จับเข่าคุย ดร.ศุภชัย : ‘ผมเล่นการเมืองโลกดีกว่า’


เพิ่มเพื่อน    

    ปะหน้า ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ วันก่อน แน่นอนว่าผมต้องชวนอดีตรองนายกฯ, อดีต ผอ.องค์การการค้าโลก WTO และอดีตเลขาฯ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา UNCTAD คนนี้คุยเรื่องวุ่นๆ ในเวทีการค้าระหว่างประเทศ

                วันพุธที่ผ่านมา ดร.ศุภชัยเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ “เศรษฐศาสตร์ในชีวิตจริง” เพื่อแบ่งปันความคิดความอ่านเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่โยงใยกับเศรษฐกิจโลก

                “เชื่อไหมว่าบางบทความผมเขียนเมื่อ 30-40 ปีก่อน ทุกวันนี้อ่านแล้วยังเหมือนกำลังพูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน...” “ดร.ซุป” เกริ่นนำอย่างอารมณ์ดี

                คุณศุภชัยอายุเท่าผม เจอกันครั้งใด ผมต้องแซวว่า “เราต่างคนต่างเริ่มอาวุโสมากขึ้นทุกวัน มีอะไรจะพูดก็รีบพูดเสีย ก่อนที่จะหลงๆ ลืมๆ ถามไม่รู้เรื่อง ตอบไม่ได้ความ...”

                ดร.ศุภชัยเห็นด้วยเต็มที่ “ใช่ คุณมีอะไรก็รีบถาม ผมจะได้ตอบ ถ้าถามไม่รู้เรื่อง ตอบไม่ได้ความ เผลอๆ อาจจะคุยกันรู้เรื่องอยู่สองคน ฮา!”

                ความจริงทุกวันนี้แม้สติสัมปชัญญะของทั้งคู่จะเป็นปกติ แต่เมื่อติดตามข่าวคราวการเมืองและการค้าระหว่างประเทศก็กำลังสับสนงุนงง เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังนำสหรัฐไปในทิศทางที่กลับตาลปัตรกับที่เคยเป็นมาอย่างยิ่ง

                “สีจิ้นผิงประกาศให้จีนเป็นผู้นำการค้าเสรีของโลก ขณะที่ทรัมป์ประกาศนโยบาย America First มันตรงกันข้ามกับกติกาเก่าโดยสิ้นเชิง” ดร.ศุภชัยบอก

                ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยเราจึงต้องตั้งหลักให้มั่น สร้างภูมิคุ้มกันทุกๆ ด้านให้เข้มแข็ง และวางตัวเป็นแกนสำคัญของอาเซียนเพื่อผนึกกำลังในการต่อรองกับประเทศยักษ์ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา, จีน, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, อินเดีย เป็นต้น

                ผมบอก ดร.ศุภชัยว่าประเทศไทยจะเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ต้นปีหน้านี้ น่าจะเป็นจังหวะอันสำคัญที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพของการเป็นแกนนำของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                “ใช่เลย...อย่าลืมว่าอาเซียนมีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน พอๆ กับจำนวนชนชั้นกลางที่มีอำนาจซื้อของจีน หากรวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่น อาเซียนสามารถจะทำอะไรได้มากมาย เพราะมองจากข้างนอก ตอนนี้อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศเดียวในโลกกระมังที่ดูมีพลังพอสมควร แม้แต่สหภาพยุโรปก็ยังเหมือนจะกำลังปริแตกออกจากกัน” ดร.ศุภชัยวิเคราะห์ให้ผมฟังอย่างเป็นระบบเหมือนทุกครั้งที่จับเข่าตั้งวงสนทนาเรื่องของโลกกับไทย

                ผมชี้ว่าอาเซียนทุกวันนี้เหมือนจะถูกแบ่งแยก เพราะสมาชิกบางประเทศยืนข้างจีน ไม่เอาอเมริกา ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งยังอยู่กับสหรัฐ เพราะกลัวอิทธิพลจีน

                ดร.ศุภชัยบอกว่า เพราะเหตุนี้แหละที่ประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอดีตควรจะต้องฟื้นกลับมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสาน ผลักดันให้เกิดความสมานสามัคคีกันเพื่อจะได้สามารถสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลก โดยเฉพาะในจังหวะที่ระเบียบโลกกำลังเข้าสู่ภาวะของความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเกือบทุกๆ ด้าน

                หากทรัมป์เล่นเกมเขย่ากติกาการค้าเก่าของโลกแบบนี้ต่อไป จะเกิดปัญหาว่า WTO จะถูกทำให้หมดพลังอำนาจในฐานะเป็นกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ เพราะทรัมป์ทำท่าจะไม่สนใจว่าใครจะฟ้องอเมริกาเรื่องขึ้นภาษีสินค้าเข้าจากประเทศอื่นอย่างหนักหน่วงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

                ดร.ศุภชัยบอกว่า สงครามการค้าคงไม่ระเบิดตูมตามออกมา เพราะดูจากยอดของมูลค่าสินค้าต่างๆ ที่เป็นเป้าของการ “แลกหมัด” ระหว่างทรัมป์กับยุโรปและจีนนั้น ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่ต่ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศของการฟาดฟันกันอย่างนี้จะมีผลทางลบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างน่ากังวล

                “ทรัมป์ใช้วิธีการเกทับบลัฟแหลกเพื่อต่อรองให้อเมริกาได้ประโยชน์สูงสุด เขาเลิกวิธีการต่อรองแบบพหุภาคี หันมาเจรจากับแบบทวิภาคี เพราะเขาเชื่อว่าหากพูดกันสองต่อสองกับประเทศอื่น สหรัฐจะอยู่ในฐานะได้เปรียบ เพราะกดดันคนอื่นได้ง่ายกว่า” ดร.ศุภชัยบอก

                แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาส ในภาวะความตึงเครียดระดับโลกทางการค้าอย่างนี้ เอเชียและอาเซียน (ซึ่งรวมถึงไทยด้วย) ก็ควรจะมองหาโอกาสที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง หากไม่ต้องพึ่งพาการค้ากับอเมริกา หันมาค้าขายกันเองก็อาจทำให้เอเชียมีความแข็งแกร่งกว่าโลกตะวันตกได้ด้วยซ้ำไป

                “นี่เป็นจังหวะสำคัญที่ไทยเราจะเล่นบทเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความร่วมมือภูมิภาคได้ เช่น หากเราพยายามประสานให้สามารถลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรีเอเชียภายใต้กรอบ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ภายในปีหน้าตอนที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ก็จะทำให้เรายืนตระหง่านในเวทีระหว่างประเทศทันที” อดีตรองนายกฯ เสนอ

                RCEP คือการรวมตัวของอาเซียนบวกจีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์และออสเตรเลียในอันที่จะลดอุปสรรคการค้า ขณะที่ TPP (Trans Pacific Partnership) ที่อเมริกาสมัยโอบามาริเริ่ม และทรัมป์มายกเลิกนั้น ดร.ศุภชัยเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้เรื่อง เพราะอเมริกาต้องการจะแบ่งแยกอาเซียน ให้เวียดนามและสิงคโปร์เป็นสมาชิก แต่ไทยและอาเซียนอื่นถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

                “ผมเห็นว่าถ้าไทยจะเข้า TPP ก็ต้องมีเงื่อนไขว่าจะต้องเอาอาเซียนทั้ง 10 ประเทศเข้าไปด้วย จึงจะมีประโยชน์ ตอนนี้เราควรเร่งให้ RCEP เกิดให้เร็วมากกว่า เพราะเราและอาเซียนจะได้ประโยชน์เต็มๆ” ดร.ศุภชัยพูด

                เป็นบทสนทนาที่ประเทืองปัญญาผมมาก ทำให้คิดเห็นภาพบทบาทไทยในเวทีระหว่างประเทศจากนี้ไปอย่างชัดเจนขึ้นหลายขุม

                จากนี้ไปอยู่ที่ผู้นำไทยจะสามารถสร้างเสริมศักยภาพของประเทศเราให้โดดเด่นขึ้นในเวทีอาเซียนและภูมิภาคได้มากน้อยเพียงใด

                ก่อนจบ ผมถาม ดร.ศุภชัยว่า “คุณศุภชัยจะไม่กลับมาการเมืองหรือ จะได้ช่วยผลักดันบทบาทประเทศไทยให้คึกคักอย่างเต็มพิกัด?”

                แกตอบผมทันทีว่า “คุณตั้งคำถามนี้กับผมมากว่า 10 ปีแล้ว...ผมคงไม่กลับมาวงการเมือง แต่พร้อมจะช่วยอยู่แล้ว...”

                ดร.ศุภชัยทิ้งท้ายจนผมตั้งตัวไม่ทัน

                “ผมเล่นการเมืองโลกดีกว่า”!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"