'ครม.'ไฟเขียว9.7หมื่นล้าน อุ้มชาวนาปีการผลิต61/62


เพิ่มเพื่อน    

    นายกฯ นำถกการพัฒนาเศรษฐกิจกลุ่ม จว.อีสานตอนล่าง 2 ที่ประชุมเสนอโครงการ 5 ด้าน ทั้งโลจิสติกส์-ขยายเส้นทางสร้างแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 40 โครงการ "ประยุทธ์" ยันฟังความต้องการ ปชช. สั่งจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน อะไรทำได้ให้ทำก่อน เน้นโครงการเชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดเป็นหลัก ไม่เทงบเพื่อหวังผลการเมือง ครม.ไฟเขียวงบ 9.7 หมื่นล้าน อุ้มชาวนาปีการผลิต 61/62 หวังดึงข้าวออกจากตลาด 9 ล้านตัน 
    ที่อาคารเทพรัตนสิริปภา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เวลา 08.40 น. วันที่ 24 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ราชธานีเจริญศรีโสธร : อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร) และเป็นประธานการประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 5/2561 โดยมี ครม. ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคการเกษตรกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 เข้าร่วมประชุม
     โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวก่อนการประชุมว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าแผนงานของโครงการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และมาติดตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แก้ปัญหารวมทั้งอุปสรรคที่อาจทำให้โครงการเกิดความล่าช้า รวมถึงการปรับแก้แผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับปัจจัยทั้งภายในและภายนอกในปัจจุบัน กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนล่างเป็นกลุ่มจังหวัดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะมีศักยภาพและส่วนที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่อื่น จึงต้องผลักดันให้สามารถใช้ศักยภาพที่มีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยการเพิ่มโอกาสให้มากขึ้น ซึ่งมีลำดับความสำคัญในการเร่งรัดการดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามแผน ที่ต้องเชื่อมต่อทั้ง 4 จังหวัดในกลุ่มให้ได้ เพื่อนําพาทั้งกลุ่มให้พัฒนาไปพร้อมกัน ลดความเหลื่อมล้ำ มีการกระจายรายได้ มีการสร้างความต่อเนื่องเชื่อมโยง
    มีรายงานว่า ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอการพัฒนาโครงการต่างๆ ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ได้แก่ โครงข่ายคมนาคมทางถนน ขอขยายเป็น 4 ช่องจราจรตลอดสาย จัดทำเกาะกลางถนน และศึกษาออกแบบเส้นทางสำคัญเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ จำนวน 12 เส้นทาง นายกฯ ได้เสนอให้ใช้แบริเออร์แทนการสร้างเกาะกลางถนน เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ และเพื่อประหยัดพื้นที่ถนน ด้านโครงข่ายคมนาคมทางอากาศ ขอขยายอาคารสนามบินนานาชาติอุบลราชธานี เพื่อรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคอินโดจีน โดยให้เร่งรัดดำเนินการให้เร็วขึ้นจากแผนที่กำหนดไว้เดิมในปี 2565 ด้านโครงข่ายคมนาคมทางราง ขอให้เร่งรัดศึกษาโครงการรถไฟทางคู่วารินชำราบ-ช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการรถไฟจากสถานีวารินชำราบ-อำนาจเจริญ-เลิงนกทา เชื่อมโครงการรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม” เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวทางด้านตะวันออกของภาคอีสานกับประเทศเพื่อนบ้าน
    2.ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร และแก้ไขปัญหาอุทกภัยขอรับสนับสนุนโครงการการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร 40 โครงการ และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 5 โครงการ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวชี้แจงว่า โครงการต่างๆ ที่กลุ่มจังหวัดเสนอสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์น้ำ และอยู่ในกลุ่มเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในแผนแล้ว 3.ด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพื่อยกระดับการผลิตและการแปรรูปผลผลิตด้านเกษตรไปสู่การเป็น Smart Farmer 
    4.ด้านคุณภาพชีวิต ขอรับการสนับสนุนโครงการเพิ่มศักยภาพให้บริการของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ขอรับการสนับสนุนและยกระดับศูนย์การแพทย์แผนไทย-พนา เป็นศูนย์การแพทย์ครบวงจร ขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยนายกฯมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขรับหลักการไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และ 5.ด้านการท่องเที่ยว กลุ่มจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมขอมโบราณ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถานที่สำคัญทางศาสนา รวมถึงวัฒนธรรมชนเผ่าในพื้นที่หลากหลาย แต่สภาพเส้นทางคมนาคมติดต่อบางช่วงยังเป็น 2 ช่องจราจร และไม่มีเกาะกลางถนน เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
ไม่เทงบเพื่อการเมือง
    ในตอนท้าย นายกฯ กล่าวว่า ขอให้จัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของแผนงาน อะไรที่สามารถดำเนินการได้ขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาไปก่อน อย่ารอให้รัฐบาลช่วยเหลือฝ่ายเดียว ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนขอให้เร่งดำเนินการ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับ โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว พร้อมให้การสนับสนุน ในส่วนเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจะสนับสนุนโครงการที่มีความเชื่อมโยงในกลุ่มจังหวัดเป็นหลัก เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายงบประมาณแบบบูรณาการ โดยจะไม่เน้นสนับสนุนงบประมาณเพื่อหวังผลทางการเมืองให้แต่ละจังหวัดตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวในสื่อต่างๆ
    ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์แถลงว่า ทางกลุ่มจังหวัดได้เสนอการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โครงการที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำกว่า 40 โครงการ ยกระดับการพัฒนาการเกษตร โดย ครม.ได้รับไว้พิจารณาว่าจะจัดสรรงบประมาณได้อย่างไร เพื่อให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด ทั้งหมดล้วนเป็นความต้องการที่ประชาชนขอมา รัฐบาลมีหน้าที่จัดสรรปันส่วนงบประมาณไปให้พื้นที่พอใจ แต่ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนพอใจรัฐบาล เราอยากให้ทุกคนพอใจการมีส่วนร่วมในการทำงานของรัฐบาล ส่วนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้เสนอขยายโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โดย ครม.ได้ให้ขยายโดยใช้พื้นที่ของหน่วยความมั่นคงซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน พร้อมเพิ่มเครื่องมือในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะโรคเฉพาะทาง เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนด้านการท่องเที่ยวภาคอีสานมีศักยภาพมาก ถือเป็นดินแดนแห่งอาหาร ป่า วัฒนธรรม ทั้งนี้ จะทำอย่างไรให้มีมูลค่ามากขึ้น ขณะที่รัฐบาลก็ให้ตามที่ขอทั้งหมดไม่ได้ เพราะสิ่งที่ขอนั้นไม่เชื่อมโยงกันเลย วันนี้เราได้ปรับปรุงการท่องเที่ยวทั้งหมด และมุ่งการท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟู รักษาสุขภาพ ให้คนมาพักผ่อนในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก มาวันนี้ไม่ได้มารับข้อเสนอของใคร แต่มาฟังประชาชน เพราะฉะนั้นการสื่อสารสองทางจึงเป็นสิ่งสำคัญ การกระจายอำนาจจะต้องทำโครงสร้างให้แข็งแรงก่อน ส่วนข้อเสนอการขยายสนามบินอุบลราชธานีและศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินเลิงนกทา จ.โยสธร ซึ่งต้องใช้งบประมาณสูงในหลายด้านก็ได้บรรจุในแผนงบประมาณอยู่แล้ว แต่ยังดำเนินการไม่เสร็จ ก็ต้องทำต่อจัดสรรงบประมาณให้ครบทุกเส้นทาง ส่วนปัญหาเสาไฟฟ้า ที่ทำให้ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาดูไม่สวยงามนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยจะเข้าไปดำเนินการต่อไป
    ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.สัญจรมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2561/2562 วงเงินรวม 97,950.48 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ เป้าหมาย 9 ล้านตัน แบ่งออกเป็นวงเงินสินเชื่อซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนรวม 35,060 ล้านบาท และวงเงินจ่ายขาด 62,890.48 ล้านบาท โครงการแรกคือสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกและการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ หรือรับจำนำยุ้งฉาง โดยแบ่งเป็น 2 โครงการย่อยได้แก่ 1.การจัดสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อรวม 22,560 ล้านบาท ระยะเวลาเก็บรักษาข้าวนาน 5 เดือน โดยรัฐบาลจ่ายค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ซึ่งสถาบันเกษตรกรต้องจ่ายให้สมาชิกตันละ 500 บาท คิดเป็นเงินที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณจ่ายขาดให้จำนวน 4,088 ล้านบาท
ดึงข้าวจากตลาด 9 ล้านตัน
    สำหรับราคารับจำนำยุ้งฉาง ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 11,800 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 10,200 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 7,500 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 8,900 บาท และ 2 การจ่ายค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกร ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ไร่ละ 1,500 บาท ตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงไม่เกินครัวเรือนละ 12 ไร่ หรือคิดเป็นเงินไม่เกินครัวเรือนละ 18,000 บาท เพิ่มขึ้น 3,000 บาท จากปีที่ผ่านมา รวมวงเงินจ่ายขาด 57,722 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 1 ก.ย.2561-30 ก.ย.2562
    ทั้งนี้ เมื่อคำนวณรายได้ที่ชาวนาจะได้รับทั้งการเข้าร่วมโครงการจำนำยุ้งฉางและเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวในส่วนของข้าวเปลือกหอมมะลิจะมีรายได้ตันละ 17,050 บาท, ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 15,450 บาท, ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 12,000 บาท และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ตันละ 12,900 บาท
    โครงการที่ 2 คือสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร รับผิดชอบโครงกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ ธ.ก.ส. เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป มีเป้าหมาย 2 ล้านตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ส่วนสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย 1% มีเงินหมุนเวียนเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท และเงินจ่ายขาดสำหรับชดเชยดอกเบี้ย 507 ล้านบาท และโครงการที่ 3 การชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ซึ่งโรงสีจะต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรเก็บไว้เป็นระยะเวลา 2-6 เดือน เป้าหมาย 5 ล้านตัน และเป็นเงินจ่ายขาดจำนวน 572 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าทั้ง 3 โครงการจะช่วยดึงข้าวเปลือกออกจากตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมามากได้จำนวน 9 ล้านตัน
    ในที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังกำกับดูแลเงินหมุนเวียนในส่วนของสินเชื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างเคร่งครัดและไม่ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณเพิ่มเติมจากวงเงินที่ ครม. อนุมัติไว้ รวมทั้งให้ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีติดตามและตรวจสอบโครงการให้เกิดความ และรายงานความคืบหน้าทุกๆ 3 เดือน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"