เปิดชุดความรู้"ไขมันทรานส์"อย.จับตาฉลากฉวยโอกาสอ้างปลอดไขมันทรานส์ 0%


เพิ่มเพื่อน    

 

เปิดชุดความรู้ “ความจริงไขมันทรานส์” อย. ข้อความติดฉลากแสดงไขมันทรานส์ให้ชัด อย่าฉวยโอกาสโฆษณาปลอดไขมันทราน์ 0% นักวิชาการเผย แม้ไขมันทรานส์จะอันตรายกว่าไขมันอิ่มตัว แต่ปริมาณการได้รับของคนไทยยังน้อยกว่าไขมันอิ่มตัว ชี้การทอดซ้ำเกิดไขมันทราน์น้อย ให้ไปกังวลในเรื่องไฮโดรคาร์บอนที่ทำให้เกิดมะเร็งดีกว่า  แนะกินอาหารให้หลากหลายเพื่อสุขภาพ อย่าตื่นตระหนกจนเกินไป 

 

24 ก.ค.61-  ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดแถลงข่าว “ความจริงไขมันทรานส์” โดยมี น.ส.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ และ นพ.ฆนัท ครุฑกุล เครือข่ายคนไทยไร้พุง แพทย์ผู้เชียวชาญด้านหัวใจและโภชนาการวิทยาคลินิก โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกันแถลงข่าว 

 

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า จากการที่อย.ในฐานะหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลสำรวจสถานการณ์การใช้น้ำมันที่ผ่านไฮโดรเจนบางส่วนก่อให้เกิดไขมันทรานส์ที่เป็นอันตราต่อสุขภาพ และร่วมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เห็นพ้องกันว่ามีการใช้และมีอันตรายจริง จึงร่วมกันว่าจะไม่มีการใช้น้ำมันดังกล่าว กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันก็จะไม่ผลิต กลุ่มผู้ผลิตสินค้าก็จะมีการปรับสูตรต่างๆ จนได้มีการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนเป็นส่วนประกอบ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 ม.ค.2562 เป็นต้นไป หรือหลังจาก 6 เดือนที่มีการประกาศ ทั้งนี้ก็ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป เพราะน้ำมันที่ใช้ตามบ้าน ทั้งน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ

 

ผอ.สำนักอาหาร กล่าวว่า สิ่งที่อย.ต้องติดตามเฝ้าระวัง หลังจากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ คือ การเฝ้าระวังสถานที่ผลิต สถานที่นำเข้า สถานที่จำหน่ายอย่างเข้มงวด โดยอาจมีการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์กลุ่มเสี่ยง โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการบางรายใช้โอกาสนี้ในการโฆษณาในการกล่าวอ้างว่า ผลิตภัณฑ์ปลอดไขมันทรานส์ หรือเป็น 0 % บนผลิตภัณฑ์   ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน จึงให้ใช้ข้อความ “ปราศจาก/ไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” และแสดงปริมาณไขมันทรานส์ได้เฉพาะในกรอบโภชนาการแบบเต็มร่วมกับการแสดงส่วนประกอบอื่นๆเท่านั้น โดยให้แสดงไว้ที่ตำแหน่งใต้ไขมันอิ่มตัว และใช้หลักเกณฑ์เดียวกับไขมันอิ่มตัว ในกรณีฝาฝืน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6เดือน ถึง 2 ปี และปรับตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 2 หมื่นบาท

 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีมีการระบุว่า ปลอดไขมันทรานส์ 0% จะต้องมีการกำเนินการตรวจสอบอย่างไร น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า  เพื่อให้เป็นธรรม อย.จะมีการตรวจสอบว่าข้อความดังกล่าวเป็นจริง โดยการส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ซึ่ง ต้องไม่เจอจริงๆถึงจะไม่เป็นการโอ้อวด และข้อความดังกล่าวก็จะต้องแสดงในกรอบโภชนาการเท่านั้น

 

รศ.ดร.วันทนีย์ กล่าวว่า ไขมันทรานส์พบได้ในอาหารตามธรรมชาติ แต่พบเป็นจำนวนที่น้อย โดยปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลก หรือ Whoแนะนำคือจะต้องไม่เกิน 1% ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมด ซึ่งวันหนึ่งควรได้รับพลังงาน 2,000 แคลลอรี่ ดังนั้นใน 1 วัน ต้องได้รับเพียง 2 กรัม หรือ 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค โดยจากการที่สถาบันสุ่มสำรวจการปนเปื้อนไขมันทรานส์ในผลิตอาหารจำนวน 162 ตัวอย่าง โดยพิจารณาจากปริมาณไขมันทรานส์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ พบว่า  53% พบไขมันอิ่มตัวสูงกว่าเกณฑ์ ประมาณ 13% พบไขมันทรานส์สูงกว่าเกณฑ์ และประมาณ 34 % พบว่ามีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเกณฑ์  สรุปว่าพบการปนเปื้อนไขมันทรานส์น้อยกว่าเมื่อเทียบกับไขมันอิ่มตัว สะท้อนว่าแม้ว่าไขมันทรานส์จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าไขมันอิ่มตัว แต่การได้รับไขมันทรานส์ในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทยน้อยกว่าความเสี่ยงในการได้รับไขมันอิ่มตัว ซึ่งการแก้ปัญหาของแต่ละประเทศที่มีบริบทการกินอาหารที่แตกต่างกัน บริบทการแก้ปัญหาก็แตกต่างกัน ซึ่งหลายประเทศก็แก้ปัญหาด้วยการแบนไขมันทรานส์ แต่ประเทศไทยก็ไม่ต้องการให้ประชาชนได้รับความเสี่ยง จึงต้องมีการออกเป็นกฎหมายควบคุมออกมา ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนตระหนักในเรื่องของการรับประทานอาหารโดยการปรับเปลี่ยนรับประทานอาหารที่หลากหลาย และอย่าตื่นตระหนกจนเกินไป


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ขณะนี้สังคมยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไขมันทรานส์ และเกิดความตื่นตระหนกในการบริโภค สสส.จึงร่วมกับ อย. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายคนไทยไร้พุง จัดทำสื่อความรู้ที่เข้าใจง่ายและถูกต้องทางวิชาการเรื่อง “ความจริงไขมันทรานส์” เพื่อสื่อสารความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค อาทิ อาหารที่มีส่วนผสมของเนยขาว เนยเทียม เป็นส่วนประกอบผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตามปกติในปริมาณที่เหมาะสม เพราะผู้ประกอบการได้ปรับสูตรและกระบวนการผลิตของเนยขาวและเนยเทียมที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์แล้ว


นพ.ฆนัท กล่าวว่า กล่าวว่า ไขมันทรานส์จะไปเพิ่มไขมันตัวร้าย และลดไขมันดี มีผลต่อสุขภาพในเรื่องหัวใจและหลอดเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในเรื่องความจำเสื่อม เบาหวาน และมะเร็งบางชนิด และภาวะโรคอ้วนได้มากขึ้น แต่ในการได้รับไขมันทรานส์จากอาหารตามธรรมชาติไม่ต้องกังวล เพราะไขมันทรานส์จำนวนมากๆนั้นเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม โดยขณะนี้ที่ประชาชนเกิดความกังวลว่าการทอดซ้ำจะเกิดไขมันทรานส์หรือไม่นั้น การทอดซ้ำนั้นไม่ได้มีการเติมไฮโดรเจนบางส่วน แต่กระบวนการสามารถทำให้เกิดได้แต่ไม่มาก ซึ่งควรจะไปกังวลในเรื่องไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมากกว่า ทั้งนี้ไขมันทรานส์เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือของหลายภาคส่วนเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี แต่ประชาชนก็ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะการที่จะมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมาจากการปรับชีวิต การกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ การลดอาหารทอด อาหารมัน กินเค๊ก กินขนมได้ แต่ในปริมาณที่น้อยลง อย่าวิตกกังวลมากเกินไป ก็ จะทำให้สุขภาพดีขึ้น.



เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"