ตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อม รับมือผู้สูงอายุพลัดตกหกล้ม


เพิ่มเพื่อน    

รู้หรือไม่ว่าปัจจัยที่ทำให้ผู้อายุเสียชีวิตและพิการเป็นจำนวนมากมาจากพลัดตกหกล้ม เนื่องจากสภาพแวดล้อมรอบตัวตั้งแต่บ้าน  สภาพแวดล้อม ไปจนพื้นที่สาธารณะไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินชีวิต ทั้งที่ประเทศไทยอีกไม่กี่ปีข้างหน้ากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่คาดว่ามีจำนวนมากขึ้น 

เมื่อไม่นานนี้ ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการสนับสนุนศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center)  ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   โดยมีผู้แทนจากคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, สำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย (สปสว.) และภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุนโครงการเข้าร่วมงานเป็นสักขีพยาน เพื่อเตรียมความด้านสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ  

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ กล่าวว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ “สังคมสูงวัย” ซึ่งอีกเพียง 3 ปี ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 20% การออกแบบและปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุและเอื้อต่อการใช้งานของทุกคนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

 ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตเพราะการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยพบว่ากว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักจะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก และบางส่วนต้องใช้รถเข็นไปตลอด รวมทั้งทำให้ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเองและต้องมีคนดูแลตลอดเวลา ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายของระบบบริการในผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม

นอกจากนี้ จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2557 พบว่า เกือบครึ่งของผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ใช้ส้วมแบบนั่งยอง และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพประชากรไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 ปี พ.ศ.2557 ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า เพียงร้อยละ 24.6 ของบ้านที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับวัย โดยมีเพียงร้อยละ 15.2 มีการติดราวในห้องน้ำ และมีราวเกาะในห้องนอน เพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้น

“สสส.สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงวัยในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อม ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการปรับที่พักอาศัยและพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ” ดร.สุปรีดา กล่าว

ด้าน รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ คือ 1.เพื่อรวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรมท้องถิ่นและนวัตกรรมใหม่ๆ 2.เพื่อเป็นศูนย์ให้คำปรึกษา แนะนำ เผยแพร่ ให้ความรู้ในเรื่องการออกแบบก่อสร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ 3. เป็นธนาคารอุปกรณ์ ที่รวบรวมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและคนทุกคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในชุมชน

โดยศูนย์จุฬาฯ ซึ่งเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จเป็นศูนย์แรก จะเปิดให้เยี่ยมชมได้ตั้งแต่บัดนี้ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ เบอร์ โทร.08-4554-9301 หรือ E-mail: [email protected] และจะเริ่มทยอยเปิดศูนย์ของภูมิภาคอื่นๆ ในปีนี้ โดยคาดว่าจะเปิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนครบทั้ง 5 แห่ง ภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2562 สามารถติดตามผ่านช่องทาง Facebook: ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน Universal Design Center การติดต่อ: ติดต่อในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น.

ประกอบด้วย ศูนย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (กรุงเทพฯ ปริมณฑล ภาคตะวันตกและภาคตะวันออก) เบอร์โทรศัพท์ 08-4554-9301 หรือ Email: [email protected], ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) เบอร์โทรศัพท์ 08-7557-0590 (UD), 08-1951-0255 (ทั่วไป) หรือ Email: [email protected], ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน) เบอร์โทรศัพท์ 09-8696-2245 หรือ Email: [email protected], ศูนย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) เบอร์โทรศัพท์ 09-8174-0078 หรือ Email: [email protected] และศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภาคใต้) เบอร์โทรศัพท์ 0-7520-1769 หรือ Email: [email protected]

มั่นใจว่าศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนจะเป็นทั้งพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา รวมทั้งช่องทางออกแบบที่พักอาศัย  พร้อมแนะนำอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมให้แก่ประชาชนรับมือการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า.

27 ประเทศชี้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ยืนยันความปลอดภัย

รศ.ดร.นิทัศน์ ศิริโชติรัตน์ อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และตัวแทนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ภาคี สสส. กล่าวว่า แม้ในรายงานวิจัยปี พ.ศ.2559 โดยเบิร์นสไตน์ (Bernstein SL.) สรุปว่า ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับบุหรี่ปกติจะมีส่วนประกอบที่เป็นอันตรายน้อยกว่าในขณะที่ให้นิโคตินเท่ากัน และแวเกอเนอร์ (Wagener) และคณะ ได้รายงานในวารสารควบคุมยาสูบ (Tobacco Control) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2560 ว่า บุหรี่ไฟฟ้าที่พัฒนาเป็นรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 มีปริมาณนิโคตินที่เท่ากับบุหรี่ปกติ แต่มีระดับของสารก่อมะเร็งในปอดน้อยกว่าบุหรี่ปกติ งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ารุ่นใหม่อาจจะมีศักยภาพที่จะใช้เพื่อการเลิกสูบบุหรี่ได้

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าในหลักการของการเลิกบุหรี่จำเป็นต้องลดระดับการรับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสารนิโคตินที่เข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อสมองและหัวใจ จึงต้องค่อยๆ ลดปริมาณนิโคตินลง หรือหักดิบ และเลิกรับสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในที่สุด

นอกจากนี้ รายงานจากวารสารกุมารแพทย์ (Pediatrics) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ปีที่ 141 ฉบับที่ 4 ตีพิมพ์เดือนมกราคม ปี พ.ศ.2561 ชี้ว่า ละอองจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีสารก่อมะเร็ง ซึ่งสารก่อมะเร็งไม่มีระดับที่ปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยง และการที่ผู้สูบไม่สามารถเลิกได้ภายในระยะเวลา 1 ปี ก็จะเป็นเหยื่อระยะยาวของอุตสาหกรรมยาสูบ นี่เป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมยาสูบในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นอ้างว่าเป็นอันตรายน้อยกว่า ดังนั้นจังอยากฝากคำถามสำคัญของประเทศว่าบุหรี่ไฟฟ้าควรเป็นมาตรการทางเลือกสำหรับการเลิกบุหรี่ของประเทศไทยหรือไม่

“การห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิดมีอยู่ 27 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย นโยบายที่ใช้กันส่วนใหญ่คือ การห้ามใช้ในสถานที่สาธารณะ การห้ามนำเข้า และการห้ามการทำการตลาด เหตุผลหลักคือบุหรี่ไฟฟ้ากำลังถูกตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพและยังไม่มีผลยืนยันว่าปลอดภัย” คณะทำงานจาก ศจย.กล่าวทิ้งท้าย.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"