จีน 5.0 กับ 'สีโคโนมิกส์'


เพิ่มเพื่อน    

    ผมได้รับหนังสือ "China 5.0 สีจิ้นผิง: เศรษฐกิจยุคใหม่และแผนการใหญ่ AI" เขียนโดยอาจารย์อาร์ม ตั้งนิรันดรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
    แค่พาดหัวผมก็ต้องรีบหยิบอ่านแล้ว ยิ่งเห็นเป็นการรวมบทความเรื่องสำคัญๆ เกี่ยวกับจีน ผมยิ่งต้องนั่งลงอ่านเกือบจะทันที
    เห็นชื่อคนเขียน ผมก็รู้ว่าเป็นข้อมูลเกี่ยวกับจีนที่ทันสมัย เพราะผมเคยเชิญอาจารย์อาร์มมาวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจจีนเป็นระยะๆ 
     ทาง Suthichai Live ของเฟซบุ๊กไลฟ์ จึงรู้ว่าท่านเกาะติดเรื่องเมืองจีนอย่างลึกซึ้งและที่สำคัญคือวิเคราะห์รอบด้าน
    อาจารย์อาร์มเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่พยายามนำวิชาการมาเล่าเรื่องให้คนทั่วไปฟังรู้เรื่อง
    ท่านเรียนปริญญาตรีในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปริญญาโทด้านกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศจาก Harvard Law School และปริญญาเอกด้านกฎหมายและการพัฒนาจาก Stanford  Law School
    อาจารย์อาร์มเคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 
    ทุกวันนี้อาจารย์กลับมาประจำคณะนิติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    โดยทั่วไปแล้ว นักวิชาการที่ "เชี่ยวชาญ" ประเทศใดมักถูกมองว่า "เชียร์" หรือ "ต่อต้าน" ประเทศนั้นๆ 
    แต่อาจารย์อาร์มดำรงไว้ซึ่งความเป็น "นักสังเกตการณ์" และ "นักพิเคราะห์" ที่เก็บข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียด ชี้ให้เห็นถึงทั้งด้านบวกและลบ ด้านน่าชื่นชมและน่าวิพากษ์ ทำให้เห็นภาพของจีนวันนี้ชัดเจนขึ้น แม้จะฟันธงในทุกประเด็นไม่ได้เพราะทุกอย่างมีมุมมองได้มากกว่าหนึ่งแน่นอน
     แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้การติดตามข่าวคราวจากเมืองจีนสนุกและได้สาระ
    พูดง่ายๆ คือถ้าฟังและอ่านสิ่งที่อาจารย์อาร์มนำเสนอจะ "รู้ทันจีน"
    การ "รู้ทันจีน" เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดในจังหวะที่ประเทศจีนกำลังผงาดในเวทีโลก และภายใต้การนำของสีจิ้นผิงซึ่งเป็นรุ่นที่ 5 จีนได้ปรับบทบาทในเวทีระหว่างประเทศได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
    ทุกบทในหนังสือเล่มนี้สะท้อนมุมมองที่ให้ความรู้และแนววิเคราะห์ที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงในจีนและในเวทีสากล ไม่ยึดหลักทฤษฎีแบบนักวิชาการปกติอื่นๆ
    ตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์อาร์มบอกว่า
    "ข่าวตะวันตกมักเปรียบเทียบสีจิ้นผิงกับเหมาเจ๋อตุง แต่สีจิ้นผิงไม่ใช่เหมาเจ๋อตุง หลายคนกลัวว่าถ้าสีจิ้นผิงซึ่งบัดนี้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเกิดดำเนินนโยบายผิดพลาดแบบเหมาเจ๋อตุง ประเทศจีนคงถึงคราวพังแน่ แต่จนบัดนี้ สีจิ้นผิงยังไม่ได้ดำเนินนโยบายอะไรที่ผิดพลาดร้ายแรงเลย ตรงกันข้าม นโยบายของสีจิ้นผิงล้วนเป็นนโยบายกระแสหลัก สีจิ้นผิงยังคงเดินหน้าเศรษฐกิจกลไกตลาดของจีน (ไม่มีทีท่าจะบ้ากลับไปเศรษฐกิจคอมมูนแบบเหมา และยังเดินหน้าพาจีนเข้าสู่สมัยใหม่ ไม่มีทีท่าจะบ้ากลับไปปฏิวัติวัฒนธรรมแบบเหมา)"
    อีกบทหนึ่งที่ถามว่าคนจีนมองสีจิ้นผิงอย่างไร อาจารย์อาร์มวิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในประเด็นนี้คนจีนอาจแบ่งได้เป็น 4 ประเภท คือ
    1.พวกเสี่ยวหยาง ไม่แคร์ เพราะการเมืองจีนเป็นเรื่องไกลตัว
    2.พวกเสี่ยวฮุ่ย อึดอัด เพราะสังคมจีนเป็นภาพมายา
    3.พวกเสี่ยวฟ่าน รับได้ เพราะระบบจีนเหมาะกับสังคมจีน
    4.พวกเสี่ยวปิง รักเลย เพราะชอบใจท่านประธานสี
    ภายใต้หัวข้อ "40 ปีของการปฏิรูป จีนทำได้อย่างไร" อาจารย์อาร์มอ้างความเห็นของศาสตราจารย์เหยาหยางแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นักเศรษฐศาสตร์มีชื่อเสียงของจีนที่ให้เหตุผลไว้สามข้อ คือ
    1.รัฐบาลจีนเป็นนักปฏิบัติและนักทดลอง ไม่บ้าทฤษฎีและลัทธิความเชื่อ
    2.จีนตอนเริ่มต้นพัฒนายังไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ขัดขวาง และ
    3.การกระจายอำนาจการคลังให้รัฐบาลท้องถิ่น
    แต่อาจารย์อาร์มก็เตือนว่าหากจะเรียนรู้จากจีนหรือจะทำอย่างจีน "ก็อยากขอเตือนให้ดูให้ลึกซึ้ง  อย่าเลียนแบบผิวเผิน พอเห็นเรานั่งวางแผนยุทธศาสตร์ฉบับแล้วฉบับเล่า ก็ต้องถามด้วยว่าเราเป็นนักปฏิบัติ นักทดลอง และนักปรับเปลี่ยนแก้ไขอย่างยืดหยุ่นหรือไม่ พอเห็นเราพูดเช้าพูดค่ำว่าจะปฏิรูป ก็ต้องถามต่อว่าเราจะรับมือกลุ่มผลประโยชน์อย่างไร และพอเห็นหลายพรรคมีนโยบายจะกระจายอำนาจเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็อดถามไม่ได้ว่าจะกล้ากระจายระบบการคลังและการใช้จ่ายงบประมาณด้วยหรือไม่"
    หัวข้ออื่นๆ ที่น่าติดตามไม่น้อยไปกว่าเรื่องที่ผมยกมาเล่าให้ฟัง เช่น "ศาสตร์และศิลป์ของสีโคโนมิกส์" หรือ "ยุทธศาสตร์ One Belt One Road" กับ "แผนการใหญ่ AI 2030 เมื่อหุ่นยนต์กุมอนาคตจีน"  
    แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ "บทส่งท้าย: จีน vs สหรัฐฯ ใครครองอนาคต?" 
    จะได้นำมาวิเคราะห์กันต่อไปในวันพรุ่งนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"