คำเตือนจากแบงก์ชาติ:ความเสี่ยงสูง คนไทยห้ามชะล่าใจเป็นอันขาด!


เพิ่มเพื่อน    

    

ผมนัด ดร.​วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติสัมภาษณ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อประเมินภาพรวม    เศรษฐกิจโลกและไทย...คำถามหลักคือมีอะไรที่คนไทยต้องเป็นห่วงและเตรียมการตั้งรับบ้าง?
    คำตอบที่ชัดเจนคือ “เราชะล่าใจไม่ได้กับความเสี่ยงที่อยู่ข้างหน้า”!
    และเราไม่อาจฝืนกระแสโลกได้
    สงครามการค้าโลกที่โดนัลด์ ทรัมป์เปิดเกมกับจีน, สหภาพยุโรปและแคนาดามีผลกว้างไกล ทั้งด้านบวกและลบสำหรับไทย
    ด้านบวกไม่ต้องห่วง แต่ด้านลบจะส่งผลกระทบที่เราประมาทไม่ได้เลย
    เศรษฐกิจโลกวันนี้พื้นฐานเข้มแข็งพอสมควร เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ โดยเฉพาะอเมริกา มีการขยายตัวที่ชัดเจนจนเขาบอกให้เลิกใช้คำว่า “ฟื้นตัว” ควรใช้คำว่า “ขยายตัว”
    ฝรั่งบอกว่าสถานการณ์ขณะนี้เรียกว่า expansion ไม่ใช่แค่ recovery
    และอาจจะเข้าเขต overheating หรือร้อนเกินควรด้วยซ้ำไป
    ผลที่ตามมาคือความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ
    การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยก็ค่อนข้างดี ปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4.4 เปอร์เซ็นต์ ภาคส่งออกและท่องเที่ยวดี 
    “แต่ก็ไม่ค่อยกระจายตัวไปสู่ประชาชนโดยเฉพาะในฐานล่างเช่นภาคเกษตร แม้เราจะเริ่มเห็นการกระจายตัวที่ดีขึ้นกว่าเดิม...” ผู้ว่าฯ วิรไทบอก
    แม้ว่าภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจจะดูดีขึ้น แต่ “ความเสี่ยง” ก็มีให้เห็นอย่างชัดเจน
    นี่คือที่มาของคำเตือนจากผู้ว่าการธนาคารกลางว่าเรา “ชะล่าใจ” ไม่ได้เป็นอันขาด
    นโยบายของทรัมป์เป็นสาเหตุสำคัญของความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญและไทยก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น
    คุณวิรไทบอกว่าทรัมป์เริ่มเปิดศึกการค้าด้วยสินค้าบางประเภทก่อน เช่นเครื่องซักผ้า อะลูมิเนียม  เหล็ก จากนั้นก็ขยายตัวเป็นหมวดสินค้าที่ใหญ่ขึ้น เช่นชิ้นส่วนยานยนต์
    ซึ่งกระทบทั้งโลก...เพราะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์เป็นผลิตภัณฑ์ในห่วงโซ่การผลิต ห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงระดับสากล
    ไทยเราก็อยู่ในห่วงโซ่นี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
    นโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์เริ่มจะมีเป้าหมายกับบางประเทศโดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างจีนและยุโรป
    สำหรับจีน สินค้าที่ส่งออกที่มีมูลค่าสูงเช่นอิเล็กทรอนิกส์เป็นเป้าหลักของนโยบายทรัมป์เรื่องนี้...ต้องไม่ลืมว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าเพิ่มมาจากนอกประเทศจีน
    แม้จีนจะเป็นผู้ส่งออก แต่วัตถุดิบ และสินค้าขั้นกลางมาจากประเทศในตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยที่จีนนำเข้าไปประกอบก่อนส่งออก
    แม้ไทยจะไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของนโยบายทรัมป์ แต่เราก็โดนลูกหลงได้อย่างแน่นอน
    คุณวิรไทยืนยันว่า “เราต้องจับตาเรื่องนี้เพื่อประเมินผลกระทบต่อไทย แม้ผลทางตรงค่อนข้างน้อย  แต่เราชะล่าใจไม่ได้เพราะหากมาตรการนี้ขยายไปผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้เราจะไม่ได้เป็นประเทศส่งออกไปอเมริกาโดยตรง แต่เราอาจส่งออกผ่านจีน...แปลว่าเราถูกกระทบได้”
    อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะไม่ค่อยได้พูดถึงกันเพราะมันวัดผลยาก คือสิ่งที่เรียกว่า “ความบิดเบือน” ที่จะเกิดขึ้นจากเมื่อเวลาที่มีมาตรการพวกนี้ขึ้นมา หรือมีการตอบโต้ระหว่างประเทศ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า  trade diversion 
    ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเช่นหากผู้ส่งออกจีนที่เคยส่งออกไปอเมริกา พอเจอกำแพงภาษี ส่งออกไม่ได้ ก็ต้องหาตลาดใหม่ อาจจะเทขายถูกๆ มาในตลาดบ้านเรา
    “ดังนั้นสินค้าบางอย่างที่เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกเลย แต่ถ้ามีโอกาสที่จะถูกชาติอื่นมาดัมป์ตลาดในบ้านเรา ก็จะมีผลกระทบกับผู้ผลิตในประเทศเราอยู่ดี” ผู้ว่าฯ ธนาคารกลางบอกผม
    แต่คำว่า trade diversion ก็อาจมีผลด้านบวกได้ เช่นสินค้าจีนที่เคยส่งออกไปอเมริกาได้ วันนี้ส่งออกไม่ได้เพราะมาตรการภาษีที่พุ่งเป้าไปที่จีน ก็เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้ 
    ความอยู่รอดของไทยจึงอยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่แหลมคม, ดุเดือดและฉับพลันกว่าแต่ก่อนมากมายหลายเท่า
    ปรับตัวไม่ทันไม่เพียงแต่จะเสียโอกาสเท่านั้น หากแต่ยังอาจมีผลกระทบถึงขั้นว่าผู้ประกอบการบางรายจะอยู่รอดหรือไม่ด้วยซ้ำไป
    มันคือเดิมพัน "ความเป็นความตาย" ของธุรกิจกันเลยทีเดียว!
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"