ลมแรง:จะสร้างกำแพง หรือกังหันลม?


เพิ่มเพื่อน    

    อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่ง คุณวิบูลย์ คูสกุล เสนอแนวคิดว่าด้วยความสัมพันธ์ไทย-จีน
    ในคำปราศรัยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้น่าสนใจมาก
    ผมได้นำเสนอบางส่วนในคอลัมน์นี้ผ่านมา 2 วัน วันนี้ยังมีประเด็นที่ควรแก่การเล่าสู่กันฟังเพื่อเป็น “อาหารสมอง” ให้กับคนไทยและคนจีนได้ตรึกตรองร่วมกัน
    ท่านบอกตอนหนึ่งว่า ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย ในที่สุดแล้ว การริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหมทางทะเล ศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative : BRI) นั้น พาดผ่านมาถึงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหากพิจารณาถึงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยที่เป็นศูนย์กลาง AEC สู่ภาคพื้นอาเซียน นโยบาย Go Global หรือเดินออกสู่ภายนอกของจีนสู่ประเทศอาเซียนกลุ่มคาบสมุทรและหมู่เกาะก็ต้องผ่านประเทศไทย 
    ท่านทูตย้ำว่า โจทย์ใหญ่ของไทยคือ เมื่อจีนมี BRI และโดยความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ของไทยเราแล้ว เราจะวางตัวหรือกำหนดท่าทีอย่างไรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 
    “คนไทยบางส่วนกล่าวว่า ถ้าไปดูในยุทธศาสตร์ BRI ของจีนแล้ว ไม่มีส่วนใดเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ความจริงแล้ว BRI นั้น เป็นทั้งความริเริ่มที่เป็นแผนรวมโครงการและกรอบความคิดที่ยืดหยุ่นพอ อยู่ที่ว่าเราจะสร้างมูลค่าเพิ่มของตัวเราเพื่อกำหนดนโยบายให้เกิดการเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระหว่างกันได้อย่างไร เมื่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศยุทธศาสตร์ BRI ออกมาแล้ว หลายประเทศบอกว่าลมจีนกำลังพัดมา เช่นเดียวกับกระแสในประเทศไทยเวลานี้ ก็พูดกันว่าอิทธิพลจีนกำลังเข้ามาแรง ต้องระวัง ซึ่งก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีส่วนจริง...”
    ท่านทูตวิบูลย์ตั้งคำถามว่า ยามที่ลมพัดมานั้นมี 2 แนวทางที่เราทำได้ คือ สร้างกำแพงกั้น หรือจะสร้างกังหันกางใบรับลม?
    ท่านตอบว่า “แน่นอนประเทศไทยควรต้องดำเนินการอย่างหลัง จึงอยู่ที่ว่าด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่เรามี ไทยจะวางตัวหรือกำหนดท่าทีอย่างไร เพื่อใช้ BRI มาสนับสนุนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของไทย”
    ทูตวิบูลย์บอกว่า ในส่วนของจีน โครงการใดๆ ก็ตามที่มีมาภายใต้ BRI การตกลงร่วมกับรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่การเห็นประโยชน์และยอมรับจากภาคประชาชนบนพื้นฐานการเห็นความจำเป็นและศักยภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ก็มีความสำคัญและพิสูจน์มาหลายกรณีแล้วว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณาอย่างครอบคลุมและจริงจัง 
    ในความเป็นจริง การยอมรับของภาคประชาสังคมก็เกิดจากการที่ภาคส่วนต่างๆ เห็นถึงความจำเป็นและศักยภาพทางเศรษฐกิจว่าสามารถพัฒนาเป็นประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริงได้อย่างไร
    ที่ผ่านมาปัญหาลักษณะดังกล่าวเริ่มสะท้อนออกมามากขึ้นในโครงการร่วมมือของจีนกับบางประเทศ ข้าพเจ้าจึงหวังว่าข้อริเริ่ม BRI กับการพัฒนาเศรษฐกิจด้านตะวันออกภายใต้ EEC หรือยุทธศาสตร์นำประเทศไทยสู่ 4.0 จะหาจุดประสานประโยชน์ไทย-จีนในส่วนนี้ให้ลงตัวได้ 
    คุณวิบูลย์บอกว่า เริ่มมีบางโครงการนำร่องเป็นตัวอย่าง 
    เมื่อปลายปีที่แล้วโรงงานผลิตรถยนต์ยี่ห้อ MG จากเซี่ยงไฮ้ร่วมกับภาคเอกชนไทยลงทุนสร้างฐานการผลิตรถยนต์ภูมิภาคขนาดใหญ่ เพื่อขายและส่งออกไปประเทศที่สาม หรือกรณีการจัดเป็น Consortium ความร่วมมือที่ไทยจีนร่วมกับประเทศที่สาม บุกเบิกโครงการร่วมกันใน EEC 
    เป็นที่คาดหวังกันว่า รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่นับเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้เริ่มก่อสร้าง ช่วงจากนครราชสีมามากรุงเทพฯ แล้วนั้น เพื่อให้เกิดมูลค่าสูงสุดอย่างแท้จริงในการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมทั้งตามข้อริเริ่ม BRI หรือการเชื่อมรถไฟความเร็วสูงในส่วนของ EEC ที่จะเชื่อมไร้รอยต่อ 3 สนามบินหลักของไทย คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา ด้วยระดับความเร็ว 250 กม./ชั่วโมง และรางมาตรฐานขนาดกว้าง 1.435 เมตรเท่ากันนั้น     
    ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลประการใด ก็ย่อมต้องเป็นที่คาดหวังว่าจะต้องมีการเชื่อมต่อหรือเผื่อการเชื่อมต่อระหว่างกันในส่วนนี้ จึงจะนับเป็นมูลค่าเพิ่มและประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจไทย-จีน และสอดรับกับยุทธศาสตร์ Asian Connectivity ด้วยอย่างแท้จริง
    ในโครงการรถไฟความเร็วสูง EEC เชื่อม 3 สนามบิน ที่จะเป็นการลงทุนในรูปแบบ PPP ซึ่งหมายถึงให้เอกชนเข้ารับความเสี่ยงด้านการลงทุนแลกกับผลตอบแทนที่ระบุให้นั้น เป็นที่น่ายินดีว่ามีผู้ประกอบการไทย รวมทั้งกลุ่มประเทศต่างๆ ให้ความสนใจที่จะร่วมประมูลจำนวนมาก รวมทั้งบรรษัทรถไฟความเร็วสูงจากจีน 
    “ผมหวังในส่วนนี้ว่า หากผู้ประกอบการจากจีนประมูลโครงการดังกล่าวได้ และสามารถนำเทคโนโลยีรถความเร็วสูงที่ล้ำหน้าที่สุดของจีนมาปรับใช้ในโครงการนี้ ก็น่าจะเป็นความร่วมมือที่ Win-Win ที่สำคัญระหว่างไทย-จีน เพราะความสำเร็จในโครงการหากได้รับการยอมรับจากประชาชนก็ย่อมจะเป็นรูปแบบความร่วมมือให้กับจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องการทูตรถไฟความเร็วสูงที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญ เป็นข้อพิสูจน์อีกครั้งให้เห็นความเป็นไปได้ของการพัฒนาความร่วมมือที่ถือประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับจีน ที่แม้ในปัจจุบันรูปแบบจะแปรเปลี่ยนไป แต่เนื้อหาคือการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์ระหว่างกันยังเป็นเช่นเดิม”
    ผมอ่านคำปราศรัยของท่านทูตวิบูลย์แล้วก็สรุปได้ว่า
    การจะมีความสัมพันธ์แบบ win-win จะต้องอยู่ในพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน ซึ่งก็มาจากความจริงใจ และแน่นอนต้องเคารพในความเป็นตัวของตัวเองของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างรอบด้านด้วย!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"