จากนี้ไปคนข่าว ควรทำข่าวหมูป่าเช่นไร?


เพิ่มเพื่อน    

      แม้สื่อเทศจะบุกเข้าถึงบ้านหมูป่า ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะควร ผมยืนยันว่าสื่อไทยซึ่งได้ยึดถือแนวทางอันน่านับถือด้วยการรักษา "ระยะห่างอันเหมาะสม" มาตลอดเหตุการณ์นี้ควรจะต้องรักษาจุดยืนนี้ไว้เพื่อแสดงถึงการเคารพในสิทธิเด็กและความเป็นส่วนตัวของครอบครัวผู้ประสบภัยต่อไป

      คนที่ทำงานในวงการนี้มานานพอจะบอกได้ว่าในหลายๆ กรณี สื่อเทศมิได้มีมาตรฐานจริยธรรมดีกว่าสื่อของเราแต่อย่างใด

      โดยเฉพาะการทำงานของสื่อไทยในกรณีถ้ำหลวงครั้งนี้ คนข่าวไทยได้แสดงความพร้อมที่จะสร้างความสมดุลระหว่างการตอบสนองความอยากรู้ของสังคมกับการเคารพในสิทธิของเยาวชนได้อย่างดีเยี่ยม

      ในสภาวะที่คนทั้งสังคมต้องเคารพในสิทธิของการ "กลับไปสู่ชีวิตปกติ" ของหมูป่านั้น สื่อจะต้องใช้ความคิดความอ่านและความสร้างสรรค์ในการรายงานข่าวและเนื้อหาที่เกี่ยวโยงได้มากมาย โดยไม่ใช้วิธีการเก่าๆ ที่มาในรูปของการจ่อไมโครโฟนไปที่แหล่งข่าวและตั้งคำถามที่ไม่มีคำตอบอะไรใหม่ไปกว่าสิ่งที่คนทั่วไปได้รับทราบแล้ว

      นี่เป็นการท้าทายความสามารถของคนข่าวยุคนี้ที่จะสร้าง "นวัตกรรม" ในการรายงานเนื้อหาที่เติมเต็มจากข้อเท็จจริงที่มาจากหมูป่า

      นักข่าววันนี้ไม่ควรจะคิดแต่เพียงแย่งชิงกันทำข่าว "สกู๊ป" ในรูปแบบเก่าๆ ซึ่งผู้คนทั่วไปหาอ่านได้จากโซเชียลมีเดียในลักษณะ breaking news ที่มีความละม้ายกันเกือบทุกสำนัก

      สิ่งที่จะพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของคนข่าววันนี้คือ การสร้างความแตกต่างด้วยการเจาะหา  "เนื้อหาเติมเต็ม" ที่เป็นส่วนสำคัญไม่น้อยต่อเรื่องราวของถ้ำหลวงและหมูป่า

      โจทย์ใหญ่สำหรับคนทำสื่อที่ต้องการสร้างความเป็นมืออาชีพในสภาพที่มีความท้าทายเช่นนี้ย่อมอยู่ที่จะต้องตอบคำถามได้ว่า

      จะทำข่าวหมูป่าให้รอบด้านโดยไม่ต้องไปรบกวนวิถีชีวิตปกติของครอบครัวหมูป่าได้อย่างไร?

      นั่นย่อมหมายถึงการใช้ความรู้ความสามารถเจาะหาเนื้อข่าวเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวโยงรายละเอียดการช่วยเหลือหมูป่า, จิตวิญญาณอาสาสมัครที่ได้ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดในเหตุการณ์ครั้งนี้, แรงบันดาลใจอันใหญ่หลวงที่เกิดในสังคมไทยเพราะความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของคนไทยและประชาคมโลก...ตลอดถึงการทำให้ความทรงจำของปรากฏการณ์ปาฏิหาริย์ครั้งนี้ฝังแน่นด้วยกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม

      บทเรียนอันทรงคุณค่าที่คนไทยและสังคมโลกได้จากเหตุการณ์ถ้ำหลวงครั้งนี้ก็เป็นอีกหัวข้อที่การ  "ทำข่าวอย่างมีสาระและสร้างสรรค์" ควรจะได้รับความสนใจจากคนทำสื่ออย่างเข้มข้นไม่แพ้ประเด็นอื่นใด

      ถ้าผมเป็นหัวหน้าข่าวสังกัดสื่อใดสื่อหนึ่งวันนี้ ผมจะให้คนข่าวทุกคนระดมสมองนำเสนอประเด็นข่าวที่จะต้องเจาะลึกและติดตาม โดยไม่เพียงแค่คิดว่าการพยายามไปสัมภาษณ์หมูป่าอย่างที่นักข่าวฝรั่งบางสำนัก "ลักไก่" นั้นเป็นวิธีเดียวที่จะติดตามข่าวนี้

      แน่นอนว่า การทำข่าวเกี่ยวกับการคืนสู่ชีวิตปกติของหมูป่าทั้งคณะนั้นย่อมทำได้หลังจากให้เวลาผ่านไประยะหนึ่ง แต่ควรจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับกิจกรรมร่วมของทั้งทีม เช่นรายงานความเคลื่อนไหวให้เห็นว่าเด็กๆ กลับไปซ้อมฟุตบอลอย่างมีความสุขเหมือนเดิม หรือกลับเข้าห้องเรียนร่วมกับเพื่อนๆ แล้ว หรือการบวชให้ "จ่าแซม" เป็นการแสดงถึงความระลึกถึงผู้เสียสละเพื่อพวกเขา เป็นต้น

      ผมเห็นว่าองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมืออาชีพด้านนี้ควรจะต้องจัดให้มีการปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันวางหลักการทำงานร่วมกันของสื่อ

      บางคนบอกว่าการคาดหวังให้สื่อจัดระเบียบกันเองอย่างนั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นธรรมชาติของการแข่งขันในอาชีพนี้

      แต่นั่นเป็นวิธีคิดแบบดั้งเดิมของคนข่าวในคนละยุคสมัย

      วันนี้สังคมเฝ้ามองการทำหน้าที่สื่ออย่างพินิจพิเคราะห์ และตั้งความหวังไว้ว่าสื่อจะ "ถอดบทเรียน"  จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างรอบด้านและถ้วนถี่

      การที่วงการนี้ไม่เคยทำอย่างนี้คิดอย่างนี้ ไม่ได้แปลว่าคนที่ต้องการทำหน้าที่สื่ออย่างรับผิดชอบจะไม่คิดฉีกแนวออกไปเพื่อปรับให้เข้ากับมาตรฐานที่สังคมต้องการเห็นจากนี้ไป

      ในบางกรณี เมื่อถึงจังหวะเวลาอันเหมาะควรแล้ว การประสานทำข่าวระบบ "พูล" ของสื่อทั้งทีวี, หนังสือพิมพ์ และออนไลน์เพื่อไม่เป็นการรบกวนครอบครัวหมูป่า (หากมีกิจกรรมของคณะหมูป่าที่สะท้อนถึงการกลับไปใช้ชีวิตตามปกติสุขได้) ก็น่าจะเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการยื้อแย่ง "สกู๊ป" จนก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านให้แก่เยาวชนและครอบครัวโดยไม่จำเป็น

      เพราะไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการเคารพในสิทธิส่วนตัวของหมูป่าและครอบครัว ไม่ว่าความอยากรู้อยากเห็นของคนข่าวหรือคนบางส่วนของสังคมจะมีมากเพียงใดก็ตาม

      แต่เดิม คนทำสื่อแข่งขันกันด้วยความไว แข่งขันกันว่าใครได้ก่อนใคร และแข่งขันกันขายข่าวที่ร้อนแรงและดราม่ากว่ากัน

      วันนี้ สังคมจะตัดสินคนสื่อบนพื้นฐานของการแข่งขันที่จะมีความรับผิดชอบ, การใช้วิจารณญาณอย่างรอบด้าน, รักษาระยะห่างกันเหมาะควรโดยให้แน่ใจว่า

      ทุกข้อความที่เขียน, ทุกประโยคที่รายงานได้กลั่นกรองความถูกต้องแม่นยำ

      และสำคัญเหนืออะไรอื่นทั้งหมดคือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"

      ไม่ยากอะไรเลยหากจะแค่ถามตัวเองว่า

      "ถ้าเราเป็นหนึ่งในหมูป่า เราคิดว่าสื่อควรจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร"?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"