ประยุทธ์สั่งการบ้าน10ข้อ 'ขรก.'เร่งงานก่อนเลือกตั้ง


เพิ่มเพื่อน    

    “บิ๊กตู่” เซ็งคำถามเรื่องกระพี้ดูด ส.ส.   ตอบไปก็ไม่เกิดประโยชน์ สั่งการบ้าน 10 ข้อหน่วยราชการเร่งงานก่อนเลือกตั้ง จับตา "สนช." ลงมติเลือก 7 เสือ กกต. สะพัดเล็งคว่ำ "สมชาย ชาญณรงค์กุล"
    เมื่อวันอังคาร ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีที่อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางคนออกมาระบุว่าจังหวัดที่มีหน่วยที่ตั้งของทหาร มีการเคลื่อนไหวดูดอดีต ส.ส.ว่า สื่อถามแต่เรื่องนี้ ไม่ดูดกันสักวันไม่ได้หรือ ตนไม่ได้เกี่ยวข้อง ใครจะเกี่ยวข้องก็ว่ากันไป พอพูดอะไรก็หาว่าแก้ตัว หากไม่พูดอะไรก็มองว่าตนปัด ขี้เกียจพูด ไม่พูดดีกว่า มันไม่เกิดประโยชน์อะไรในเวลานี้เลย ไม่อยากให้มันวุ่นวาย
    “เรื่องดูดเป็นเรื่องกระพี้ ซึ่งก็คือเปลือกนอก เรื่องจริงคือถึงเวลาไปเลือกตั้ง อย่ามาพูดกันตอนนี้ ดูดไปดูดมา ประชาชนจะเลือกสักพวกหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ คุณอย่าไปสนใจตรงนั้นมากนักเลย”
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุม ครม.พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินลงมาที่ห้องโถงชั้น 1 ตึกบัญชาการ เพื่อที่จะแถลงข่าวตามปกติของทุกวันอังคาร ซึ่งจะยืนบนจุดโพเดียมที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้ แต่ครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ทำท่าเดินช้าๆ แล้วนั่งลงที่โซฟารับรอง พร้อมไขว่ห้าง และอ่านโน้ตที่เตรียมจะตอบคำถามสื่อ โดยผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นอะไร เหนื่อยหรือ นายกฯ กล่าวว่า “มันเมื่อย แต่ไม่เหนื่อย เป็นทหารเหนื่อยกว่านี้เยอะ” จากนั้นนายกฯ ได้เดินไปที่โพเดียม เพื่อแถลงข่าวตามปกติ
    พ.อ.หญิงทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าในช่วงท้ายการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.สั่งการว่า ในช่วงระยะเวลาที่เหลือก่อนการเลือกตั้งประมาณ 8 เดือน อยากให้ข้าราชการในหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในเรื่องที่สำคัญ รวมถึงจะต้องมีผลงานให้ประชาชนเห็น โดยนายกฯ ให้ความสำคัญอย่างมาก 10 หัวข้อใหญ่ คือ 1.เรื่องการปฏิรูปตำรวจ 2.ปฏิรูปการศึกษา 3.การจัดที่ดินทำกินให้ราษฎรในพื้นที่ต่างๆ 
    4.การบริหารจัดการขยะทั่วประเทศ โดยนายกฯเน้นย้ำว่ากระบวนการจัดการขยะเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องมีกระบวนการบริหารจัดการขยะที่ถูกกฎหมายทั้งหมด ซึ่งได้มอบหมายให้ รมว.มหาดไทยกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว 5.การบริหารระบบราชการ นายกฯ เน้นย้ำว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะต้องดูแนวทางการปรับย้ายให้ชัดเจน รวมถึงแนวทางการรับข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการบรรจุข้าราชการเข้าใหม่  รวมถึงพนักงานและลูกจ้างจะต้องมีความชัดเจน 
    พ.อ.หญิงทักษดากล่าวว่า นายกฯ ยังกำชับอีกว่าสำหรับพนักงานราชการหรือข้าราชการที่เข้ามาใหม่จะต้องมีรายได้ที่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ รวมถึงจะต้องมุ่งเน้นลดจำนวนข้าราชการลงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดย ก.พ.และ ก.พ.ร.จะต้องไปพิจารณาหาแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งนายกฯ ได้ยกตัวอย่าง ว่าในสมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ประสบความสำเร็จในเรื่องการวางแผนลดจำนวนข้าราชการทหารลง จึงอยากให้หน่วยงานราชการต่างๆ นำไปปรับปรุง 
    6.การบริหารจัดการภัยพิบัติต่างๆ เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีเรื่องอุบัติเหตุและอุบัติภัยต่างๆ เกิดขึ้น  นายกฯ จึงเน้นย้ำว่าเรามีศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของรัฐบาล ซึ่งนายกฯ เป็นประธาน เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ดังกล่าวจะติดต่อกับหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านภัยพิบัติทุกหน่วยงาน 7.นายกฯ เน้นย้ำว่าการใช้เครื่องมือต่างๆ จะต้องมีการจัดระเบียบเครื่องมือที่ใช้บรรเทาสาธารณภัยและอุทกภัย โดยต้องมีการวางแผนให้ความช่วยเหลือเชื่อมโยงกับเอกชน และเมื่อมีการขอยืมอุปกรณ์ต่างๆ จากเอกชนมาแล้ว จะต้องมีการส่งคืนในสภาพเดิมและสภาพดี 
    8.นายกฯ เน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นแผนงานระยะยาว แต่ในช่วงนี้แผนงานระยะสั้น 1-5 ปีที่ได้วางไว้ต้องทำให้เกิดผลให้ได้ รวมถึงต้องสอดคล้องกับแผนการปลูกพืชต่างๆ 9.โครงการต่างๆ ที่เสนอขอนายกฯ ระหว่างลงพื้นที่ในหลายจังหวัด ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมแล้วนำเสนอให้นายกฯพิจารณาว่าเรื่องไหนที่ควรจะทำได้เร็ว ทำได้ก่อน เพื่อตอบสนองในแต่ละพื้นที่ และ 10.นายกฯ เน้นน้ำเรื่องสังคมผู้สูงอายุ โดยอยากให้มีการเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ให้อยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ถูกทอดทิ้ง
    ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอและแนวทางต่อการงดเว้นใช้การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครส.ส. หรือไพรมารีโหวต ว่าเบื้องต้นผ่อนมาเยอะแล้วแต่ถ้ายังติดขัดตรงไหน หรืออะไรที่ทำให้เดินหน้าไม่ได้ เราต้องรู้ก่อนว่าเกิดปัญหาตรงไหน วันนี้กติกาคือทุกคนต้องไปทำไพรมารีโหวต แต่ถ้ายังทำไม่ได้ จะทำได้แค่ไหน ต้องการอย่างไร หากต้องแก้ต้องไปแก้ที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออกมา ก็ยังพูดอะไรได้ไม่เต็มปาก 
    "เมื่อถึงเวลาคงต้องนัดฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยกัน ซึ่งเจ้าภาพของเรื่องนี้ควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องเตรียมประเด็นปัญหา กกต.อาจคุยกับพรรคการเมืองว่าขณะนี้ปัญหาเป็นแบบไหน จะปรับปรุงอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อสรุปและข้อเท็จจริง โดยที่ไม่ต้องเกรงใจรัฐบาล เพราะไม่ใช่เรื่องที่ต้องเกรงใจกัน แต่ต้องบอกปัญหาให้เห็น จะได้แก้ถูก อะไรที่ กกต.แก้เองได้ก็ทำไป ส่วนอะไรที่แก้ไม่ได้ต้องให้รัฐบาลช่วยแก้ ดังนั้นต้องบอกกัน"
     ผู้สื่อข่าวถามว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้กฤษฎีกาแก้ไขคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ให้พรรคการเมืองสามารถจัดประชุมใหญ่เพื่อทำไพรมารีโหวต และให้ กกต.สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้ง รวมถึงอาจจะใช้การทำไพรมารีโหวตแบบภาคนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เรื่องนี้นายวิษณุได้ออกมาปฏิเสธแล้ว
     เมื่อถามถึงการสรรหา กกต.ชุดใหม่ รอบที่ 2 หากที่ประชุม สนช.ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ยังไม่สามารถเลือกบุคคลเข้ามาเป็น กกต.ได้ครบ จะต้องมีการไปทาบทามบุคคลเข้ามาเป็น กกต.หรือไม่ ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหา เพราะทาง กรธ.ได้เปิดช่องทางไว้แล้ว จริงๆ อยากให้ใช้วิธีนั้นบ้างจะได้คนที่ตั้งใจและมีความรู้ มีความสามารถ ส่วนที่กังวลกันว่าเปิดรับสมัครยังหาคนยาก ทาบทามจะยากกว่าหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่เสมอไป เพราะบางคนเขาก็พร้อมที่จะทำงาน บางคนถือว่าเป็นโชค บางคนถือว่าเป็นหน้าที่ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นประโยชน์เขาอาจจะยอมเสียสละมา ซึ่งคนแบบนั้นมักจะทำงานได้ดี
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 ก.ค.นี้ สนช.จะให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน คือ 1.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2.นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 3.นายอิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย 4.นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด และ 5.นายธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวน 2 คน ได้แก่ นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายปกรณ์ มหรรณพ ผู้พิพากษาศาลฎีกา 
    โดยทั้ง 7 คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ที่มี พล.อ.ไพชยนต์ ค้าทันเจริญ เป็นประธานได้ ตรวจสอบประวัติทั้ง 7 คนเสร็จแล้ว 
    มีรายงานว่า ในส่วนรายชื่อผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น กกต. 7 คน ที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง กกต. ได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติเสร็จเรียบร้อยแล้ว พบว่า 6 คนไม่มีปัญหาเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติ แม้จะมีปัญหาถูกร้องเรียนอยู่บ้าง แต่ทุกคนสามารถชี้แจงได้ ยกเว้นนายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ที่ติดปัญหาเรื่องการถูกฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีละเว้นกระทำการตามหน้าโดยมิชอบ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ทำหน้าที่นายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว ทำให้เป็นที่ถกเถียงในหมู่สมาชิก สนช. ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมเป็น กกต.หรือไม่ โดย สนช.ส่วนใหญ่มองว่าหากปล่อยให้ผู้มีคดีความติดตัวไปดำรงตำแหน่ง กกต. อาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร กกต.ได้
    ขณะที่ สนช.อีกส่วนมองว่า ควรให้โอกาสนายสมชาย เพราะขณะนี้นายสมชายเป็นเพียงแค่ผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังไม่มีคำพิพากษาศาลเป็นที่สิ้นสุด จึงถือว่ายังไม่มีความผิด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"