ทำไมหมีน้อย 'วินนี่ เดอะ พูห์' จึงถูกแบนในจีน?


เพิ่มเพื่อน    

      ไฉนหนังแฟนตาซีเรื่อง Christopher Robin ของดิสนีย์เกี่ยวกับหมีน้อยวินนี่ที่น่ารักจึงถูกห้ามฉายในประเทศจีน?

      ทำไมหนังอีกเรื่อง A Wrinkle In Time จึงถูกแบนก่อนหน้านี้?

      ทั้งๆ ที่หนังสองเรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองจีนหรือมีส่วนใดวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำจีนเลย

      คำตอบคือเพราะเจ้าหมีพูห์หน้าเหมือนท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมากไปหน่อย

      หรืออาจจะเป็นเพราะท่านสีจิ้นผิงหน้าคล้ายกับเจ้าหมีน้อยตัวนี้ด้วยความบังเอิญ?

      เหมือนกันจนทำให้เจ้าหมีน้อยกลายเป็น "ผู้ไม่พึงปรารถนา" ในสังคมออนไลน์จีนอย่างน่าพิศวง

      ทุกวันนี้เอ่ยชื่อ Winnie The Pooh ในสื่อของจีน ไม่ว่าจะเป็นทีวีหรือเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย จะถูกเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ของทางการจีนลบออกทันที

      จริงๆ แล้วไม่มีคำสั่งเป็นทางการหรือคำประกาศใดๆ จากเจ้าหน้าที่จีนห้ามการฉายหนังเรื่องใหม่นี้แต่อย่างใด

      แต่ในเมืองจีนนั้นเรื่องอย่างนี้ต้องตีความจากน้ำเสียงและวิธีการบอกกล่าวไปถึงสื่อให้ทำหรือไม่ให้ทำอะไรบางอย่าง

      แต่เป็นที่รู้กันในวงการต่างๆ ของประเทศจีนว่า เจ้าหมีน้อยตัวนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการแสดงความไม่พอใจท่านประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมาระยะหนึ่งแล้ว

      การเมืองจีนมีความละเอียดอ่อนและสลับซับซ้อนเพราะการแสดงออกใดๆ ที่อยู่คนละข้างกับผู้นำประเทศเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

      ใครกล้าหาญชาญชัยลุกขึ้นมาวิพากษ์รัฐบาลหรือผู้นำก็มีโอกาสถูกลงโทษด้วยวิธีการต่างๆ ที่บ่อยครั้งก็หาเหตุผลทางการไม่ได้

      ระยะหลังนี้คนจีนที่ไม่พอใจสีจิ้นผิงจึงหาทางแสดงถึงความรู้สึกต่อต้านผู้นำจีนคนนี้ด้วยการใช้เจ้าหมีพูห์นี่แหละเป็นตัวแทน

      เพราะหน้าตาของสีจิ้นผิงบังเอิญคล้ายกับเจ้าหมีน้อยนี้ และเมื่อคนจีนวิจารณ์ท่านผู้นำตรงๆ ไม่ได้ก็ใช้ตัวการ์ตูนแทน โดยหวังว่าทางการจะไม่สามารถตั้งข้อหาว่าพยายามจะบ่อนทำลายชาติ เพราะเจ้าหมีน้อยตัวนี้ดูไร้เดียงสาและน่ารักด้วยซ้ำไป

      แต่ทางการจีนจับสัญญาณเช่นนั้นได้ เมื่อเจ้าหมีพูห์ปรากฏขึ้นบ่อยๆ ในโซเชียลมีเดียในบริบทที่เป็นการเสียดสีประชดประชันท่านผู้นำ โดยเฉพาะเมื่อสีจิ้นผิงจับมือกับผู้นำต่างชาติ เจ้าหน้าที่รัฐก็จัดการ "ปิดปาก" เจ้าหมีน้อยด้วยการเซ็นเซอร์อย่างรวดเร็วฉับพลัน

      ใครพิมพ์ชื่อหรือโพสต์รูปหมีพูห์ขึ้นออนไลน์จะถูกลบออกโดยอัตโนมัติ

      อีกชื่อหนึ่งที่ถูกจับใส่บัญชีดำทำนองเดียวกันคือ John Oliver พิธีกรชื่อดังมะกันที่ล้อเลียนสีจิ้นผิงด้วยการใช้เจ้าหมีน้อยเป็นตัวประกอบ

      ผมจำได้ว่าสมัยที่เติ้งเสี่ยวผิงเรืองอำนาจในจีน การวิจารณ์ผู้นำประเทศเป็นเรื่องถูกห้ามอย่างเด็ดขาด

      ชื่อ "เสี่ยวผิง" มีเสียงคล้องกับสองคำภาษาจีนที่แปลว่า "ขวดเล็กๆ" ด้วย

      เขียนคนละคำ แต่ออกเสียงเหมือนกัน ฟังเผินๆ ก็จะมีความหมายคล้ายกัน

      ในช่วงนั้น หากใครจะวิพากษ์เติ้ง มีทางเดียวคือการแสดงออกด้วยสัญลักษณ์เหมือนกัน

      นั่นคือการเอาขวดเล็กๆ หลายๆ ขวดไปวางเรียงกันในที่สาธารณะ

      คนจีนเห็นขวดน้ำเล็กๆ เรียงกันอย่างผิดสังเกตก็จะรู้ทันทีว่านี่คือการแสดงออกเพื่อต่อต้านเติ้งเสี่ยวผิง

      ตำรวจจับมือใครดมไม่ได้ จึงต้องกวาดล้างแบบเหวี่ยงแหและเขียนโปรแกรมลบคำต้องห้ามเหล่านั้นออกไปจากระบบอินเทอร์เน็ตทั้งหลายทั้งปวง

      เพราะแม้จะเห็นคนมาวางขวดตามถนน เจ้าหน้าที่บ้านเมืองก็ไม่สามารถตั้งข้อหาคนถือขวดเล็กๆ  ที่ยืนอยู่กลางถนนได้เช่นกัน

      เป็นการเล่นเกมซ่อนหาระหว่างเสรีชนในเมืองจีนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องการปกป้องผู้นำ

      ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างไร ก็หนีไม่พ้นว่าประชาชนเขามีวิธีแสดงออกความไม่พอใจในรูปแบบต่างๆ ที่หลบหลีกข้อห้ามทางการได้เสมอ

      น่าสงสารหมีน้อยวินนี่ เดอะ พูห์ เพราะอยู่ดีๆ ก็โด่งดังในทางลบที่เมืองจีนโดยไม่รู้สาเหตุว่าตนได้ไปทำอะไรผิดในประเทศนั้นจริงๆ!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"