ลุ้น3เขื่อนใหญ่พร่องนํ้า!20จว.เสี่ยงจม


เพิ่มเพื่อน    

    "ศูนย์ ฉก.รัฐบาล" ออกประกาศฉบับแรก เตือน 5 อำเภอ จ.เพชรบุรี รับมือน้ำท่วม ก่อนช่วงค่ำพลิก เชื่อเขื่อนแก่งกระจานรับมือได้ "บิ๊กตู่" ห่วงสถานการณ์ สั่งทุกหน่วยพร้อมรับมือ กำชับ ทร.ส่งกำลังพลและเรือเร่งผลักดันน้ำ "สทนช." นัดทุกหน่วยประชุมแผนระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ 6 ส.ค.นี้ "ปภ."  แจ้ง 20 จว.เสี่ยงเฝ้าระวังเกิดอุทกภัยฉับพลัน "กทม." มั่นใจเอาอยู่ "โพล" เผย ปชช.เสนอรัฐเตรียมแผนรองรับภัยพิบัติทุกรูปแบบ
    เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ ออกประกาศฉบับที่ 1/2561 เรื่องสถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี ระบุว่า ด้วยมีฝนตกหนักต่อเนื่องในลุ่มน้ำเพชรบุรีบริเวณเหนือเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ช่วงระหว่างวันที่ 19-20 ก.ค.2561 ส่งผลให้มีน้ำไหลหลากเข้าเขื่อนอย่างรวดเร็ว มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับยังมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณน้ำล้นทางระบายน้ำล้นของเขื่อนลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีในวันนี้ (5 ส.ค.) เวลาประมาณ 24.00 น. โดยจะเริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีตั้งแต่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชรบุรี ประกอบด้วย 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแก่งกระจาน อำเภอบ้านลาด อำเภอท่ายาง อำเภอเมืองฯ และอำเภอบ้านแหลม 
    "คาดว่าจะถึงตัวเมืองเพชรบุรีตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. เป็นต้นไป โดยระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่งประมาณ 10-15 ซม. ดังนั้นขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมชลประทาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมเผชิญเหตุ และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อยู่บริเวณริมแม่น้ำเพชรบุรี เตรียมรับสถานการณ์และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเพชรบุรีไหลเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป" ท้ายประกาศศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติระบุ
    ต่อมาในเวลาประมาณ 20.00 น. พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ส่งข่าวเข้าในห้องไลน์สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้รับรายงานล่าสุดจากอธิบดีกรมชลประทาน ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในระดับจังหวัดดูแลบริหารจัดการน้ำเขื่อนแก่งกระจาน พบว่าในช่วงนี้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเฉลี่ย 21 ล้าน ลบ.ม/วัน หรือ 245 ลบ.ม/วินาที ส่วนอัตราการระบายน้ำสูงสุดของอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (สปิลเวย์) 1,380 ลบ.ม/วินาที มากกว่า 5 เท่าของปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน ดังนั้นไม่ล้นสันเขื่อนหรือ overtop แน่นอน รวมทั้งตัวเขื่อนมีความมั่นคงแข็งแรง มีการติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน และการตรวจสอบบำรุงรักษาตามข้อกำหนดอย่างต่อเนื่อง
    ด้านสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ที่เขื่อนแก่งกระจาน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเมื่อวันที่ 5 ส.ค.61 เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 701.36 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ปริมาณน้ำไหลเข้า 21.04 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.61 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านทาง ระบายน้ำล้นลงแม่น้ำเพชรบุรี ในวันนี้ (5 ส.ค.61) ยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำจะสูงถึงสันทางระบายน้ำล้นคืนวันนี้
    ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติยังระบุว่า ในส่วนที่เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 648 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 101% ปริมาณน้ำไหลเข้า 6.39 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 3.80 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างลดลง และจะเพิ่มการระบายน้ำเป็น 4.15 ล้าน ลบ.ม.ต่อวันสภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ คาดว่าจะไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่มีน้ำล้นตลิ่ง การบริหารจัดการน้ำ ควบคุมการระบายน้ำออกจากเขื่อน 3.50 ล้าน ลบ.ม. และเพิ่มการระบายน้ำโดยวิธีกาลักน้ำ และเครื่องสูบน้ำอีก 0.3 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งและให้ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสกลนคร บึงกาฬ นครพนม ซึ่งลําน้ำอูนและลําน้ำสงครามไหลผ่าน
    ขณะที่เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,403 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84 % ปริมาณน้ำไหลเข้า 89.29 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 36.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำยังคงปกติ ทั้งนี้ ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณรีสอร์ตที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย โดยการบริหารจัดการน้ำ ได้มีการทยอยเพิ่มการระบายน้ำให้เป็น 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ภายในวันที่ 6 ส.ค. การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลําน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
บิ๊กตู่ห่วง 'แก่งกระจาน'
    สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำ/ลำน้ำ โดยแม่น้ำสายสำคัญ ที่ภาคเหนือ ประกอบด้วย ลําน้ำน่าน อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เฝ้าระวัง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลําน้ำสายใหญ่ เริ่มมีระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่งในบางแห่ง ในลําน้ำยัง บริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด ลําเซบาย บริเวณจังหวัดยโสธร และลําน้ำสงคราม บริเวณจังหวัดนครพนม, ภาคกลางและภาคใต้ ปริมาณน้ำในลําน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนแม่น้ำระหว่างประเทศคือ แม่น้ำโขง ปริมาณน้ำในแม่น้ำที่ไหลจากประเทศจีนยังคงที่ แต่ฝนที่ตกสะสมในประเทศลาว ทำให้ยังมีมวลน้ำไหลลงมายังแม่น้ำโขง ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณจังหวัดนครพนม สูง 34 ซม. มุกดาหาร 36 ซม. และอุบลราชธานี 45 ซม. ทั้งนี้ ระดับน้ำในลําน้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เฝ้าระวังในบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ
    พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หลังจากที่ได้รับทราบรายงานว่าปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น เพราะมีฝนตกอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน และมีโอกาสที่น้ำจะล้นสปิลเวย์หรือทางน้ำล้น และไหลเข้าสู่เขื่อนเพชรบุรีและตัวเมืองเพชรบุรี ตามลำดับ
    "ตลอดเส้นทางของน้ำจะทำให้น้ำไหลลงข้างทาง ซึ่งอาจจะกระทบบ้านเรือนริมทางน้ำ รีสอร์ต และพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แก่งกระจาน และ อ.ท่ายาง โดยภาพรวมคาดว่าระดับน้ำในปีนี้จะสูงมากกว่าปีก่อนโดยอยู่ที่ประมาณ 80 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร และจะส่งผลให้น้ำท่วมขังราว 1-2 เดือน ซึ่งนานกว่าปีก่อนที่ขังนาน 1 เดือน" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม โดยขนย้ายทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง และวางแผนการดำเนินชีวิตในช่วงที่น้ำท่วม ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมดูแลทั้งเรื่องเส้นทางคมนาคม การสาธารณสุข โรงพยาบาล ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจุดอพยพประชาชนและการจัดหาอาหารและสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม
เร่งระบายน้ำ 3 เขื่อนใหญ่
    "ระหว่างนี้กรมชลประทานได้เร่งพร่องน้ำออกจากเขื่อน ส่วนจุดที่มีคันกั้นน้ำก็จะลดระดับเพื่อเปิดทางให้น้ำไหลออก ช่วยบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเรือน รีสอร์ต และพื้นที่การเกษตร นอกจากนี้ กองทัพเรือยังได้ส่งเรือผลักดันน้ำและกำลังพลลงไปช่วยดำเนินการในพื้นที่โดยเร่งด่วน" โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ จะประชุมสรุปข้อเสนอแผนระบายน้ำและแผนรองรับผลกระทบที่ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลับไปปรับปรุงแผนการระบายน้ำใน 3 เขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีปัญหาน้ำเกินระดับการบริหารจัดการร้อยละ 90-100 จนปริมาณน้ำทางน้ำล้น (Spillway) คือ เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร, เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี โดยให้เร่งระบายน้ำหรือพร่องน้ำออกจากเขื่อนภายใน 10 วัน ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ และมีพื้นที่อาจกระทบต่อประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำและริมน้ำบางพื้นที่ 
    นายสมเกียรติกล่าวถึงแผนระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจานว่า จะยังใช้ 2 ทางคือ ระบายลงเขื่อนเพชร และระบายลงแม่น้ำเพชรบุรี มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณ อำเภอท่ายาง แก่งกระจาน บ้านลาด อำเภอเมืองฯ และอำเภอบ้านแหลม
    "คาดการณ์ปริมาณน้ำจะไหลเข้าพื้นที่ตัวเมืองเพชรบุรีจะยืดเวลาออกไปเช่นกัน หลังระดมระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานออกไปได้มากขึ้น ในเบื้องต้นยังคงเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเพชร เพื่อเตรียมรับน้ำใหม่ที่จะล้นจากเขื่อนแก่งกระจาน โดยประเมินว่าในปีนี้ตั้งแต่เขื่อนแก่งกระจานถึงเขื่อนเพชร จะเกิดน้ำท่วมประมาณ 1-2 เดือน เพราะปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์เดียวกับปี 2560" เลขาฯ สทนช.กล่าว 
    ที่ จ.เพชรบุรี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รอง ผวจ.เพชรบุรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่คลองกะลาตาย บ้านคลองยอ หมู่ 2 บ้านม่วงงาม ต.ถ้ำรงค์ อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี เพื่อสำรวจและนำแบ็กโฮขุดลอกเปิดทางน้ำที่ล้นมาจากแม่น้ำเพชรออกทางประตูระบายน้ำคลองกะลาตาย โดยน้ำจะไหลผ่านตำบลถ้ำรงค์ ตำบลท่าเสน ตำบลไร่มะขาม ตำบลดอนยาง ตำบลนาพันสาม ออกสู่คลอง D 18 และลงสู่ทะเล
    นายณัฐวุฒิกล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนได้เสนอคลองห้วยกะลาตาย ที่ปัจจุบันมีวัชพืชขึ้นรกทึบ และเป็นคลองดิน แต่คลองดังกล่าวจะสามารถช่วยระบายน้ำได้ จึงเข้ามาช่วยสนับสนุนทางจังหวัดในเรื่องของรถแบ็กโฮเพื่อใช้ในการขุดลอกคลองห้วยกะลาตาย เพื่อให้น้ำได้ระบายได้อีกหนึ่งช่องทาง ซึ่งจะระบายน้ำได้ในอัตรา 10 ลบ.ม/วินาที ซึ่งจะช่วยในตัวเมืองได้เยอะ โดยน้ำจะออกผ่านท่าเสนไปถึงคลอง D18 อีกทั้งยังมี อีก 2 พื้นที่ที่สามารถดำเนินการในลักษณะเดียวกันได้คือ คลอง D25 ซึ่งมีพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างช่องสะแก  โพธิ์พระ บางจาน ปากทะเล และบางแก้ว ซึ่งกำลังเร่งดำเนินการขุดลอกวัชพืชและผักตบชวา เพื่อเปิดช่องทางให้น้ำไหลออกสู่ทางทะเลได้เร็วขึ้น
    ด้านนายมานะ เพิ่มพูล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวถึงสาเหตุเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี น้ำล้นเขื่อนอย่างรวดเร็วว่า สืบเนื่องมาจากการบุกรุกป่าตามแนวชายแดน มีการเปิดพื้นที่ป่าสมบูรณ์ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำเพชรบุรี บริเวณใจแผ่นดิน ห้วยสามแพ่ง บางกลอยบน และห้วยเต่าดำ พบการเปิดพื้นที่ป่า อย่างต่อเนื่องทำให้ฝนที่ตกมา ถึงแม้จะไม่มาก แต่ป่าที่ถูกเปิดไม่สามารถเก็บซับน้ำไว้ได้ เมื่อฝนตกปริมาณน้ำฝนที่ตกก็จะไหลลงตามแม่น้ำเพชรเข้าเขื่อนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ปริมาณน้ำเข้าเติมเต็มอย่างเร็วกว่าปกติ
เตือน 20 จว.เสี่ยงรับมือ
    ขณะที่นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) กล่าวว่า กอปภ.ก.ได้สั่งให้จังหวัดเสี่ยงภัยจำนวน 20 จังหวัด แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี จังหวัดริมแม่น้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อุบลราชธานี รวมทั้งพื้นที่ฝั่งอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมรับมือภาวะอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน และคลื่นลมแรงในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ ตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง 
    ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัด กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคกลางอยู่ในระดับปกติ ขณะที่ปริมาณน้ำภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีค่อนข้างมาก สำหรับข้อกังวลว่าปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีจำนวนมาก และจะส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคอีสานจะกระทบต่อพื้นที่ กทม.นั้น กทม.ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบในช่วงนี้ เนื่องจากเขื่อนแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี หากน้ำเอ่อล้นก็จะกระทบทางภาคตะวันตก ปริมาณน้ำจะไหลลงออกสู่ทางภาคใต้และฝั่งตะวันตก ส่วนเขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ที่มีปริมาณน้ำเริ่มวิกฤติ น้ำจะไหลออกสู่แม่น้ำโขง จึงช่วยเสริมความมั่นใจให้ กทม.ในระดับหนึ่ง ว่าน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ กทม. 
    กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 เรื่อง "คลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ และฝนตกหนักบริเวณประเทศไทย" ระบุว่า ในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค.61 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มไว้ด้วย
    วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ประชาชนคิดอย่างไร? กรณีภัยพิบัติจากน้ำท่วม" พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 47.99 ระบุเป็นภัยธรรมชาติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ ควบคุมได้ยาก รองลงมาร้อยละ 34.26 ระบุภาครัฐควรหาแนวทางป้องกัน วิธีการรับมือ มีระบบเตือนภัยที่ดี     
    ต่อข้อถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าสาเหตุของภัยพิบัติจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม พบร้อยละ 64.01 มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ตัดไม้ทำลายป่า และร้อยละ 40.41 ระบุสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อน ส่วนคำถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าควรมีวิธีป้องกันภัยพิบัติจากน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม อย่างไร พบร้อยละ 54.82 เสนอปลูกป่า ปลูกพืชคลุมดิน ไม่ทำลายป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และร้อยละ 34.84 ระบุบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ กักเก็บ และผันน้ำให้มีปริมาณเหมาะสม     
    ถามถึงข้อเสนอแนะ/สิ่งที่อยากบอกรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ร้อยละ 43.14 ระบุให้สำรวจความเสียหาย จัดส่งอุปกรณ์ สิ่งของ เครื่องใช้ สิ่งที่ต้องการอย่างเร่งด่วน รองลงมาร้อยละ 36.60 ระบุกำหนดให้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นวาระสำคัญ เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"