ศิลปินรุ่นใหม่สร้างงานชิ้นเยี่ยมจิตรกรรมพานาโซนิค


เพิ่มเพื่อน    

ศิริพร เพ็ชรเนตร คว้ายอดเยี่ยมอันดับ 1 จากภาพ 'ลิงที่รอดชีวิต'

 

     เมื่อยุคสมัยใหม่เปลี่ยน การสร้างสรรค์ศิลปะต้องปรับตัวเช่นเดียวกัน เห็นได้จากงานจิตรกรรมร่วมสมัยในปัจจุบัน ไม่เพียงแค่ปรับเปลี่ยนเทคนิคตามยุคสมัย แต่เรื่องราวถูกนำเสนอออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง

เพื่อเผยแพร่จิตรกรรมร่วมสมัยที่โดดเด่น บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับกรมศิลปากร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า จัดพิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดภาพวาดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ภายใต้แนวคิดสร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต พร้อมกับจัดนิทรรศการแสดงผลงานผู้ที่ได้รับรางวัลจำนวน 16 ผลงาน และผลงานที่รวมจัดแสดงอีก 44 ผลงาน โดยคัดสรรจากผลงานที่ส่งเข้าประกวด 216 ชิ้น จากศิลปิน 132 คนทั่วประเทศ เพื่อจุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจ และต่อยอดงานจิตรกรรมไทยสู่ระดับสากล

      สำหรับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ได้แก่ 'ลิงที่รอดชีวิต' ผลงานของ น.ส.ศิริพร เพ็ชรเนตร กรุงเทพฯ ยอดเยี่ยมอันดับ 2 จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 'ไทยงม' ผลงานของนายอนันต์ยศ จันทร์นวล จ.นครศรีธรรมราช และ 'ตัวฉันกับความสุขที่หายไป' ผลงานของนายชมรวี สุขโสม จ.ชุมพร รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 'จริงหรือหลอก' ผลงานของนายผดุงพงษ์  สารุโณ จ.สตูล 'เหยื่อของความรุนแรง' ผลงานของนายวฤทธิ ไพศาลธิรศักดิ์ จ.สมุทรปราการ และ 'ซ้ายสังหาร' ผลงานของนายอานนท์ เลิศพูลผล จ.สุราษฎร์ธานี

 

'ไทยงม' ยอดเยี่ยมอันดับ 2 วิพากษ์สังคม  

 

      ศ.กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ประธานคณะกรรมการตัดสินผลงาน กล่าวว่า จิตรกรรมไทยนับว่าเป็นศิลปะที่มีเสน่ห์มาตั้งแต่ในอดีต มีการพัฒนาให้ภาพดูร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น อย่างภาพจัดแสดงในนิทรรศการนี้มีแนวคิดและการสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบที่ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น ผลงานลิงที่รอดชีวิต ยอดเยี่ยมอันดับ 1  ผู้วาดแสดงออกถึงความเป็นจริงทางสังคม นับเป็นปรัชญาสำคัญในการสร้างงานศิลปะปัจจุบัน โดยนำร่างลิงมาแทนคน ในภาพจะเห็นว่ามีลิง 3 ตัว กับนางอาย 1 ตัว สวมใส่เสื้อผ้าของคนมาเป็นจุดสนใจของภาพ แสดงอากัปกิริยาคล้ายคนในท่าทางต่างกัน เป็นการสร้างพลังแห่งการสะท้อนและเสียดสีสังคมอย่างลุ่มลึก นอกจากนี้ยังมีผลงานอีกไม่น้อยที่สร้างสรรค์ได้มีคุณภาพและสามารถดึงอารมณ์ร่วมผู้ชมได้

      ศิริพร เพ็ชรเนตร เจ้าของผลงาน 'ลิงที่รอดชีวิต' เล่าว่า ชื่นชอบสัตว์ป่า ปัจจุบันหลายชนิดใกล้สูญพันธุ์ โดยเฉพาะลิงแสม พบในธรรมชาติน้อยลง นำแนวคิดนี้มาสะท้อนเป็นภาพวาด ลิงในป่าน้อยลง เพราะคนในสังคมนิยมดูโชว์สัตว์ คนที่หวังหารายได้จากสัตว์ป่า ก็ต้องจับสัตว์มาฝึกและจับแต่งตัว ทั้งๆ ที่ชีวิตตามธรรมชาติควรได้ห้อยโหนต้นไม้อยู่ในป่า

      "ไม่ใช่เพียงแค่ลิงอย่างเดียวเท่านั้น สัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่มนุษย์ล่าหรือนำไปใช้ประโยชน์ควรได้รับการอนุรักษ์เช่นกัน ภาพนี้จับลิงมาใส่เสื้อผ้าให้ดูดี ใช้เทคนิคสีอะครีลิกในการวาด เกิดมุมมองใหม่ที่ทันสมัย มีอารมณ์ขันมากขึ้น" ศิริพรกล่าว     

      ศิริพรกล่าวด้วยว่า จิตรกรรมและศิลปะแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ยุคไหนจะสามารถปรับตัวและประยุกต์ให้ร่วมสมัยได้ ยิ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยเรื่องการเพนต์ การสเกตช์ภาพ ทำให้งานวาดภาพง่ายและสะดวกขึ้น ทั้งนี้ อยู่ที่เทคนิคของศิลปินแต่ละคนว่าจะนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์ในด้านใด

      นายชมรวี สุขโสม เจ้าของผลงาน ตัวฉันกับความสุขที่หายไป บอกว่า ต้องการเล่าถึงการแบกความรับผิดชอบมากมายไว้บนบ่า ตัวละครตัวใหญ่เปรียบเสมือนตัวเอง และตัวละครเล็กๆ ที่เปรียบเสมือนความรับผิดชอบในด้านต่างๆ อยากชวนเชิญประชาชนมาชมผลงานจิตรกรรมรางวัล น่าสนใจมาก

     

หนึ่งในยอดเยี่ยมอันดับ 3 'เหยื่อของความรุนแรง'

 

     ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ 'ถกทิศทางจิตรกรรมไทย ในยุคที่อะไรๆ ก็เป็นดิจิทัล' โดยอาจารย์ธีระชัย สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาศิลปกรรม ภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า การดำเนินชีวิตในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการเรียนการสอนศิลปะ แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาหรือเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วขนาดไหน ก็ต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานการวาดด้วยดินสอ การใช้มือ หรือการจดจ้องกับแบบ เพื่อให้เข้าถึงและสัมผัสไปกับสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอด ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรด้วย

 

 

      นายสุรเดช วัฒนาประดิษฐชัย ผู้เคยร่วมการประกวดภาพวาดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 18 กล่าวว่า จากการที่ตนติดตามเวทีการประกวดนี้และส่งเข้าประกวดตั้งแต่ครั้งที่ 1 สมัยแรกการวาดภาพสื่อสารแบบตรงไปตรงมา จากนั้นการวาดภาพถูกพัฒนาขึ้นมาตามยุคสมัย คนรุ่นใหม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่เสียดสีสังคมในด้านต่างๆ ออกมาได้อย่างชัดเจน มีการใช้เทคโนโลยีในสมัยใหม่รองรับการวาดภาพ ทำให้เห็นว่าศิลปะจะยังอยู่ไปกับทุกยุคสมัย

      ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการภาพวาดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 20 ได้แล้วตั้งแต่วันนี้-29 สิงหาคม 2561 เวลา 09.00-16.00 น. ทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"