ผวาน้ำเขื่อนใหญ่ทะลัก! ศูนย์เฉพาะกิจเฝ้า24ชม.


เพิ่มเพื่อน    

  เลขาฯ น้ำรับปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่บางแห่งมากกว่าปี 54 จริง แต่ยังคุมได้ เผยเตรียมเปิดศูนย์เฉพาะกิจร่วมเฝ้าระวังใกล้ชิด 24 ชม. "ฉัตรชัย"  สั่งเลขาฯ สทนช.ประจำศูนย์ฯ ตลอดเวลาและรายงานทุกวัน หารือมหาดไทย-ผู้ว่าฯ แจ้งประชาชนให้ชัดเจน   ส่วนที่ริมแม่น้ำโขงหลายจังหวัดระดับน้ำเพิ่มสูงต่อเนื่อง มท.สั่งเฝ้าระวัง 

    ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  วันที่ 2 สิงหาคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า  เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ได้มีการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำเชิงลึก ซึ่งต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 11 แห่ง ที่คาดการณ์ว่าอีก 1 เดือนข้างหน้าปริมาณน้ำอาจจะสูงมากกว่านี้ จึงต้องมีมาตรการพร่องน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์มี 2 แห่งคือ ที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร และที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งเราให้ความสำคัญเป็นกรณีพิเศษให้มีการระบายน้ำมากกว่านี้ 
    "ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการภายใน 5 วันให้ได้ โดยก่อนระบายน้ำให้แจ้งผู้ว่าฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก่อน 3 วัน เพื่อให้ภาคประชาชนรับรู้ และจัดทำรายงานผลกระทบท้ายน้ำว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และหากระดับน้ำอยู่ในะดับวิกฤติ นายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้สั่งการ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำโดยรวมขณะนี้อยู่ในเกณฑ์สีเหลือง หรือในระดับเตรียมการเท่านั้น" 
    นายสมเกียรติกล่าวว่า ในวันที่ 3 ส.ค. เวลา 08.00 น. จะมีการเปิดศูนย์เฉพาะกิจร่วมที่กรมชลประทาน โดยศูนย์ดังกล่าวจะดำเนินการร่วมกันตลอด 24 ชั่วโมงอย่างใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลชุดเดียวกัน แม้ปริมาณฝนในช่วงต้นเดือน ส.ค.อาจจะไม่มาก ซึ่งในภาคกลางและภาคเหนือ สถานการณ์ยังไม่น่าเป็นกังวล แต่ในภาคอีสาน ปริมาณน้ำในเขื่อนที่มากกว่าความจุร้อยเปอร์เซ็นต์ในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีจำนวนมากกว่า 50 แห่ง ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด จึงต้องวิเคราะห์ความสมดุลในการรับน้ำและระบายน้ำ นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกว่า 1,000 แห่ง ก็ได้มอบหมายให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปดูแลในเบื้องต้นก่อน หากจำเป็นต้องระบายน้ำฉุกเฉินจะต้องดำเนินการแห่งใดบ้าง ซึ่งยังมีเวลาเตรียมการ 1-2 สัปดาห์ ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดสถานการณ์ใด ณ วันนี้ 
    "ปริมาณน้ำเมื่อวันที่1 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยรวมถือว่าสูงกว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ใช่ แต่มีปริมาณสูงกว่าในเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพียงบางแห่งเท่านั้น เช่น ในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ โดยในภาคกลางได้มีการเฝ้าระวังเรื่องแผนบริหารจัดการน้ำ และเราไม่ประมาท ตามที่มีพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าพายุจะเข้ามาช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ ขณะที่สถานการณ์น้ำริมฝั่งแม่น้ำโขงมีการเร่งสูบน้ำระบายออก โดยที่ จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำลดลงแล้ว แต่ที่ จ.เลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ปริมาณน้ำมแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 70 เซนติเมตรถึง 1 เมตร เนื่องจากมวลน้ำอาจถูกปล่อยมาจากจีนและ สปป.ลาว จึงประสานกับสองประเทศว่าจะมีปริมาณน้ำปล่อยลงมาจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้ว่าฯ ได้รับทราบและแจ้งเตือนประชาชนแล้ว" นายสมเกียรติกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 54 
    ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้สั่งการเรื่องการระบายน้ำของเขื่อนทั้งหมดล่วงหน้ามาเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว โดยใช้หลักเกณฑ์ว่าระดับน้ำต้องไม่เกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำตัวบน หมายถึงให้น้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำและให้ระบายน้ำออกเป็นระยะ แต่หลายเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นผิดปกตินั้น เกิดจากพายุที่เข้ามาในระยะเวลาค่อนข้างสั้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเข้าไปในบางเขื่อนภายในวันเดียวมากถึง 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระบายออกได้เพียง 2-3 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้เขื่อนเหล่านั้นมีปริมาณกักเก็บน้ำในเกณฑ์สูง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ผมได้กำชับนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ว่าให้ทุกเขื่อนตรวจสอบเรื่องการระบายน้ำให้มากขึ้น 
    เมื่อถามถึงกรณีอาจมีพายุลูกใหม่เข้ามาในวันที่ 5 ส.ค.นี้ รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องดูกรมอุตุนิยมวิทยา ขณะนี้ สทนช.จะเป็นหน่วยงานหลัก มีเลขาธิการ สทนช.เป็นผู้ติดตามสถานการณ์ภาพรวม โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะของกรมชลประทานเป็นศูนย์ติดตาม และได้ทราบว่าสถานการณ์น้ำบางพื้นที่เริ่มดีขึ้น เพราะมีการระบายน้ำ โดยตนสั่งการให้เลขาธิการ สทนช.ประจำการที่ศูนย์ฯ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำตลอดเวลา และรายงานให้ตนทราบทุกวัน และได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องแจ้งประชาชนเรื่องการระบายน้ำให้ชัดเจนว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นจากเดิมเท่าไร และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่กว้างแค่ไหน 
    เมื่อถามว่า ให้ความมั่นใจได้หรือไม่ว่าระดับน้ำในกรุงเทพฯ จะไม่สูงเช่นเดียวกับปี 2554 พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ในส่วนกรุงเทพฯ ต้องดูปริมาณน้ำจากตอนเหนือเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ทราบว่าบริเวณที่มีปริมาณน้ำมากจะอยู่บริเวณขอบของประเทศ เช่น จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดแม่น้ำโขง หรือจังหวัดที่ติดกับชายแดนของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งปริมาณน้ำส่วนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า โดยเฉพาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง กำลังประสบปัญหาปริมาณน้ำที่ขึ้นสูง ทำให้หลายจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับบริเวณดังกล่าวมีน้ำเอ่อท่วมสูงขึ้นมา ส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่มีน้ำท่วมขังจากฝนที่ตกลงมา ก็กำลังเร่งระบายน้ำกันอยู่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเฝ้าระวัง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชน เพราะว่ายังมีฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มอบเงินจากเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุ น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ผ่านทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 8 ราย รายละ 50,000 บาท ซึ่งเงินดังกล่าวเป็นเงินบริจาคของคนไทยทั่วประเทศ ที่จะนำออกมาใช้ในทุกเหตุฉุกเฉินของประเทศไทย สำหรับกรณีที่ประสบภัยบ้านพังทั้งหลัง กองทุนจะจ่ายค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน หลังละไม่เกิน 230,000 บาท หากบ้านเสียหายมาก หลังละไม่เกิน 70,000 บาท และเสียหายเล็กน้อยหลังละไม่เกิน 15,000 บาท  โดยขณะนี้มีเงินคงเหลือในบัญชีกองทุนประมาน 800 ล้านบาท และรัฐบาลยังคงรับบริจาคเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง สามารถสมทบทุนได้ที่ กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกฯรัฐมนตรี บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย เลขที่บัญชี 0670068950
    ด้านนายปิยะ วงศ์ลือชา รองอธิบดี ปภ. กล่าวว่า ศูนย์ ปภ.ทั้ง 18 จุดทั่วประเทศ สามารถใช้งานได้ดีและมีการฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติทุกรูปแบบในทันที โดยขณะนี้ได้เร่งสำรวจความสูญเสียในเหตุการณ์ที่ จ.น่าน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ หากเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลัน เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ทันที
    ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่จังหวัดนครพนม ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นรายชั่วโมง เนื่องจากน้ำโขงหนุนสูง ประกอบกับน้ำทางเทือกเขาภูพานจังหวัดสกลนครไหลลงมาสมทบ ทำให้พื้นที่หลายอำเภอถูกมวลน้ำไหลท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรเสียหาย
    โดยโครงการชลประทานนครพนมรายงานระดับน้ำในแม่น้ำโขง ที่สถานีตรวจวัดชุมชนหนองแสง เขตเทศบาลเมืองนครพนม เวลา 13.00 น. ระดับน้ำ  12.26 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.74 เมตร ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เพราะน้ำโขงทรงตัวมากว่า 3 ชั่วโมง แต่ยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม สั่งให้เฝ้าระวังและติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด
    เช่นเดียวกับที่ จ.มุกดาหาร ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำเหนือและเขื่อนจาก สปป.ลาวระบายน้ำออกจากเขื่อนแล้วไหลลงมาสมทบในแม่น้ำโขง ล่าสุดอยู่ที่ 12.79 เมตร ระดับวิกฤติอยู่ที่ 12.50 เมตร เกินระดับวิกฤติแล้ว 29 เซนติเมตร ทำให้น้ำในแม่น้ำโขงเอ่อเข้าท่วมชั้นใต้ดิน ตลาดอินโดจีน ระดับสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ผู้ประกอบการค้าในตลาดชั้นใต้ดินได้ขนย้ายสิ่งของขึ้นมาขายที่จุดผ่อนปรนที่ทางเทศบาลเมืองมุกดาหารจัดเตรียมไว้ให้แล้ว ที่บริเวณลานอเนกประสงค์ บริเวณถนน และบริเวณซอยต่างๆ จำนวน 135 ล็อก.  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"