรมารีโหวต หากยังจำเป็นต้องมี จะให้ดำเนินการในช่วง 90 วันช่วงที่สอง เพราะในที่ประชุมมีข้อเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้หลากหลาย ทั้งยกเลิก ทั้งจำเป็นต้องมี ทั้งเปลี่ยนจากทำเป็นระดับเขตเป็นระดับภาค หรือให้ไปใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า ซึ่ง พล.อ.ประวิตรรับข้อเสนอดังกล่าวว่าจะนำไปหารือกับ กกต., คสช., ครม., กรธ. และ สนช.ต่อไป ส่วนจะเป็นเมื่อไรนั้น ไม่ทราบ อยู่ที่ พล.อ.ประวิตร  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางออกทั้งหมดที่กล่าวมาต้องไปแก้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ แต่ขอว่าอย่าถามในเรื่องวิธีการ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบได้ แต่เราคงไม่เอามาแล้วฉีกมันหรอก
     เมื่อถามว่า การปลดล็อกในช่วงที่สอง พรรคการเมืองสามารถทำได้ทุกอย่างใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ ทำได้เพียงบางอย่างที่เขาเรียกร้อง สิ่งที่ทำไม่ได้คือการชุมนุมเกิน 5 คน เราปลดล็อกเพียงการประชุมใหญ่โดยไม่ต้องขออนุญาตเพื่อร่างข้อบังคับ หาสมาชิก ให้ความเห็นต่อ กกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง จัดตั้งกรรมการเพื่อเตรียมการจัดตั้งสาขา และหาผู้สมัคร ส่วนการปลดล็อกทั้งหมดคือการยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวกับการทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมด
    นายศุภชัยกล่าวเช่นกันว่า การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น โดย คสช.ได้มารับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองว่ามีปัญหาข้อขัดข้องอย่างไรจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 มีปัญหาแนวทางการปฏิบัติของพรรคการเมืองอย่างไร และจะแก้ไขอย่างไร โดยพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็ขอให้ปลดล็อกและให้งดทำไพรมารีโหวต แต่บางพรรคก็ให้คงทำไพรมารีโหวตไว้ตามเดิม ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็สุดแล้วแต่ คสช.จะปลดล็อกหรือไม่ ส่วนเรื่องวันเลือกตั้งยังไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศใช้เมื่อใด และนับจากนั้นอีก 90 วันถึงจะมีผลใช้บังคับ หลังจากนั้นจึงต้องจัดเลือกตั้งภายใน 150 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด 
“ในที่ประชุมมีการถามว่า กกต.ควรกำหนดวันเลือกตั้ง แต่เราบอกไปว่ายังกำหนดไม่ได้ เพราะต้องรอดูกรอบเวลา 90 วันแรกก่อนว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศใช้เมื่อใด โดย กกต.เสนอว่าในช่วง 90 วันระหว่างชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขอให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งก่อนโดยใช้เวลา 60 วัน หลังจากนั้นให้พรรคการเมืองไปทำไพรมารีโหวตอีก 30 วัน โดยในส่วนของการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น เนื่องจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ยังไม่มีผลใช้บังคับ กกต.ก็ไม่สามารถแบ่งเขตเลือกตั้งได้ จึงต้องขอให้ทำก่อนโดยใช้มาตรา 44 ซึ่งอยู่ในดุลยพินิจของ คสช. เพราะต้องใช้มาตรา 44 ออกเป็นคำสั่ง” นายศุภชัยระบุ
    ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งเป็นตัวแทนพรรคเข้าร่วมประชุม กล่าวว่า การเลือกตั้งยังคงเป็นไปตามเงื่อนเวลา คือ 3-3-5 โดยช่วง 3 เดือนแรกคือช่วงทูลเกล้าฯ ถวาย ส่วน 3 เดือนที่สองคือช่วงรอกฎหมายเลือกตั้งบังคับใช้ และ 5 เดือนคือการจัดการเลือกตั้ง โดยจะหาทางคลายล็อกให้ช่วง 3 เดือนของการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส่วนรายละเอียดต่างๆ ต้องรอดูคำสั่งที่จะออกมาใหม่ด้วย ส่วนประเด็นการจัดทำไพรมารีโหวตนั้น ที่ประชุมยังไม่มีความชัดเจนใดๆ 
พอใจการหารือ
“ผมพอใจภาพรวมการประชุม เพราะได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องการคลายล็อกว่าจะมีแน่นอน ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอดูว่าผลจะออกมาอย่างไร” นายจุรินทร์กล่าว
    นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรคพอใจการหารือ เพราะบรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยรัฐบาลได้เตรียมคำตอบมาให้พรรคการเมืองบ้างแล้ว โดยเฉพาะประเด็นปัญหาในเรื่องเงื่อนเวลาสำหรับการทำไพรมารีโหวตนั้น ซึ่งพรรคมีความพร้อมในการดำเนินการหากปลดล็อก ขณะที่กรอบเวลาในวันเลือกตั้งที่รัฐบาลเสนอในที่ประชุมนั้นมี 4 กรอบ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ.ถึง พ.ค. โดยยึดเอาทุกวันอาทิตย์สิ้นเดือนมาเป็นกรอบนั้น ซึ่งมีทั้ง 24 ก.พ., 31 มี.ค., 28 เม.ย. และ 5 พ.ค. ถือว่าเป็นไปได้หมดโดยจะขึ้นอยู่กับว่าร่างกฎหมายลูกอีก 2 ฉบับสุดท้ายจะบังคับใช้เมื่อไหร่ จึงเชื่อว่าเมื่อมีความชัดเจนรัฐบาลคงเชิญพรรคการเมืองเข้ามาหารือกันอีกครั้ง
    ส่วนนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการ ชทพ. กล่าวว่า จากการหารือถือว่ามีแนวโน้มไปในแนวทางที่ดี โดยเรื่องคลายล็อกนั้น สรุปว่าให้คลายในช่วงที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา และยังมีเวลา 90 วันกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งจะคลายล็อกช่วงนี้ ส่วนเรื่องไพรมารีโหวตที่ประชุมมี 3 ทางเลือกคือ 1.ยกเลิกทำไพรมารีโหวตทั้งหมด 2.ยกเลิกไพรมารีฯ ครั้งแรก และ 3.ทำไพรมารีฯ แต่ให้ทำในระดับภาค 4 ภาค 
    “วันเลือกตั้งที่ประชุมเห็นว่าหากนับเวลา 150 วัน  ประกอบกับนายกฯ ไปพูดในต่างประเทศถึง 2 ประเทศ โดยย้ำเลือกตั้งตามโรดแมปในเดือน ก.พ.ปี 2562 ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรเป็นวันที่ 24 ก.พ.2562 แต่ กกต.ได้ตั้งตุ๊กตาขึ้นมาว่า หากไม่ใช่วันที่ 24 ก.พ. ก็สามารถเลื่อนออกไปเป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน เพราะ 150 วันจะครบกำหนดในวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งผลสรุปจะเป็นอย่างไร คาดว่า คสช.จะเรียกพรรคการเมืองพูดคุยอีกครั้ง เป็นช่วงที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา” นายนิกรระบุ
นายวิษณุกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวกับคนไทยในฝรั่งเศสว่าจะขอเลือก ส.ว.เองว่า ในรัฐธรรมนูญบทเฉพาะกาลเขียนเอาไว้ว่า ส.ว.มีทั้งหมด 250 คน โดย 50 คนให้เลือกโดยวิธีเลือกไขว้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท ส่วนอีก 200 คน ใช้งบประมาณไม่มาก เป็นเรื่องที่ คสช.ต้องตั้งกรรมการขึ้นมา 9 คน เพื่อไปสรรหาจำนวน 2 เท่า เช่น 400 คน จากนั้น คสช.จะเลือกเอา 200 คน และนำความกราบบังคมทูลฯ ส่วนจะเป็นการเอื้อประโยชน์เลือกคนของ คสช.ขึ้นมาหรือไม่นั้น ก็รัฐธรรมนูญเขียนไว้
เทือกเฟซบุ๊กหาสมาชิก
    นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ปฏิเสธแสดงความเห็นถึงการย้ายพรรคของอดีตนักการเมืองว่า ไม่มีความเห็น คนที่เป็นนักการเมืองมีสิทธิเลือกพรรคการเมือง จะชอบธรรมหรือไม่ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
    เมื่อถามถึงการใช้เงินซื้อตัวอดีตนักการเมือง นายสุเทพกล่าวว่า ทุกอย่างต้องว่าตามข้อเท็จจริง การใช้เงินจ้างคนผิดกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าบอกว่าย้ายพรรคเพราะถูกจ้างเป็นการพูดลอยๆ ไร้สาระ รัฐธรรมนูญใหม่เข้มงวด กำหนดการตั้งพรรคให้คนมีอุดมการณ์เดียวกัน ลงขันเงิน ตั้งสาขาพรรคทั่วประเทศ การเลือกผู้บริหารพรรค เป็นการยกระดับปฏิรูปการเมืองทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ถ้าใครทำผิดกฎหมายต้องดำเนินการ ประชาชนไม่นิ่งเฉย
    ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากจดจองชื่อพรรคและเปิดตัวเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ขณะนี้ต้องรวบรวมสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคให้ครบ 500 คน ซึ่งต้องเป็นผู้ลงขันมีใจเสียสละ โดยจะเดินทางไปทั่วประเทศชักชวนประชาชนมาเป็นเจ้าของพรรค เป็นสมาชิกร่วมกัน ด้วยการจ่ายเงินค่าสมาชิกวันละบาท เป็นปีละ 365 บาท แพงกว่าสมาชิกพรรคอื่น เพราะต้องการคนมีอุดมการณ์จริง และน่าจะมีหลายแสนคนมาร่วมด้วย แต่ตอนนี้ คสช.ยังไม่อนุญาตทำกิจกรรมทางการเมือง เราปฏิบัติตามกฎหมายว่าอย่างไรก็อย่างนั้น ขณะนี้คงเชิญชวนผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ไปก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"