ท่องเที่ยวภาคอีสานหน้าฝน ชุมชนน่ารัก“สุรินทร์-บุรีรัมย์”


เพิ่มเพื่อน    

 

 

จังหวัดสุรินทร์ มีมากกว่าความเป็นเมืองช้างและผ้าไหมงาม ขณะที่เมืองบุรีรัมย์ ไม่ได้มีแต่เรื่องฟุตบอล   สนามแข่งรถ และปราสาทหินพนมรุ้งเท่านั้น เพราะสองเมืองรอง หรือ Go Local ในดินแดนอีสานใต้แห่งนี้ ยังมีเสน่ห์ของการท่องเที่ยวหมู่บ้านชุมชนที่ให้ทั้งความอบอุ่นและเป็นมิตร ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ ผ่านกิจกรรม “เที่ยวอีสานหน้าฝนกับชุมชนน่ารัก@สุรินทร์-บุรีรัมย์” ที่กำลังจัดขึ้นในขณะนี้

นางสาวบุณยานุช วรรณยิ่ง ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ รับผิดชอบพื้นที่สุรินทร์และบุรีรัมย์ กล่าวว่า ททท.สำนักงานสุรินทร์กำหนดจัดกิจกรรม “เที่ยวอีสานหน้าฝนกับชุมชนน่ารัก@สุรินทร์-บุรีรัมย์” ตั้งแต่บัดนี้ - 30 กันยายน 2561 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองรองในภาคอีสานในช่วงหน้าฝนของจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดบุรีรัมย์ในมุมมองใหม่ ให้นักท่องเที่ยวได้เดินทางมาสัมผัสวิถีชุมชนที่มีวัฒนธรรม ประเพณี และมนต์เสน่ห์ของชาวบ้านในการต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มที่จริงใจ และนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพจากผู้ผลิตโดยตรง โดยมีชุมชนร่วมกิจกรรม

 ชุมชนท่องเที่ยวดังกล่าวมีหลายแห่ง เช่น ในจังหวัดสุรินทร์ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” อำเภอท่าตูม   เป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวเดินชมวิถีความเป็นอยู่ได้อย่างปลอดภัย สัมผัสความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับช้าง รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลางทุกครัวเรือนเลี้ยงช้าง และถือว่าเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความผูกพันกันตั้งแต่เกิดจนตาย หมู่บ้านช้างบ้านตากลางถือว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก

 “หมู่บ้านทอผ้าไหมโบราณบ้านท่าสว่าง” อำเภอเมือง เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเรื่องงานหัตถกรรมไทย เพราะงานทอผ้าไหมของบ้านท่าสว่างมีการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อน งดงาม และมีความเชื่อความศรัทธาร่วมอยู่ มีการผสมผสานงานออกแบบลวดลายและการทอแบบราชสำนักกับเทคนิคการทอผ้าแบบพื้นบ้าน จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ผลงานที่โดดเด่นของหมู่บ้านทอผ้าไหมโบราณบ้านท่าสว่าง คือได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้ทอผ้าสำหรับตัดเสื้อผู้นำและผ้าคลุมไหล่สำหรับคู่สมรสผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาร่วมประชุมผู้นำเอเปกเมื่อปลายปี 2546 จนเป็นที่รู้จักในชื่อ "หมู่บ้านทอผ้าเอเปก" และได้รับรางวัล OTOP ระดับ 5 ดาว ของประเทศ

หมู่บ้านต่อมา คือ “บ้านสวาย” ตำบลสวาย เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตผ้าไหมสวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ จุดเด่นอยู่ที่กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อน มีความยาก ต้องใช้ความสามารถและทักษะความชํานาญในการทอ โดยเฉพาะการทอผ้ามัดหมี่พร้อมยกดอกไปในตัว ทําให้ผ้าไหมที่ได้เป็นผ้าเนื้อแน่น และสมาชิกของชุมชนกว่า 70% ยังคงสืบสานวัฒนธรรมการทอผ้า และรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมสตรีทอผ้าไหมบ้านสวายขึ้น เพื่อพัฒนางานผ้าทอต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

                ขณะที่ “หมู่บ้านเครื่องเงินเขวาสินรินทร์” อำเภอเขวาสินรินทร์ มีชื่อเสียงในการทอผ้าไหมพื้นเมืองที่เรียกว่า ผ้าโฮล และโดดเด่นเรื่องการทำเครื่องเงินโบราณ มีการผลิตลูกประคำเงินที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน เรียกกันว่า "ลูกปะเกือม"  โดยนำแผ่นเงินมาตีเป็นลูกกลมหรือทำเป็นแบบรีๆ เกลี้ยงๆ แล้วนำมาลงยาและลงลายต่างๆ  กลายเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม ลายที่ขึ้นชื่อได้แก่ ลายไข่แมงดา ลายดอกพิกุล ลายดอกทานตะวัน นำไปใช้ทำกำไล เข็มขัด สร้อยคอ ต่างหู ได้รับความนิยมจากบรรดานักท่องเที่ยวสุภาพสตรีอย่างมาก

ส่วนคนสนใจเรื่องของการเลี้ยงไหม “หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบ้านพญาราม” อำเภอเมือง โดดเด่นเรื่องการเลี้ยงไหมพื้นบ้าน มีการอนุรักษ์งานด้านหม่อนไหม มีผ้าไหมที่สวยงามและมีคุณภาพ และกรมหม่อนไหม  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยกให้ชุมชนนี้เป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวแหล่งวัฒนธรรมเชิงเกษตรด้านหม่อนไหมแห่งที่ 3 ของประเทศ

ข้ามมาที่หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชนที่จังหวัดบุรีรัมย์   เริ่มต้นกันที่ชุมชนน่ารัก “บ้านสนวนนอก” อำเภอห้วยราช ชุมชนโบราณที่ดำรงวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ใช้ภาษาพื้นถิ่นเขมรและสืบสานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาจนปัจจุบัน และมีผ้าไหมหางกระรอก ลายดั้งเดิมที่ตกทอดกันมาแต่โบราณ ที่มีความสวยงามและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

                ในหมู่บ้านนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมและร่วมกิจกรรมกับชุมชน โดยมีมัคคุเทศก์ของหมู่บ้านพาชมกระบวนการต่างๆ ที่กว่าจะมาเป็นผ้าไหมหางกระรอกได้ นับตั้งแต่การปลูกชำต้นหม่อน การเก็บใบหม่อน การเลี้ยงไหม ให้อาหารตัวไหม สาวไหมจากดักแด้ ฟอกกาวไหมออกจากเส้นไหม การเตรียมเส้นไหมเพื่อมัดหมี่ การย้อมสีธรรมชาติ เรียนรู้กวิธีการมัดหมี่ การทอผ้าไหม และการสร้างสรรค์ลวดลายต่างๆ บนผืนผ้า         

“ผ้าภูอัคนี บ้านเจริญสุข” อำเภอเฉลิมพระเกียรติ หมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณภูเขาไฟเขาอังคาร ซึ่งนอกจากจะมีผืนดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุลาวาภูเขาไฟที่เคยปะทุออกมาในอดีต เหมาะแก่การเพาะปลูกอย่างมากแล้ว ชาวบ้านบริเวณนี้ยังคิดค้นวิธีการนําดินภูเขาไฟซึ่งเป็นวัตถุดิบหาได้ง่ายๆ ใกล้ๆ บ้านมาประยุกต์ใช้ในการย้อมผ้าจนเกิดเป็นผืนผ้าสีสันธรรมชาติอันสวยงาม และมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เพราะมีสีสันเหมือนกับโทนสีของเขาพนมรุ้ง อีกทั้งบ้านเจริญสุขได้รับรางวัลหมู่บ้าน OVC (OTOP Village Champion) ประเภทหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นถิ่นผ่านผืนผ้า “ภูอัคนี” ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาอันน่าภาคภูมิใจ

 ต่อมาคือ “บ้านโคกเมือง” อำเภอประโคนชัย เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ปรากฏร่องรอยอารยธรรมขอมอันรุ่งเรืองมาแต่อดีต โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สําคัญ คือปราสาทเมืองต่ำ ศาสนสถานศิลปะขอมแบบบาปวนที่มีอายุมากกว่า 1,400 ปี เป็นปราสาทหินอารยธรรมขอมที่มีขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน

บ้านโคกเมือง ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สะท้อนเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม ผ่านงานศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ของชุมชน อาทิ ผ้าไหมทอลายผักกูด หัตถกรรมชั้นดี ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณและเป็นเอกลักษณ์ของบ้านโคกเมือง เนื่องจากเป็นลายผ้าที่นำมาจากศิลปะบนเสาซุ้มประตูของปราสาทเมืองต่ำ

ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านนาโพธิ์ “ผ้าซิ่นตีนแดง” อำเภอพุทไธสง ผ้าไหมมัดหมี่ของที่นี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์เลื่องชื่อที่ได้รับการกล่าวขาน โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่  ตีนแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ผ้าซิ่นตีนแดง” หรือ “ซิ่นหมี่รวด” ถือเป็นผ้าเอกลักษณ์พื้นถิ่นของชาวนาโพธิ์   โดยหัวซิ่นและตีนซิ่นจะย้อมเป็นสีแดง ตรงกลางดำ มัดหมี่เหลือง แดง ขาว ปนสีเขียวบ้าง และการมัดหมี่ซิ่นตีนแดงนี้ถือว่ามีความซับซ้อนยุ่งยากกว่าการทำมัดหมี่ชนิดอื่นจึงไม่ค่อยมีคนทำ

                ปิดท้ายที่ “ชุมชนบ้านหนองตาไก้” อำเภอนางรอง  หมู่บ้านขนาดเล็ก ประกอบด้วยบ้านหนองตาไก้และหนองตาไก้น้อย ชาวบ้านมักเรียกตัวเองว่า “ไทยนางรอง ” เป็นชาวไทยเชื้อสายลาวที่ย้ายมาจากจังหวัดศรีสะเกษ ดำรงชีวิตเรียบง่าย สืบทอดการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมและทอผ้า สามารถเยี่ยมชมวิถีชีวิตและการผลิตผ้าไหมตั้งแต่ขั้นแรกไปจนถึงการสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าได้ครบวงจร ภายในหมู่บ้านมีมัคคุเทศก์ การแสดงทางวัฒนธรรมและโฮมสเตย์ไว้ให้บริการ      

                ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานสุรินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมชมหมู่บ้านในชุมชนต่างๆ ผ่านกิจกรรม “เที่ยวอีสานหน้าฝนกับชุมชนน่ารัก@สุรินทร์-บุรีรัมย์” ยังสามารถขอรับของที่ระลึกเป็นกระบอกน้ำน้องสุขใจเพื่อลดโลกร้อน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีกติกาดังนี้คือ 1.เดินทางท่องเที่ยวตามชุมชนที่กำหนดไว้และขอรับคู่มือได้ที่ ททท.สุรินทร์ และททท.สำนักงานในประเทศทุกแห่ง 2.ถ่ายรูปกับสถานที่ท่องเที่ยวในชุมชนที่เป็นจุดเด่น และในภาพต้องมีท่านอยู่ในภาพ 3.โพสต์รูปภาพลง Facebook พร้อมกับเปิดสาธารณะ และติด #เที่ยวอีสานหน้าฝนสุรินทร์บุรีรัมย์ #ททท_สำนักงานสุรินทร์ และ 4.ผู้ส่งสามารถส่งได้ 1 ภาพต่อ 1 สิทธิ์เท่านั้น โดยผู้โชคดีจะได้รับของที่ระลึกกระบอกน้ำน้องสุขใจ จำนวน 1 ใบ และ ททท.สุรินทร์จะติดต่อกลับ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นรูปภาพที่ท่านโพสต์จำนวน 400 ท่านแรกเท่านั้น

ทั้งนี้ ขอสงวนสิทธิ์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดสุรินทร์-จังหวัดบุรีรัม“เที่ยวอีสานหน้าฝนกับชุมชนน่ารัก @สุรินทร์-บุรีรัมย์” เท่านั้น

                ผู้สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุรินทร์ (รับผิดชอบพื้นที่ สุรินทร์-บุรีรัมย์ ) 355/3-6 ถนนเทศบาล 1 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โทร. 0-4451-4447-8 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เวลา 08.30-16.30 น. หรืออีเมล [email protected]

 

สรณะ  รายงาน

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"