คลื่นลมในทะเลจีนใต้:ไทยอยู่ตรงไหน?


เพิ่มเพื่อน    

      ภาพดาวเทียมเปรียบเทียบจุดเดียวกันในหมู่เกาะกลางทะเลจีนใต้ระหว่างปี 2012 กับปีนี้ ห่างกันหกปีจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

      ความแตกต่างนั้นคือผลงานการสร้างอะไรใหม่ๆ บน "เกาะเทียม" และแนวปะการังกลางทะเลของรัฐบาลจีน ที่อ้างว่าทั้งหมดนี้เป็นการต่อเติมสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการปกป้องสิทธิ์ของความเป็นเจ้าของของเขาเอง

      สหรัฐฯ และอีกบางประเทศเรียกมันว่า militarization หรือการแปรสภาพจากเดิมเป็นกิจกรรมด้านทหาร เพราะบางจุดมีสนามบินที่เครื่องบินร่อนลงได้

      อีกทั้งยังมีร่องรอยของการติดตั้งอาวุธบางประเภทที่มิใช่กิจกรรมพลเรือน

      ไม่นับประภาคารเพื่อช่วยการเดินเรือสำหรับจีนเอง

      บางคนกลัวว่าจีนกำลังสร้างฐานทัพทหารขึ้นในทะเลจีนใต้เพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ทั้งๆ ที่หลายชาติบอกว่านั่นเป็นการละเมิดสิทธิ์ของชาติอื่น

      ปักกิ่งบอกว่านี่ไม่ใช่เรื่องทางทหารแต่ประการใด หากแต่เป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านความพร้อมในการกู้ภัยหากเกิดเหตุร้ายทางธรรมชาติ

      จีนอ้างหลักฐานด้านประวัติศาสตร์อันยาวนานของตนว่าหมู่เกาะทั้งหลายทั้งปวงในทะเลจีนใต้เป็นของตน แต่หลายชาติในย่านนี้ไม่ยอมรับคำกล่าวอ้างเช่นนั้น

      ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย หรือไต้หวัน

      ฟิลิปปินส์ในยุครัฐบาลก่อนลากจีนขึ้นศาลโลกเรื่องนี้ ศาลตัดสินว่าจีนไม่อาจอ้างสิทธิ์เช่นนั้นได้ ถือว่าฟิลิปปินส์ชนะคดีนี้ แต่จีนประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกเรื่องนี้

      พอโรดรีโก ดูเตอร์เตขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ฟิลิปปินส์ก็ปรับจุดยืน หันมาพูดคุยกับจีนเพราะเคืองแค้นสหรัฐฯ ที่ต่อว่าต่อขานนโยบายวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยค้าและใช้ยาเสพติด

      ประเด็นความขัดแย้งเรื่องนี้ระหว่างสองประเทศจึงแผ่วลง เพราะประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประสานมือกับดูเตอร์เต ลงนามในข้อตกลงจะพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลเขตนั้นร่วมกัน

      แต่เวียดนามมาอีกแนวหนึ่ง หันมาคืนดีกับสหรัฐฯ และเผชิญหน้ากับจีนในกรณีนี้อย่างเปิดเผย

      กลายเป็นว่าอาเซียนเองก็มีอาการปริแตกกันในเรื่องนี้ เพราะส่วนหนึ่งเอียงข้างจีน อีกส่วนอยู่กับอเมริกา ทำให้การหาทางออกกรณีทะเลจีนใต้กลายเป็นเรื่องสลับซับซ้อนกว่าเดิม

      สหรัฐฯ ยืนยันว่าตนมีสิทธิ์ที่จะเข้ามาป้วนเปี้ยนในทะเลจีนใต้เพราะเป็นน่านน้ำสากล เขาต้องปกป้อง "เสรีภาพแห่งการเดินเรือ" หรือ freedom of navigation เพราะช่องแคบมะละกาเป็นช่องทางขนส่งสินค้าทางทะเลเท่ากับ 40% ของปริมาณสินค้าขนส่งทางทะเลของโลกทั้งหมด

      จีนโต้ว่าอเมริกาไม่ควรจะมาแทรกแซงปัญหาของภูมิภาคนี้ หากจีนมีความระหองระแหงกับเพื่อนบ้านในกรณีนี้ก็เป็นเรื่องที่แก้ไขกันเอง ไม่สมควรที่สหรัฐฯ จะมาทำตัวเป็น "บ่างช่างยุ" หรือมาสร้างความร้าวฉานระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ

      สมาชิกอาเซียนหลายประเทศต้องการให้อเมริกายังคงอิทธิพลในย่านนี้เพื่อคานอำนาจของจีน ขณะที่จีนก็พยายามหาทางที่จะสกัดบทบาทของอเมริกา

      ดังนั้นเมื่อมีการแถลงข่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกับอาเซียนที่สิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน ว่ามีการตกลงปรับแก้เอกสารทั้งหมดว่าด้วยการสร้าง "แนวปฏิบัติ" (Code of Conduct หรือ  COC) ให้เหลือ "ร่างเดียว" แทนที่จะมี 11 ร่าง (จีนบวกอาเซียน 10 ประเทศ) เพื่อเป็นกรอบใหม่สำหรับการเจรจา

      ภาษาทางการเรียกแถลงการณ์นี้ว่าเป็น "ความคืบหน้าที่สำคัญ" เพราะเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2002  หรือ 16 ปีตอนที่มี "คำประกาศ" กฎกติกามารยาทเรื่องนี้ (Declaration of the Conduct of Parties in  the South China Sea หรือ DOC) ซึ่งไม่มีผลบังคับใช้ เป็นเพียงข้อตกลงกว้างๆ ซึ่งก็ไร้ผล

      แต่พออ่านรายละเอียดของแถลงการณ์ล่าสุดก็จะเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นพ้องที่จะให้มี "ร่างเพื่อการเจรจา" เพียงร่างเดียว ไม่ได้แปลว่าสามารถตกลงรายละเอียดได้ว่าจีนกับอาเซียนจะแก้ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ได้อย่างถาวรแต่อย่างใด

      สรุปว่าที่ตกลงกันได้ก็คือจะต้องเจรจากันต่อไป...โดยไม่มีกรอบเวลา ไม่มีเส้นตาย...เพราะต่างฝ่ายต่างรู้ดีว่าความละเอียดอ่อนของข้อพิพาทยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ตกลงกันไม่ได้

      ในแถลงการณ์เดียวกันนั้น จีนเสนอให้มีการ "ซ้อมรบ" กับอาเซียน อีกทั้งยังให้มีการพูดจากันเพื่อจะได้ "ร่วมกันพัฒนา" แหล่งพลังงานในทะเลจีนใต้

      ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ เงื่อนไขของจีนที่ว่าจะไม่มี "ประเทศที่สาม" มาเกี่ยวข้องกับการร่วมทำกิจกรรมเหล่านี้แต่อย่างใด

      แม้จะไม่ได้เอ่ยชื่อ "ประเทศที่สาม" แต่ก็ชัดเจนว่าปักกิ่งหมายถึงใคร

      หนึ่งวันหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนหวังอี้ปิดประตูคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (ซึ่งแน่นอนรวมถึงรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัยของไทยด้วย) ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศมะกันไมก์ ปอมปิโอก็นัดแนะกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประชุมกัน พร้อมแถลงการณ์ร่วมย้ำความสำคัญที่วอชิงตันมีต่ออาเซียนอย่างเหลือล้น

      ไทยจะเป็นประธานอาเซียนหมุนเวียนปีหน้า เป็นจังหวะเหมาะเจาะที่เราจะแสดงบทบาททั้งในฐานะ "หัวแถว" และ "ผู้ประสาน" เพราะไม่ได้เป็น "คู่กรณี" ในทะเลจีนใต้เพื่อผลักดันให้เกิด "ดุลยภาพแห่งอำนาจ" ในภูมิภาคนี้

      ต้องพิสูจน์ว่าไทยสามารถฟื้นคืนจาก The Lost Decade หรือ "ทศวรรษที่สูญหายไป" จากเวทีอาเซียนอย่างเป็นจริงเป็นจังได้แล้ว!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"