ปูดพรบ.ตำรวจ ส่อเค้าลากยาว เทือกขอลอกใช้


เพิ่มเพื่อน    

     พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับ ”มีชัย” ส่อเค้าถูกเก็บเข้าลิ้นชัก “คำนูณ” ปูดเหตุไม่ได้ตีกรอบเวลา ชี้หาก สนช.ปรับแก้อาจลากยาวไปไกล วอนประชาชนช่วยจับตา “บรรเจิด” ชี้ไม่ปฏิรูปเชื่อมีลุงโดดตึกอีกแน่ “สุเทพ” ลั่นหากไม่สำเร็จยุคบิ๊กตู่ ขอลอกกฎหมายไปใช้หาเสียง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ค. มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยได้จัดเสวนาปฏิรูปประเทศไทย หัวข้อ "การปฏิรูปตำรวจ" โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิฯ กล่าวเปิดการเสวนาว่า ประชาชนต้องการเห็นตำรวจเป็นมืออาชีพและความเชี่ยวชาญงานแต่ละด้าน เช่น สันติบาลต้องเชี่ยวชาญด้านงานข่าว และสอบสวนกลางก็ต้องเชี่ยวชาญเรื่องการสอบสวน เป็นต้น แต่สภาพที่เป็นอยู่ จะพบว่ามีการโยกย้ายข้ามกันไปมา ตำรวจคนหนึ่งทำงานได้ทุกเรื่อง ซึ่งไม่ได้สะท้อนความเป็นมืออาชีพ ที่สำคัญประชาชนต้องการให้ตำรวจเป็นของประชาชน ไม่ใช่เครื่องมือของผู้มีอำนาจ ซึ่งประชาชนต้องการเป็นอย่างมากในเรื่องนี้
     “เสียงเรียกร้องอย่างนี้มีทั่วประเทศ น่ายินดีที่รัฐธรรมนูญบัญญัติการปฏิรูปตำรวจไว้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้ายที่ต้องใช้หลักอาวุโส และต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เมื่อได้รับรายแนวทางการปฏิรูปตำรวจของ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ก็ได้ส่งให้กรรมการชุดใหม่ไปปรับปรุงแก้ไข ซึ่งมีการยกเครื่องใหม่ทั้งหมด” นายสุเทพกล่าว
     นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดประเด็นหนึ่ง เพราะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม และเชื่อมโยงถึงประชาชนโดยตรง ถ้ากระบวนการนี้ไม่โปร่งใส ก็ยิ่งสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่เป็นคนจนมากขึ้นไปอีก ดูได้จากกรณีลุงกระโดดตึก ซึ่งสะท้อนปัญหากระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวน ถ้าไม่แก้ไขก็จะมีการเดิมพันด้วยชีวิตอีก เพื่อให้กลับมาเหลียวดูสำนวนการสอบสวน ดังนั้นคำกล่าวที่บอกว่าคนจนเท่านั้นที่ติดคุก จึงไม่ได้ไกลจากความจริงเท่าใดนัก
     นายบรรเจิดกล่าวว่า ปัญหาของตำรวจมีด้วยกันหลายปัญหา ได้แก่ 1.โครงสร้างที่เป็นลักษณะพีระมิด ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นยอดพีระมิด และอยู่ใต้การเมือง ที่เหลือก็จะอยู่ใต้การเมืองเช่นกัน และระบบการบังคับบัญชาแบบชั้นยศไม่เอื้อต่อการทำงานสอบสวน 2.การเข้าสู่ตำแหน่งในบางพื้นที่มีต้นทุนสูงมาก ซึ่งมีผลให้กระบวนการสอบสวนเดินหน้าไม่ได้ ถ้าการเข้าสู่ตำแหน่งมาจากการลงขันของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ต้นทางกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งประชาชนได้ และ 3.ปัญหากระบวนการสอบสวนโดยแท้ คือเป็นปัญหาที่ไม่มีใครเข้าไปถ่วงดุลตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปลายทางก็จะมีปัญหาเช่นกัน และทำให้ขาดหลักประกันความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน
     นายบรรเจิดย้ำว่า การแก้ไขปัญหาต้องเน้นไปที่โครงสร้างกระบวนการสอบสวนภายใต้หลักการสำคัญที่เป็นหลักสากลคือ ต้องพิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย ซึ่งการจะดำเนินการตามหลักดังกล่าวได้ต้องให้อัยการและตำรวจเข้ามาร่วมกันแสวงหาข้อเท็จจริง หรือตำรวจกับอัยการต้องเป็นกระบวนการเดียวกัน แต่ที่ผ่านมา ปรากฏว่าอัยการเห็นข้อเท็จจริงผ่านสำนวนการสอบสวนที่เป็นเอกสาร และเป็นช่วงก่อนส่งฟ้องศาลไม่กี่วัน ดังนั้น ในหลักสากลอัยการต้องเข้ามาร่วมแสวงหาข้อเท็จจริง และทำหน้าที่ถ่วงดุลด้วย โดยในทางปฏิบัติอัยการไม่จำเป็นต้องเข้ามาในทุกคดี แต่ให้เข้ามาทำหน้าที่เฉพาะคดีที่มีความสำคัญ
     “ถ้ากระบวนการนี้ถูกสถาปนาขึ้นมาได้จริง จะเกิดความโปร่งใส ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดหลักของไทย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาเส้นเลือดหลักอย่างจริงจัง ในทางกลับกัน กลับใช้วิธีการแก้ไขผ่านการตั้งองค์กรพิเศษขึ้นมาจำนวนมาก และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ถ้าทศวรรษนี้เรายังแก้ไขไม่ได้ เชื่อว่าจะเกิดการพลีชีพอีก” นายบรรเจิดกล่าว และว่า โครงสร้างของตำรวจ ควรให้ไปขึ้นกับจังหวัด อย่างกรณีของถ้ำหลวง ถ้าเวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็อาจไม่สำเร็จอย่างทุกวันนี้ก็ได้ 
     ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการที่พิจารณาร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ  มาร่วมนั้น ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในกระบวนการของกฤษฎีกาแล้ว เหลือเพียงบางประเด็นเท่านั้น ส่วนร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญาเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 3 ใน 4 โดยมีประเด็นการพิจารณามากพอสมควร
     นายคำนูณกล่าวว่า เมื่อร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ประกาศบังคับใช้แล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์ 6 ประการ คือ 1.ประชาชนจะได้ตำรวจอาชีพที่มีความรู้ความสามารถ เป็นตำรวจที่ไม่ต้องอาศัยระบบอุปถัมภ์ 2.ประชาชนจะได้กำลังของตำรวจมาทำภารกิจที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม และใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น 3.ประชาชนจะได้กระบวนการสอบสวนคดีอาญาในชั้นตำรวจที่มีความเป็นอิสระ ไม่ต้องขึ้นต่อผู้บังคับบัญชาตามปกติ
     4.ประชาชนจะได้ระบบการสอบสวนที่รัดกุม และไม่สร้างภาระให้กับประชาชน คือกำหนดให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมกระบวนการสอบสวนตั้งแต่ต้นในคดีอุกฉกรรจ์ 5.ประชาชนจะได้ระบบที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการจับกุมผู้ต้องหาและให้ผู้ต้องหามาแถลงข่าว รวมถึงการละเลยพยานหลักฐาน และ 6.ประชาชนจะได้กลไกการตรวจสอบจากภายนอกองค์กรตำรวจมากขึ้น โดยหากประชาชนเห็นตำรวจที่มีประพฤติตนเสื่อมเสีย จะมีกลไกให้ประชาชนร้องเรียนได้โดยตรง และมีคณะกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกเข้ามาทำหน้าที่ตัดสิน
     “6 ประการที่ประชาชนจะได้จากร่างกฎหมายใหม่ทั้งสองฉบับ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญในระยะยาว ที่สุดแล้วการปฏิรูปตำรวจจะต้องเป็นการแก้ไขทุกข์ให้กับตำรวจและประชาชนไปพร้อมกัน โดยให้ตำรวจสามารถได้เลื่อนขั้นตามความรู้ความสามารถ อันจะเป็นการแก้ทุกข์ให้ประชาชนไปในตัวในการได้รับความยุติธรรม” นายคำนูณกล่าว
     นายคำนูณย้ำว่า สายงานสอบสวนเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ซึ่งการพิจารณากฎหมายก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ คือจะทำให้พนักงานสอบสวนได้รับการยกระดับเป็นวิชาชีพเฉพาะเสมือนงานส่วนอื่นในกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ประกอบวิชาชีพกระบวนการยุติธรรม เหมือนกับศาลและอัยการ โดยจะมีหลักประกันความเป็นอิสระในการทำงาน เรียกได้ว่าเป็นสายงานเฉพาะแม้จะอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม
     “งานปฏิรูปตำรวจครั้งนี้อาจยังไม่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะมีเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวพันจำนวนมา แต่ผมเชื่อว่ากฎหมายสองฉบับถ้าบังคับใช้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้ทำอย่างดีที่สุด แต่กระบวนการตรากฎหมายต้องผ่านคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นเรื่องที่ต้องเอาใจช่วยกัน และหวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอยเหมือนในอดีต” นายคำนูณกล่าว
     นายคำนูณกล่าวว่า ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ เป็นร่างกฎหมายที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ กระบวนการพิจารณากฎหมายตามปกติของสภาต้องใช้ไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน และเมื่อใช้เวลานานเกินไป ก็อาจไม่ทันเวลาได้ อีกทั้งการพิจารณาของสภาต้องมีการแก้ไข ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติมีการถักทอและสายใย ถ้าไปเปลี่ยนด้านในด้านหนึ่ง ก็อาจทำให้ดุลยภาพของกฎหมายเปลี่ยนไปได้ ดังนั้น ถ้าประชาชนเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และคิดว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ เสียงสนับสนุนของประชาชนก็จะเป็นเสียงสะท้อนไปยังรัฐบาลและ สนช.ได้เช่นกัน
     นายคำนูณกล่าวตอนท้ายว่า การโยกย้ายข้าราชการตำรวจในปีนี้ คิดว่าร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติไม่น่าจะประกาศใช้ได้ทัน ทำให้ต้องกลับไปใช้การโยกย้ายตำรวจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 260 วรรค 3 ที่กำหนดให้ใช้หลักอาวุโสโดยให้คณะรัฐมนตรีไปออกระเบียบและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้มีนักกฎหมายตีความกันว่าจะใช้หลักอาวุโสเพียงอย่างเดียว หรือจะนำหลักอื่นมาพิจารณาด้วย จึงอยากให้สังคมช่วยกันติดตาม
    ส่วนนายสุเทพกล่าวตอนท้ายยอมรับว่า ฟังเสวนาแล้วกังวลใจ เพราะกลัวว่าสิ่งที่คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติจะยกร่าง พ.ร.บ.ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ประชาชนคาดหวังไว้ แต่เมื่อได้ฟังนายคำนูณแล้ว อยากเป็นตัวแทนประชาชนขอบคุณคณะกรรมการฯ และดีใจที่เห็นการปฏิรูป แม้อาจไม่ได้ดั่งใจ 100% ซึ่งเมื่อได้เห็นร่างฉบับเต็มก็จะชวนประชาชนจุดพลุใหญ่ เพราะเคยทำสำเร็จมาแล้วในการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเชื่อว่าการปฏิรูปครั้งนี้ก็น่าจะสำเร็จ ทำให้เกิดการปฏิรูปตำรวจ เพื่อปลดทุกข์ตำรวจและประชาชน 
“ขอพูดในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณาของ สนช. จะขอคัดลอกไปปรับปรุงใหม่ เพื่อเป็นนโยบายของพรรค รปช. เพราะไม่แน่ใจว่ารัฐบาลต่อไปจะดำเนินการต่อหรือไม่” นายสุเทพกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"