เมื่อลาวประกาศทบทวนนโยบาย 'หม้อไฟของอาเซียน'


เพิ่มเพื่อน    

        ท่านนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิดของ สปป.ลาว เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีวาระพิเศษ เมื่อวันที่ 6-7 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีมติ 9 ข้อเพื่อแก้ปัญหากรณี “เขื่อนแตก”

        ข่าวทางการของ สปป.ลาวบางส่วนบอกว่า

        จุดประสงค์การประชุมเพื่อรับฟังบทรายงานของคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขภัยพิบัติระดับชาติ แก้ไขภัยพิบัติเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตก ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเมืองสะหนามไช

        ในการนี้ ท่านสอนไช สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขภัยพิบัติระดับชาติ เป็นผู้อ่านรายงาน

        หลังจากนั้น ที่ประชุม ครม.ลาว ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน และมีมติกำหนดมาตรการต่างๆ ในการแก้ปัญหา 9 ข้อ

        แต่มีข้อ 4 และข้อ 6 ที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

        4.ที่ประชุม ครม.ตกลงแต่งคณะกรรมการสืบสวน-สอบสวนชุดหนึ่ง มอบหมายให้ "ท่านบุนทอง จิดมะนี" รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ

        คณะรับผิดชอบสืบสวน-สอบสวนนี้ สามารถรับเอาการช่วยเหลือด้านเทคนิค การเงิน และข่าวสารจากต่างประเทศ มาช่วยพิสูจน์ตรวจตราด้านเทคนิค ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เขื่อนแตก

        และยังสามารถเชิญตัวแทนของรัฐบาล ของประเทศที่มีบริษัทผู้ประกอบการและ "ขาหุ้น" (หุ้นส่วน) ที่จดทะเบียนอยู่มาให้คำปรึกษาหรือสังเกตการณ์ได้

        ภายหลังที่มีผลการสืบสวน-สอบสวนออกมาแล้ว จึงดำเนินการต่อไป

        6.ที่ประชุมตกลงตั้งคณะรับผิดชอบตรวจตราย้อนหลัง ทางด้านเทคนิคและคุณภาพ ในการก่อสร้างและพัฒนาเขื่อนต่างๆ ที่กำลังก่อสร้าง และก่อสร้างสำเร็จแล้วในทั่วประเทศ

        โดยมอบหมายให้ "กระทรวงพลังงานและบ่อแร่" เป็นเจ้าภาพสมทบกับกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

        ถ้าตรวจพบสิ่งผิดปกติในการออกแบบ หรือในมาตรฐานการก่อสร้าง ก็ให้มีรายงานถึงรัฐบาลเป็นแต่ละกรณี เพื่อหามาตรการปรับปรุงแก้ไข

        พร้อมกันนี้ รัฐบาลจะให้ “ยุติการพิจารณาโครงการเขื่อนใหม่ไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว” เพื่อศึกษาทบทวนเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเขื่อนไฟฟ้า ใน สปป.ลาว เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงในการดำเนินการต่อไป

        ข้อมูลจากวงนักวิเคราะห์การเมืองลาวบอกว่า ดร.บุนทอง จิดมะนี รองนายกรัฐมนตรี, ประธานองค์การตรวจสอบรัฐบาลและสมาชิกกรมการเมือ ลำดับที่ 4 ของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ได้ชื่อว่าเป็น “มือปราบคอร์รัปชัน” และทำงานด้านการตรวจสอบให้กับพรรคมาตลอด

        ข่าวชิ้นนี้เป็นการยืนยันว่ารัฐบาลลาวเอาจริงกับการกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ หลังจากเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางที่โยงกับกรณีเขื่อนแตก

        การเรียกความมั่นใจและสร้างความน่าเชื่อถือกลับฟื้นคืนมา จึงย่อมจะต้องมีลำดับความสำคัญอันดับ 1

        ตัวเลขทางการบอกว่า ทั่วประเทศลาววันนี้มีแหล่งผลิตไฟฟ้าแยกเป็นเขื่อน 53 โครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1 โครงการ มีเขื่อนอีก 47 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  คาดว่าจะเสร็จทั้งหมดในปี 2563

        แม้จะต้องทบทวนนโยบายให้ สปป.ลาวเป็น “หม้อไฟของอาเซียน” หรือเป็นแบตเตอรี่ของภูมิภาคนี้ก็จะต้องทำเพื่อให้ประชาคมสากลเห็นว่าประเทศลาวจะยึดเอามาตรฐานสากลเป็นหลักปฏิบัติ และการสอบสวนครั้งนี้จะต้องมีความโปร่งใสชัดเจน เปิดให้นานาชาติมาร่วมในการตรวจสอบเพื่อค้นหาเหตุผลของเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างรอบด้านและน่าเชื่อถือ

        ประเทศไทยซึ่งมีส่วนได้เสียกับไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนในลาวจะต้องให้ความร่วมมือกับทางการลาวอย่างเต็มที่ ไม่เพียงแต่เป็นเพราะไทยมีผลประโยชน์ร่วมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเพราะการทบทวนครั้งนี้ควรจะต้องขยายผลไปสู่โครงการเขื่อนต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงที่มีประเด็นถกแถลงกันมาช้านาน

        ไม่เพียงแต่เป็นการถกแถลงจากข้างนอกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประเด็นความขัดแย้งลึกๆ ระหว่างประเทศในย่านนี้ด้วย เพราะผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลาว, เขมร, เวียดนาม, พม่าและไทย ก็ลามไปถึงเพื่อนบ้านอย่างปฏิเสธไม่ได้

        อีกทั้งยังมีเรื่องของเขื่อนจีนที่สร้างปัญหาให้กับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างที่ยังต้องหาทางออกร่วมกันด้วยการเจรจาและเปิดอกพูดจากันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

        “วิกฤติเขื่อนลาว” ครั้งนี้จึงควรจะกลายเป็น “โอกาส” ที่ประเทศต่างๆ ในแถบนี้จะนั่งลงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตั้งกลไกของการประสานและการตรวจสอบร่วมกันเพื่อตอกย้ำความสำคัญของมาตรการความปลอดภัยและการแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นฐานของการเคารพในสิทธิของกันและกันอย่างเป็นรูปธรรม

        ยิ่งปีหน้าประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ ก็ยิ่งเป็นจังหวะดียิ่งที่ไทยเราจะเล่นบทบาทของผู้ประสานให้เกิดการหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง

        ได้เวลาแล้วที่ไทยจะใช้ “การทูตแบบรุก” เพื่อฟื้นคืนบทบาทการนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในภาวะที่มหาอำนาจสหรัฐ, จีน, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, สหภาพยุโรป, และอินเดียกำลังประลองกำลังกันในหลายๆ ด้าน เพราะแนวทางก้าวร้าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งวอชิงตัน

        ยิ่งการเมืองระดับโลกป่วนมากเพียงใด ก็ยิ่งจำเป็นที่ภูมิภาคนี้จะรวมตัวกันเพื่อเสริมสร้างพลังและอำนาจต่อรอง

        ไทยมีคุณภาพหลายประการที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในอาเซียนเพื่อสานประโยชน์กับประเทศยักษ์ๆ

        แต่เราจะสวมบทอย่างนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราจัดระเบียบในบ้านให้เรียบร้อย เรียกคืนพลังและความเป็นตัวของตัวเองกลับมาอย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อน!

        สรุปว่า สปป.ลาว เริ่มตระหนักถึงผลกระทบการสร้างเขื่อนและยุทธศาสตร์ "หม้อไฟอาเซียน".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"