ลุ้นก๊กสาม...ปชป. ไม่ปฏิรูป-เลือกตั้งต่ำร้อย


เพิ่มเพื่อน    

        หลังจากพรรคประชาธิปปัตย์ (ปชป.) ได้แสดงพลังเช็กรายชื่ออดีต ส.ส.ท่ามกลางกระแสถูกดูด ผ่านงานกิจกรรมวันคล้ายวันเกิดครบ 54 ปี ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค ปชป.เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

        ล่าสุด หัวหน้าพรรค ปชป.ก็ออกมาวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในช่วงเลือกตั้งในปี 2562 ว่าจะเข้าสู่ “ยุคสามก๊ก” ให้ประชาชนตัดสินใจเลือกใครเข้ามาบริหารประเทศ   

        ประกอบ 1.พรรคเพื่อไทย ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คุมบังเหียน 2.พรรคที่มีแนวทางสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. อาทิ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หรือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และ 3.ปชป.ที่มีจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณ

        ในส่วนของ 2 ก๊กแรก สังคมเริ่มเห็นความเคลื่อนไหว และการต่อสู้ห้ำหั่นทุกรูปแบบทั้งบนดินใต้ดิน รวมทั้งดูดและวิธีสกัดเลือดไหล พร้อมแบ่งหน้ากันเล่น สร้างบทละคร เดินหน้าสร้างนโยบายหวังโกยคะแนนเสียงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 

        ผิดกับท่าทีของ “ก๊กที่ 3” บัดนี้ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรชัดเจน นอกจาก “คำพูด” โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวที่จะปฏิรูปตัวเองให้สอดคล้องกับบริบทการปฏิรูปการเมืองใหม่ตามรัฐธรรมนูญปี 60 และจัดระเบียบ โครงสร้าง วัฒนธรรมองค์กร และอุดมการณ์ให้ตอบโจทย์ประชาธิปไตย และความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ หลังห่างหายจากชัยชนะการเลือกตั้งมา 26 ปี นับแต่ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2535      หาก ปชป.กล้าปฏิรูปเปลี่ยนแปลงตัวเอง สถานะก็จะเป็นทางเลือกหลักให้ประชาชน เพราะมีความได้เปรียบ เนื่องจากเป็นสถาบันการเมืองที่เก่าแก่และเข้มแข็งถึง 72 ปี มีฐานสมาชิกพรรค สาขาพรรคมากที่สุดในประเทศ และเสียงของคนชั้นกลาง  และคนเมือง เอื้อระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยระบบไพรมารีโหวต เหนือกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ 

        ในขณะเดียวกันก็ต้องกล้าเซตซีโรหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค เพราะต้องยอมรับว่าภาพลักษณ์ของ “นายอภิสิทธิ์” บอบช้ำเกินกว่าที่จะเป็นผู้นำในการเลือกตั้งครั้งหน้า หลังผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างรุนแรงและยาวนานตลอดกว่า 10 ปี นับตั้งก้าวขึ้นรับตำแหน่งเป็นเบอร์ 1 พรรคตั้งแต่ปี 2548    

        ยังต้องเลิกพฤติกรรมอภิสิทธิ์ชน แก่บรรดาลูกท่านหลานเธอ และวงศาคณาญาติต้องมาก่อน และให้ไปใช้ทางเข้าประตูเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.คนอื่นๆ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้บริหารพรรคและผู้แทนโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำจากผู้มีอำนาจในพรรคและกลุ่มทุน   

        ที่สำคัญยังต้องกล้าแสดงอุดมการณ์ที่ชัดเจน ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย เลิกอิงแอบทหาร ด้วยการกล้าประกาศจะไม่จับมือกับทหารทั้งทางตรงและทางอ้อม หลังมีการประเมินว่าอาจร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนทหารสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งอยู่ในเวลานี้ อีกทั้งยังต้องเลิกเล่นการเมืองแบบรอรับส้มหล่นเหมือนเช่นในอดีตด้วย  

        ประกอบกับเมื่อบ้านเมือง สถานการณ์การเมืองเกิดความขัดแย้ง ต้องไม่อนุญาตให้ ส.ส.นำคนลงไปต่อสู้บนท้องถนน และพรรคห้ามบอยคอตการเลือกตั้ง จนบ้านเมืองเดินไปถึงทางตันเพื่อลบภาพระเบิดพลีชีพของนายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.ปชป. ที่ออกมาเปิดเผยทฤษฎีสมคบคิดระหว่าง ปชป. คสช. และสถาบันตุลาการ โค่นล้มรัฐบาลของนายทักษิณ ด้วยวิถีทางนอกระบอบประชาธิปไตย จน ปชป.ต้องสั่นสะเทือน  

        อีกทั้ง ปชป.ต้องมุ่งเน้นนโยบายแก้ปัญหาปากท้องให้ชาวบ้านอย่างจริงจัง อาทิ การตั้งสำนักนโยบายของพรรค พร้อมดำเนินการทางการเมืองเชิงสร้างสรรค์ หยุดจุดชนวนสร้างความขัดแย้ง ทำลายล้าง หรือเล่นการเมืองใช้ปากผลักมิตรเป็นศัตรู เพื่อนำชาติไปสู่ความสามัคคีและปรองดอง   

        นอกจากได้รับความนิยมจากประชาชน ยังทำให้หยุดกระแสเลือดไหลจาก ส.ส.ที่ถูกดูด โดย พปชร. และ รปช. หมดไป เช่นเดียวกับเสียงของชาวใต้ที่เริ่มบ่นอยากปันใจไปเทคะแนนให้พรรคการเมืองอื่นๆ หลังให้โอกาสมานานแล้ว แต่ภูมิภาคล่างสุดของประเทศกลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

        ดังนั้นเมื่อมีการปลดล็อกทางการเมือง ก็หวังว่า ปชป.จะปฏิรูปพรรคอย่างแท้จริง ก็เชื่อว่าจะมีโอกาสชนะเลือกตั้ง ในทางกลับกัน หากยอมรับชะตากรรมหยุดอยู่กับที่ ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งปี 62 อาจเห็น ส.ส.ต่ำร้อย ลดลงจากเดิมเมื่อปี 54 ที่เคยได้ 159 เสียง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"