เปิดสถิติพนันรับบอลโลก ตะลึง! 6ขวบเสี่ยงโชคแล้ว


เพิ่มเพื่อน    

            ในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ รายการกีฬาเรตติ้งอันดับหนึ่งอย่างแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียจะเริ่มต้นขึ้น หลายคนเฝ้าติดตามชมความบันเทิงและความสนุกสนานของเกมลูกหนัง 4 ปีมีครั้งเดียว แต่ก็ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งอาศัยจังหวะดังกล่าวเล่นการพนันต่างๆ อันนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมายให้แก่ครอบครัวและสังคมอย่างไม่รู้จบ รวมทั้งยังเป็นบ่อเกิดของนักพนันหน้าใหม่ก่อนขยายกลายเป็นผีพนันต่อไป

            ผลกระทบดังกล่าวได้รับการเปิดเผยโดยการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันปี 2561 "ชีวิตเสี่ยงพนัน...จะป้องกันเยาวชนอย่างไร?" จัดโดยศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ 

            นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวว่า ปัญหาการพนันมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะ หนี้สิน ความยากจน และอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการพนันมากขึ้น ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงกลุ่มอาชีพแรงงานด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือในเดือนมิถุนายนนี้จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ยิ่งทำให้มีการพนันฟุตบอลออนไลน์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย สาเหตุที่ต้องปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษจากการพนัน เพราะมีผลวิจัยระบุชัดว่า เยาวชนที่เริ่มเล่นพนันจากการพนันฟุตบอลมีแนวโน้มจะเล่นพนันต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 82.6 สูงกว่ากลุ่มที่เริ่มต้นจากการเล่นพนันประเภทอื่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเยาวชนชายที่เริ่มเล่นพนันจากการพนันฟุตบอล พบว่าร้อยละ 87.3 จะเล่นพนันต่อเนื่อง

            กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันของนักเรียนมัธยมต้นปี 2561 พบว่าเด็กเริ่มเล่นพนันครั้งแรกตอนอายุน้อยที่สุดที่ 6 ปี ส่วนผลสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบผู้เริ่มต้นเล่นพนันครั้งแรกอายุต่ำสุดที่ 7 ปี เหตุผลที่เริ่มเล่นพนันเพราะอยากลอง เล่นสนุกชั่วครั้งชั่วคราว พนันด้วยเงินเล็กน้อย แต่จะเพิ่มระดับขึ้น ทั้งวงเงินและความถี่ในการเล่น ยิ่งเล่นนานยิ่งเล่นหนัก อาการที่เห็นชัดคือ ถ้าไม่ได้เล่นพนันจะรู้สึกกระสับกระส่ายเหมือนติดเหล้า ติดบุหรี่ ยิ่งผู้สูงอายุติดพนันจะมีปัญหาตามมามากกว่าคนวัยอื่น

            จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. หน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคสังคม รวม 11 หน่วยงาน ได้ลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก 2018 เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งการจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ นำไปสู่การออกแบบนโยบายและมาตรการกำกับดูแลธุรกิจการพนัน การป้องกันเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุให้อยู่ห่างไกลจากการพนัน และผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหา กำหนดให้การปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนันเป็นวาระแห่งชาติ และมีกลไกของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาการพนันอย่างจริงจัง

            รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทยเป็นประจำทุก 2 ปี โดยปี 2560 สำรวจจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 กันยายน-12 ตุลาคม 2560 รวม 7,008 ตัวอย่าง พบว่า คนไทยร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคนเคยเล่นพนัน เกินครึ่งเริ่มเล่นพนันครั้งแรกตอนอายุไม่เกิน 20 ปี กลุ่มเริ่มเล่นพนันครั้งแรกอายุต่ำสุดที่ 7 ปี เริ่มจากเล่นพนัน 4 ประเภท คือ ไพ่ หวยใต้ดิน สลากกินแบ่งรัฐบาล และบิงโก โดยผู้เล่นพนันร้อยละ 20 มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพขณะเล่นพนัน คือร้อยละ 12 สูบบุหรี่ ร้อยละ 8.2 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 7 รับประทานของหวานหรือขนมขบเคี้ยว

            “ภาพรวม ปี 2560 คนไทยเล่นพนันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 54.6 หรือเกือบ 29 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2558 ในจำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่หรือเริ่มเล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาถึงกว่า 6 แสนคน ที่น่ากังวลใจ พบว่ากลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุมีการเล่นพนันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2558 สำหรับการพนันยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน ไพ่ พนันทายผลฟุตบอล และพนันพื้นบ้าน

            ที่น่าสังเกตคือ การเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบก้าวกระโดดทำให้วงเงินพนันสลากเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากกว่า 7 หมื่นล้านบาทในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาทในปี 2560 และมีผู้เล่นพนันสลากเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.2 คือจาก 19 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 21.4 ล้านคนในปี 2560 ส่วนหวยใต้ดิน วงเงินพนันโตขึ้นร้อยละ 3.2 อยู่ที่ 135,142 ล้านบาท จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 มาอยู่ที่ 17.3 ล้านคน คือทั้งสลาก ทั้งหวยใต้ดิน มีคนเล่นเพิ่ม มีวงเงินพนันเพิ่ม และผู้ที่เล่นพนันทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินมีมากถึง 12.6 ล้านคน” รศ.ดร.นวลน้อยกล่าว

            ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวต่อว่า ผู้เล่นพนันได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ร้อยละ 20.4 หรือ 5.9 ล้านคน เช่น รู้สึกเครียด ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว เสียเวลาทำงานหรือการเรียน เป็นหนี้ สุขภาพเสื่อมโทรม ฯลฯ และประมาณกว่า 9 แสนคนมีหนี้สินที่เกิดจากการพนันรวมกันประมาณ 12,258 ล้านบาทคน หรือเฉลี่ยที่คนละ 13,188 บาท เมื่อให้ผู้เล่นพนันประเมินว่าตนเองติดพนันหรือไม่ พบว่าร้อยละ 16.1 หรือประมาณ 4.66 ล้านคน ประเมินว่าตนเองติดการพนัน เพศชายมีสัดส่วนคนติดพนันมากกว่าเพศหญิง แม้คนติดพนันส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30-49 ปี แต่น่ากังวลที่มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี ประมาณกว่า 4 แสนคน และผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปอีกเกือบ 7 แสนคน มองว่าตนเองติดพนัน

            จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการพนันกระทบต่อสุขภาวะทุกด้าน เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลจะนำไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน.

 

เชียงใหม่...นครแห่งการอ่าน

            แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สมาคมครูผู้ดูแลเด็กศรีนครพิงค์ เครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ และเครือข่ายเชียงใหม่อ่าน จัดอบรมวิชาการปฏิบัติการสร้างเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยหนังสือและกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ในโครงการ “สร้างสรรค์หนังสือและสื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” ที่โรงแรมเชียงใหม่ออร์คิด อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้

            นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยตามกระแสการพัฒนา จนทำให้คนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่กับการบริโภคตามกระแส ติดสื่อและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สำคัญคือเด็กเล็กส่วนใหญ่ฝากไว้กับปู่ย่าตายายเลี้ยงดู ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าเด็กปฐมวัย 0-6 ปี ยังเล็กเกินกว่าจะอ่านหนังสือ จึงหันมาให้บุตรหลานดูโทรทัศน์ ใช้มือถือ และแท็บเล็ตแทน ที่น่าตกใจยังพบว่า ครูและผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ยังขาดทักษะความรู้ในการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม หากครูได้รับความรู้และทักษะที่ถูกต้องและเหมาะ โดยเฉพาะการใช้สื่อและหนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กแล้ว ก็จะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เด็กปฐมวัย มีส่วนกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหันมาสนใจและเห็นความสำคัญของการอ่านในเด็กเล็ก เพราะเด็กเล็กสำหรับวัยนี้ ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้ฟัง เพื่อสร้างความสุข กระตุ้นการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพของสมองซึ่งเติบโตกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์

            ด้วยเหตุนี้จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านร่วมกันอย่างต่อนื่อง ที่ผ่านมาสามารถกระตุ้นการส่งเสริมการอ่านในพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายในระดับหนึ่ง จึงเห็นว่าหากต้องการปลูกฝังการส่งเสริมรักการอ่านอย่างยั่งยืน ควรเริ่มต้นตั้งแต่กลุ่มเด็กปฐมวัย 0-6 ปี และกลุ่มวัยเรียน โดยครอบครัวและท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็ก โดยมีนโยบายและแนวปฏิบัติส่งเสริมการอ่านในทุกระดับ ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญของการขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่าน ให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นนครแห่งการอ่านต่อไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"