ปฏิรูปการศึกษา:คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน


เพิ่มเพื่อน    

    คุณเดชชาติ พวงเกษเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ เข้ากรุงเทพฯ ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีความขยันหมั่นเพียร เรียนรู้การสื่อสารผ่านทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก จนได้รับทุนเรียนจบปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ
    วันนี้เขากลับไปจังหวัดบ้านเกิดเป็นครูสอนสนทนาอังกฤษให้เด็กๆ ที่โรงเรียนเล็กๆ เพราะครูสุนทร กุมรีจิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโสน ที่ ต.บ้านโสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ใช้เงินบริจาคที่ได้จากการ "ทอดผ้าป่า" ของชาวบ้านเพื่อจ้างครูภาษาอังกฤษสองคนให้สอนเด็กรู้ภาษาต่างชาติ เมื่อโตขึ้นจะได้สามารถแข่งขันกับเด็กๆ จากประเทศในอาเซียนเขาได้บ้าง
    ครูเดชชาติสนใจเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง แม้ตอนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็พยายามฝึกภาษาอังกฤษจากเจ้าของภาษา 
    เขาได้ทุนเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ และเมื่อมีประกาศรับสมัครจากโรงเรียนบ้านโสนแห่งนี้ เขาก็ตัดสินใจสมัครเพื่อกลับมาสอนการสนทนาภาษาอังกฤษให้เด็กชนบท
    เมื่อเขาไม่มีใบประกอบวิชาชีพเป็นครู โรงเรียนแห่งนี้จึงเรียกภารกิจของเขาว่าเป็น "วิทยากร" สอนภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
    เน้นการสอนบทสนทนาง่ายๆ ให้เด็ก ไม่หนักไวยากรณ์ที่เป็น "ยาดำหม้อใหญ่" สำหรับเด็กไทยที่เรียนภาษาอังกฤษมาตลอด
    ผมได้คุยกับครูใหญ่สุนทรและครูภาษาอังกฤษเดชชาติผ่าน Suthichai Live วันก่อน สรุปให้ตัวเองเลยว่า "นี่ไง ปฏิรูปการศึกษาที่เป็นรูปธรรมของจริง"!
    โรงเรียนบ้านโสนเป็นโรงเรียนรัฐบาลเล็กๆ เคยมีนักเรียนกว่า 300 คน แต่จำนวนลดลงเรื่อยๆ จนเหลือ 168 เพราะผู้ปกครองส่งลูกหลานไปเรียนโรงเรียนเอกชนในเมืองที่ส่งรถมารับเด็กออกไปจากหมู่บ้าน
    ครูใหญ่สุนทรบอกผมว่า "ตอนนั้นผมเป็นครูอยู่โรงเรียนในเมืองที่มีนักเรียนกว่า 400 มีครู 28 คน  ผมหันมามองบ้านเกิดตัวเอง เห็นโรงเรียนเล็กลงๆ จึงตัดสินใจขอย้ายกลับเพื่ออย่างน้อยไม่ให้จำนวนนักเรียนลดลงไปมากกว่านี้ ผมได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองและคณะครู หันหน้ามาปรึกษาหารือกัน  จนจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 5 แล้ว ตอนนี้มีนักเรียน 238 คนจาก 160 กว่า"
    หากจำนวนนักเรียนลดน้อยไปเรื่อยๆ อาจจะถูกยุบหรือควบรวมกับโรงเรียนอื่น โรงเรียนชุมชนอย่างนี้ก็จะสลายหายไป
    "ทางแก้คือการทำให้ผู้ปกครองหรือผู้รับบริการและเด็กเห็นว่าเรามีคุณภาพไม่แพ้โรงเรียนในเมือง  ผมจึงสร้างโรงเรียนให้มีภูมิทัศน์เหมือนบ้าน ครูรักศิษย์ดุจลูกหลาน นักเรียนมีมาตรฐาน เก่งทางด้านดนตรี กีฬาและวิชาการ เราจึงเอาเรื่องวินัยและคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญ โดยการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านลูกเสือ...ช่วยงาน อบต. ช่วยงานการเลือกตั้ง...กิจกรรมลูกเสือเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตยอันดียิ่ง" ผู้อำนวยการโรงเรียนบอก
    ผมถามว่าทำไมต้องมีการ "ทอดผ้าป่า" เพื่อระดมทุนให้โรงเรียน?
    ครูสุนทรเล่า "โรงเรียนต่างจังหวัดทุกวันนี้ขาดแคลน เราต้องผลักดันด้านทรัพยากรอย่างสูงจึงจะพัฒนาการศึกษาได้ เราได้งบประมาณจากทางราชการเป็นงบรายหัว ระบบก่อนประถม หนึ่งปีต่อคนให้  1,700 บาท ระดับประถม 1,900 บาท มัธยมให้ 3,500 บาท นี่สำหรับทั้งปี งบนี้เอามาใช้ซื้อชอล์ก ซื้อสื่อการเรียนการสอน ค่าน้ำ ค่าไฟ ตัดหญ้า ทุกๆ อย่าง...ซึ่งไม่พอ ถ้าจะให้เด็กห่างไกลได้โรงเรียนดีๆ ก็ต้องระดมทุนจากผู้ปกครอง ซึ่งมาช่วยสมทบด้วยแรงงานบ้าง ด้วยผ้าป่าบ้าง ต้องทำผ้าป่าทุกปี เอามาซื้อโต๊ะเก้าอี้ที่ไม่ขาดแคลน เอามาปรับปรุงภูมิทัศน์โรงเรียน เอามาสร้างศาลาโรงเรียนบ้าง"    
    "ผ้าป่าพัฒนาการศึกษา" ทำเกือบทุกปี จากศิษย์เก่าที่จบจากโรงเรียนนี้ไปทำงานรับจ้างบ้าง จับกังบ้าง ทำงานก่อสร้างบ้าง และบางคนที่ทำงานมีรายได้ดีก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ
    บางทีก็ต้องทำผ้าป่าแข่งกับวัด!
    ก้าวต่อไปคือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนไกลปืนเที่ยง แต่มีความกระตือรือร้นที่จะก้าวไปข้างหน้าดิ้นรนไปสู่ "ความเป็นสากล"
    ผู้อำนวยการสุนทรบอกว่า "เราอยากให้เด็กเรามีภูมิรู้ทางภาษาอังกฤษ เพื่อว่าจบแล้วจะได้มีทักษะที่จะช่วยให้มีอาชีพที่ดีได้ ก็เลยใช้เงินที่ระดมได้มาบรรจุครูสอนภาษาอังกฤษสองคน"
    ครูสุนทรบอกว่าเป็นห่วงว่าเด็กไทยจะแพ้ลาวและเขมรในเรื่องของภาษาอังกฤษด้วยซ้ำไป
    เป้าหมายคือต้องทำให้เด็กไทยแม้อยู่ต่างจังหวัดก็ต้องแข่งขันกับเด็กสิงคโปร์และมาเลเซียให้ได้ในวันข้างหน้า
    "ผมยังคิดเลยว่าสาเหตุหนึ่งที่เราเสียเขาพระวิหารอาจจะเพราะความอ่อนด้อยเรื่องภาษาต่างประเทศของเราหรือเปล่า" ครูสุนทรบอก
    ครูภาษาอังกฤษสองคนมีภารกิจสอนหนัก ต้องสอนหน้าเสาธงและเข้าทุกห้องเรียนทุกชั้นเรียน 3-5  คาบต่อวัน
    อีกทั้งยังสอนดนตรี ตั้งวงโยธวาทิตเพราะ "เด็กเรียนดนตรีจะมีจิตใจงดงาม ดึงเขาออกจากการมั่วสุมยาเสพติดและอบายมุขอื่นๆ"
    เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตามวิสัยทัศน์ของครูท้องถิ่นที่ไม่อาจจะพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลางได้
    สภาพโรงเรียนต่างจังหวัดห่างไกลที่ผมได้ประสบพบมาหลายแห่งต้องเผชิญกับปัญหาทำนองเดียวกันนี้เกือบหมด
    วิธีคิดอย่างครูใหญ่สุนทรบอกให้เรารู้ว่าระบบการศึกษาของไทยเราอยู่ในสภาพที่มีปัญหาอะไรบ้าง
    "การจัดการเรียนการสอนทุกวันนี้ เราจัดการเรียนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้ได้ท่องในเรื่องของหลักสูตรเนื้อหาทางวิชาการ แต่เราไม่ได้จัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพตามความถนัดของผู้เรียน  ไม่ได้สอนวิชาชีพที่แท้จริง จะเห็นได้ว่าเด็กต่างๆ ที่จบ ม.3 ก็ทำได้เพียงสอบได้ กาได้ ผ่านได้ แต่เด็กเหล่านั้นไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร หรือจะไปประกอบอาชีพอะไร สุดท้ายถ้าได้เรียนต่อในสายสามัญ บางส่วนก็อาจจะไปเป็นข้าราชการบ้าง ไปเข้าสู่หมอ พยาบาล แพทย์เพื่อให้ได้ใช้ความรู้ต่างๆ เหล่านั้นไป  แต่ร้อยละ 80 แห่กันไปรับใช้โรงงาน ทำงานที่ไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือ 8 ปี 10 ปี แค่อบรมนิดเดียว แค่จับวางๆ ก็ทำได้แล้ว สิ่งที่เขาต้องการคือเขาอาจร้องเพลงที่เขาถนัด ดนตรีที่เขาชอบ หรือทำงานด้านศิลปะแกะสลัก หรือปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ที่เขาสันทัด ชอบและถนัด..."
    ครูใหญ่คนนี้จึงหันมาจัดการเรียนการสอน "ที่พัฒนาคนอย่างแท้จริง...เพื่อสร้างคนให้ไปทำในสิ่งที่ตนถนัด เราจึงเลือกกิจกรรมเหล่านี้ให้เขาได้ทำขณะที่เรียนหนังสือ"
    นี่ครับ การปฏิรูปการศึกษาของจริงต้องมาจากครูไกลปืนเที่ยงที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ระดมกำลังจากชุมชนเอง
    พรุ่งนี้คุยกันเรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา" จากมุมมองโรงเรียนไกลปืนเที่ยงครับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"