บิ๊กตู่ขู่ตรวจเข้มทัวร์-เรือ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

ในหลวงส่งพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยัง ปธน.จีน กรณีเหตุเรือล่มภูเก็ต "บิ๊กตู่" ฮึ่มบริษัททัวร์เตรียมตัวให้ดี สัปดาห์หน้าไล่ตรวจเข้มทั่วประเทศ กรมเจ้าท่าแย้มเอาผิดผู้ประกอบการยาก จ่อแก้ กม.เข้มปลอดภัยเหมือนขึ้นเครื่องบิน ตร.ดำเนินคดีเจ้าของ-ต้นกลเรือฟีนิกซ์ฐานประมาท

    เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีเกิดเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 มีใจความว่า ฯพณฯ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าสะเทือนใจอย่างยิ่งที่เกิดเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มนอกชายฝั่งของจังหวัดภูเก็ต ส่งผลให้มีชาวจีนเสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังท่าน ตลอดจนครอบครัวของผู้เสียชีวิตจากการสูญเสียในเหตุการณ์น่าเศร้าครั้งนี้ และขอให้ท่านมั่นใจได้ว่าประเทศไทยจะดำเนินการค้นหาและให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถ
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”  ว่า เหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นเรื่องที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ของเพื่อนมนุษย์ ในฐานะรัฐบาลที่เป็นเจ้าบ้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยดำเนินการทุกเรื่อง ทั้งการค้นหา พิสูจน์ทราบ ติดตามหาญาติ การประกันภัย การส่งกลับ และอำนวยความสะดวกกระบวนการทั้งปวง รวมถึงมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมายอย่างเต็มที่ และการรักษาขวัญและกำลังใจแก่ญาติผู้สูญเสีย ทั้งนี้ ต้องค้นหาสาเหตุ แล้วมีการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวต่อๆ ไปในอนาคต
    อาทิ เรื่องการกำกับดูแลบริษัทผู้ให้บริการ ต้องเคร่งครัดในการออกใบอนุญาต ซึ่งสั่งให้ทบทวนหลักการทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องการจัดตั้งบริษัท การให้การบริการ เจ้าหน้าที่ประจำเรือ เจ้าหน้าที่บริการ การระวังป้องกัน เจ้าหน้าที่ รปภ.ประจำเรือ สิ่งอุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวมทั้งระบบแจ้งเตือน ตรวจจับผู้ละเมิดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย เช่น กรณีที่ประกาศไปแล้วว่าช่วงนี้คลื่นลมแรง ไม่ควรออกเรือ แต่ยังฝ่าฝืนออกไป ต้องตรวจสอบว่าใครจะต้องรับผิดชอบ ขณะที่กรมเจ้าท่าจะต้องเพิ่มมาตรการ โดยใช้มาตรการใช้สติปัญญาก่อน ไม่ใช่รองบประมาณ โดยต้องตรวจตราความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์นิรภัย ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ทันที และซักซ้อมแผนการปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน
    นอกจากนี้ หากตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยหรือได้รับผลประโยชน์ ตนจะลงโทษอย่างเด็ดขาด และจะตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเองอีกครั้งหนึ่ง หลังให้คณะทำงานลงไปตรวจสอบ 
    "ขอให้ทุกบริษัททัวร์หรือเจ้าของเรือทุกคน ไปเตรียมการให้พร้อมนะครับ จะเริ่มมีการตรวจสอบในสัปดาห์หน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างนี้เกิดขึ้นต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
    ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยหลังเกิดกรณีเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ว่า กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่ต้องสร้างมาตรการเรื่องความปลอดภัยทุกระบบขนส่งสาธารณะให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยเรื่องการเดินเรือนั้น ต้องปรับปรุงระบบติดตามเรือให้เป็นไปตามที่นายกฯ ให้นโยบายไว้ ส่วนการออกเรือ บริษัทเจ้าของเรือต้องมีผู้รับผิดชอบที่เป็นผู้จัดการความปลอดภัยร่วมกับกัปตันเรือ หลังจากนี้ไปต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยสร้างระบบที่เป็นระเบียบปฏิบัติชัดเจนในการลงไปตรวจสอบเรือ ก่อนเรือออกทุกอย่างต้องพร้อม โดยเฉพาะอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ที่สำคัญกัปตันจะออกเรือไม่ได้จนกว่าพนักงานจะชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติในการขึ้นเรือให้เรียบร้อยก่อน ทั้งนี้ จะเร่งให้กรมเจ้าท่าแก้ไขระเบียบต่างๆ ให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อรองรับเทศกาลวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ 62
    นายณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการออกระเบียบกรมเจ้าท่าเพื่อใช้บังคับตามกฎหมายในกรณีที่มีการแจ้งเตือนสภาพอากาศและการห้ามออกเรือ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการบังคับอย่างจริงจัง เป็นเพียงดุลพินิจของกัปตันคุมเรือในการตัดสินใจออกเดินเรือ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการใช้บริการเรือโดยสารให้เป็นในลักษณะเดียวกับการใช้บริการเครื่องบิน โดยจะวางระบบมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินเรืออย่างเข้มข้น ทั้งการตรวจสอบตัวเรือ  การออกใบประกาศนียบัตรนายท้ายเรือ ตลอดจนการเพิ่มความถี่ในการตรวจเรือให้มากกว่าปีละ 1 ครั้ง พร้อมปรับปรุงระเบียบปฏิบัติต่างๆ ในการเดินเรือและข้อปฏิบัติการขึ้นเรือ ตลอดจนอบรมพนักงานและงานบริการผู้โดยสารคล้ายแอร์โฮสเตส ที่คอยแนะนำการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยและทางออกฉุกเฉินให้ผู้โดยสาร โดยจะนำแนวทางไปปฏิบัติในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีความเสี่ยงทั่วประเทศ อาทิ เมืองพัทยา จ.ชลบรี, สุราษฎร์ธานี
    แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมเจ้าท่าเปิดเผยว่า  ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปเหตุการณ์และหาผู้รับผิดชอบคาดว่าจะได้ข้อสรุปในสัปดาห์หน้า แต่ยอมรับว่าตัวกฎหมายยังไม่มีข้อบังคับชัดเจน จึงน่าจะยังเอาผิดทางกฎหมายกับผู้ประกอบการไม่ได้ ทำได้เพียงมาตรการเยียวยาความเสียหายทั่วไป อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น หนึ่งในสาเหตุมาจากกรมเจ้าท่าขาดแคลนพนักงานดูแลความปลอดภัยตามท่าเรือ เนื่องจากรัฐบาลไม่อนุมัติให้รับบุคลากรเพิ่ม เมื่อคนไม่พอ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ทั่วถึง นอกจากนี้ยังขาดแคลนงบประมาณบำรุงรักษาท่าเรือ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นด้วย หลังจากนี้ยังคงมีข้อพิพาทที่ต้องเคลียร์กับเอกชน คือการกู้ซากเรือที่จมลงไปนั้น เบื้องต้นเอกชนปฏิเสธที่จะออกเงินกู้เรือของตัวเองที่จม โดยให้เหตุผลว่าความลึกที่จมลงไปราว 44 เมตรนั้นไม่กระทบกับการเดินเรือปกติบนผิวน้ำ
    ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรือล่มจังหวัดภูเก็ต ณ ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต แถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.นี้ จะตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์ช่วยเหลือเรือล่มจังหวัดภูเก็ต ที่ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามภาพรวมทุกแผนการช่วยเหลือ ประกอบด้วย การรักษาพยาบาล การเยียวยา การจัดการศพ การส่งต่อ การรับเรื่องร้องทุกข์จากญาติ สำหรับศูนย์นี้ยังเปิดบริการอยู่ แต่จะเป็นศูนย์บัญชาการส่วนหน้า 
    ที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะ ประชุมร่วมกับตำรวจภูธรภาค 8 นำโดย พล.ต.ท.สรศักดิ์ เย็นเปรม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เพื่อติดตามความคืบหน้าการสอบสวนดำเนินคดีกรณีเรือฟีนิกซ์และเรือเซเรนาต้าล่ม ทั้งนี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ได้สั่งการในที่ประชุมตรวจสอบอู่ต่อเรือฟีนิกซ์ จากนั้นเวลา 15.00 น. หลังได้หมายค้นแล้ว พล.ต.อ.ศรีวราห์และคณะได้เดินทางไปตรวจ หจก.ธนวัฒน์ เอ็นจิเนียริ่ง ภูเก็ต ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างต่อเรือฟีนิกซ์ ตั้งอยู่เลขที่ 65 ถ.ท่าเรือใหม่ ม.7 ต.รัษฎา อ.เมืองฯ จ.ภูเก็ต และคานเรือของบริษัท สิกิจ จำกัด ซึ่งเป็นอู่ต่อเรือฟีนิกซ์ ตั้งอยู่ที่เลขที่ 3/20 ม.1 ต.รัษฎา อ.เมืองฯ จ.ภูเก็ต จากการตรวจสอบพบว่า หจก.ธนวัฒน์ฯ ตั้งและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มาตรา 12
    วันเดียวกัน พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ต และศาลได้อนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหา ดังนี้ 1.น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล อายุ 26 ปี เจ้าของเรือฟีนิกซ์ และ 2.นายอ่อนจันทร์ กัณหาโยธี อายุ 56 ปี ต้นกลเรือ ในความผิดฐาน “กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ซึ่งทั้งสองคนได้เดินทางมามอบตัวแก่พนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา โดยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไปในวันเดียวกัน
    ขณะที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เปิดเผยว่า วันที่ 14 ก.ค.นี้ จะเดินทางไป จ.ภูเก็ต เพื่อประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน รวมทั้งผู้ประกอบการท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ทั้งหมดราว 200 ราย ในเรื่องการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่เสียชีวิต โดยเฉพาะเงินเยียวยาเพิ่ม นอกจากนี้ยังเร่งรัดให้มีการสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มนอมินีชาวต่างชาติที่เปิดบริษัทบังหน้า  รวมทั้งการพิสูจน์หาเหตุเรือล่มว่ามาจากความประมาทหรือสภาพของเรือ และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐหากพบว่าบกพร่อง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"